xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มคัดค้านท่อก๊าซจะนะเฮศาลยกฟ้องคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องคดีพิพาท ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา กับกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซ ซึ่งมีการเผชิญหน้าและทำร้ายร่างกาย จนนำไปสู่การฟ้องร้องในที่สุด โดยจำเลยเป็นเยาวชน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมพฤติกรรมจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี

วันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 09.00 น.ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสงขลา มีหมายนัด นายภูวิช โต๊ะหลี เยาวชนกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดย นายภูวิช โต๊ะหลี เดินทางมาศาลพร้อมด้วย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ จากสภาทนายความ และชาวบ้านกลุ่มคัดค้านประมาณ 50 คน เดินทางถึงศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

คดีนี้เป็นคดีระหว่างพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จ.สงขลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูวิส โต๊ะหลี ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเสรี ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพกษาไม่เห็นพ้องคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสงขลา ได้พิพากษาควรปรับ 100 บาท รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 16,100 บาท พิเคราะห์รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน ความประพฤติด้านอื่นไม่ปรากฏข้อเสียหายมากนัก ผู้ปกครองยังห่วงใยจำเลย ประกอบกับจำเลยได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์คดีนี้ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมพฤติกรรมจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี

เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 คราวเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ส่วนหน้าดูแลความปลอดภัยให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ประจำตำบลตลิ่งชัน (ชุด ฉก.) ใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 นาย สลายกลุ่มชาวบ้าน และทุบตี นายภูวิส ซึ่งเป็นเยาวชนจนสลบเพื่อแย่งชิงกล้องวิดีโอ และจับกุมดำเนินคดี เนื่องจาก นายภูวิส บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจดังกล่าวใช้กระบองไล่ทุบตีชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน บริเวณหน้ามัสยิดลานหอยเสียบ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อคราวเจ้าหน้าที่บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (ทีทีเอ็ม) ลงสำรวจลำรางสาธารณประโยชน์เพื่อนำน้ำไปใช้ในโรงแยกก๊าซ

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คือ นายภูวิส โต๊ะหลี คดีวินิจฉัยว่า จำเลยทำความผิดหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ก็มีประจักษ์พยาน คือ เจ้าหน้าที่โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ 6 คน ที่อยู่ในรถยนต์กระบะ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า มีชายวัยรุ่น 5-6 คน บางคนใช้ผ้าคลุมศีรษะ และปากบางคนถือมีดสปาต้า บางคนถือท่อนไม้ จากนั้นมีคนทยอยมาสมทบ 30-40 คน ต่อมาตำรวจส่งกำลังมาสมทบยกท่อนไม้และกิ่งไม้ ที่กีดขวางรถจนรถสามารถผ่านไปได้

หลังเกิดเหตุตำรวจจับกุมผู้ต้องหา 3 คน จำเลยเป็นชายวัยรุ่นที่ถือไม้ และโจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความในทำนองเดียวกัน และ จ.ส.ต.วาสนา ช่างแก้ และมี ร.ต.อ.อธิชัย สมบูรณ์เบิกความว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพยานเดินนำหน้าตำรวจ ใช้โทรโข่งเจรจาขอให้ชาวบ้านเปิดทางแต่ไม่รับความร่วมมือ มี นายซานาฝี เข้ามาลักษณะข่มขู่ มีชาวบ้าน 20 คน โดยมีจำเลยอยู่ด้วย ขณะนั้นไม่แน่ใจว่าจำเลยถือกล้องวิดีโอหรือไม่ ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือและเนื่องจาก นายซานาฝี ยืนขวาง ตนจึงสั่งตำรวจรื้อสิ่งกีดขวาง จึงเกิดการชุลมุนวุ่นวาย แม้พยานโจทก์ยืนยันตรงกันว่าจำเลยเป็นคนถือไม้ แต่กลับระบุพฤติกรรมของบุคคลที่อ้างว่าเป็นจำเลยในขณะเกิดเหตุแตกต่างกันกล่าวคือ

นายวิจิตร จิตวิบูลย์ พยานที่อยู่ในรถยนต์กระบะตอบคำถามค้าน ว่า คนที่ถือไม้ไม่ใช่จำเลย แต่ นายจรัล อุดมศิลป์ กลับเบิกความว่าคนที่พยานจำได้ คือ คนที่เข้าไปคุยกับนายวิจิตร และนายดำรัส ทิพย์นาวา เบิกความว่า จำเลยอยู่ในสองคนแรกที่เข้าไปเคาะกระจกเท่ากับว่าเป็นคนที่เข้าไปคุยกับนายวิจิตร ขณะที่พยานคนอื่นให้ปากคำว่าจำเลยไม่มีอะไรปิดหน้า

