xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่ภูกุ้มข้าว และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ในเจดีย์เจ็ดกษัตริย์วัดเวฬุวัน  อำเภอสหัสขันธ์  จังหวัดกาฬสินธุ์  วันที่  9  ธันวาคม  2551
กาฬสินธุ์ - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่ภูกุ้มข้าว และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในเจดีย์เจ็ดกษัตริย์วัดเวฬุวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์


รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (9 ธ.ค.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งเป็นสถานที่แสดง ศึกษา ค้นคว้า วิจัยไดโนเสาร์ และซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและพสกนิกรรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปเป็นองค์ประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่เจดีย์เจ็ดกษัตริย์ วัดเวฬุวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกจุดหนึ่งด้วย

พิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ แหล่งศึกษาค้นคว้าและแสดงเกี่ยวกับไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มูลค่าการก่อสร้างกว่า 382 ล้านบาท และมีความพร้อมแล้วที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้เข้าชมอย่างเป็นทางการ

นายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลุมขุดค้นซากฟอสซิสไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าการก่อสร้างถึง 382 ล้านบาท ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปลายปี 2550 ได้รับความสนใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

กรมทรัพยากรธรณี และจ.กาฬสินธุ์ ได้กำหนดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธ.ค. 2551 โดยได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า ประวัติความเป็นมาของหลุมขุดค้นซากฟอสซิสไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์สิรินธรว่า ปี 2537 พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าวจำนวนมาก และเริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบโดยคณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณีตั้งแต่ปลายปี 2537 จนได้ขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์กว่า 700 ชิ้น รวมทั้งซากไดโนเสาร์ขนาดใหญ่พันธ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ในสภาพเกือบสมบูรณ์

หลังจากนั้น กรมทรัพยากรธรณีได้จัดสร้างอาคารวิจัยไดโนเสาร์ขึ้น ที่บริเวณใกล้หลุมขุดค้นเมื่อปี 2540 เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะกระดูกไดโนเสาร์ซึ่งพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกระดูกขนาดใหญ่ไม่สะดวกที่จะย้ายไปศึกษาวิจัยที่กรุงเทพฯ จึงสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ขึ้นบนไหล่เขา เพื่ออนุรักษ์ซากไดโนเสาร์บริเวณวัดสักกะวัน

ปี 2543 กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ และจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับธรณีวิทยา ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นิทรรศการสร้างเสร็จในปี 2544 เปิดให้เข้าชมในปี 2550 โดยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร”

นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผอ.พิพิธภัณฑ์สิรินธร กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์สิรินธรตั้งอยู่บนพื้นที่ 333 ไร่ ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 30 กม.อาคารพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่ภายในขนาด 8,800 ตารางเมตร และพื้นที่นอกขนาด 3,165 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 382 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวเข้าชมแล้วราว 450,000 คน พิพิธภัณฑ์สิรินธรมีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ ด้านงานจัดนิทรรศการ จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี และซากดึกดำบรรพ์ ในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย 9 โซน

เช่น โซนที่ 1 การกำเนิดจักรวาลและโลก,โซนที่ 2 การกำเนิดสิ่งมีชีวิต, โซนที่ 3 ยุคของสิ่งมีชีวิตโบราณ, โซนที่ 4 ยุคของไดโนเสาร์, โซนที่ 5 วิถีชีวิตของไดโนเสาร์, โซนที่ 6 การวิจัยและคืนชีวิตไดโนเสาร์, โซนที่ 7 การวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, โซนที่ 8 การวิวัฒนาการของมนุษย์ และโซนที่ 9 จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ผลงานวิจัย ข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบใหม่

ด้านงานกิจกรรมและบริการ พิพิธภัณฑ์มีการจัดค่ายอบรม สัมมนาและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเผยแพร่ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์และธรณีวิทยาให้บริการด้านอาคารสถานที่ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมอบรมสัมมนา ห้องอาหาร บ้านพัก และด้านงานศึกษาวิจัย ทำการสำรวจศึกษาวิจัยและงานอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน และเป็นสถานที่ใช้ศึกษา ค้นคว้าของนักวิชาการจากทั่วโลก

กำลังโหลดความคิดเห็น