นายเดช สาเม๊าะ กลับเบิกความค้านว่า คนที่เข้าไปคุยกับตำรวจใช้ผ้าปิดหน้า ส่วนพยานในรถยนต์กระบะของตำรวจ แม้จะระบุทำนองเดียวกันว่า จำเลยคือคนถือไม้ที่เข้าไปพูดกับ จ.ส.ต.วาสนา และจำเลยไม่มีอะไรปิดบังใบหน้า แต่ ส.ต.อ.สมศักดิ์ ลาภวงศ์ กลับระบุว่าจำไม่ได้แน่ชัดว่าคน 5-6 คนมีคนไม่ปิดหน้าบางหรือไม่ จำเลยใช้ผ้าคาดปากแต่ไม่แน่ใจว่าใช้ผ้าคลุมศีรษะหรือไม่

การที่พยานโจทก์ให้ปากคำเบิกความถึงลักษณะบุคคลในขณะเกิดเหตุ มีข้อสาระสำคัญแตกต่างกัน ประกอบกับพยานทุกปาก ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่เข้ามาในครั้งแรกมีผู้ที่ใช้ผ้าคลุมศีรษะอยู่ด้วย เมื่อมีพยานโจทก์ คือ นายเดช ส.ต.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า คนที่เข้าไปคุยกับตำรวจและคนขับรถของนายเดชใช้ผ้าปิดหน้าและจำเลยใช้ผ้าปิดปากตามลำดับ จึงเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ยืนยันเป็นจำเลยนั้นมีมีอะไรปิดบังใบหน้าจริงหรือไม่

อีกทั้งจำเลยเป็นบุคคลที่ถือไม้เข้าไปเคาะกระจกรถพูดด่าว่าตำรวจจริง จำเลยต้องอยู่ในกลุ่มคนที่ขัดขวางไม่ให้ตำรวจรื้อสิ่งกีดขวาง และมีบุคลิกลักษณะแข็งกร้าวไม่เกรงกลัวผู้ใด แต่ ร.ต.อ.อธิชัย สมบูรณ์ กลับเห็นว่า จำเลยยืนอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน โดยไม่ระบุว่าจำเลยร่วมขัดขวาง

ดังนี้ การระบุถึงพฤติกรรมและบุคลิกลักษณะบุคคลที่กล่าวอ้างว่าเป็นจำเลยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บุคคลทั้ง 2 คน น่าจะไม่ใช่คนเดียวกัน และปรากฏว่า จำเลยทั้ง 11 ปากเคยหรือพบเห็นจำเลยมาก่อน ต่างจาก ร.ต.อ.อธิชัย สมบูรณ์ที่เคยพบเห็นจำเลยในการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง และการเห็นจำเลยเป็นคนถ่ายวิดีโอก็เห็นตอนที่จำเลยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากคนทั่วไป ย่อมจดจำจำเลยได้ดีกว่าพยานทั้ง 11 ปาก ซึ่งไม่เคยเห็นจำเลยมาก่อน เชื่อว่าจำเลย คือ คนที่ยืนกับชาวบ้านประมาณ 20 คน ตามที่ ร.ต.อ.อธิชัย ระบุ ไม่ใช่คนที่พยานทั้ง 10 ปาก ระบุว่า อยู่ในกลุ่มชาย 5-6 คนที่เดินเข้าไปเคาะรถกระบะทั้งสองคันที่ถูกปิดกั้น

อีกทั้งเห็นว่าชาวบ้านชุมนุมกัน ก็เนื่องมาจากมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคัดค้านโครงการการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ คนที่ร่วมชุมนุมย่อมมีทั้งคนที่ชุมนุมอย่างสงบ และก่อความรุนแรง หากคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนทำผิดกฎหมาย จะรับฟังว่าบุคคลอื่นที่ร่วมชุมนุมอยู่ด้วยกันร่วมกันทำผิดทุกคนหาได้ไม่ อีกทั้งยังมีการจับกุมจำเลยตั้งแต่วันเกิดเหตุ แต่ไม่มีพยานโจทก์เบิกความถึงการจับกุมจำเลย และไม่ปรากฏพยานโจทก์ทั้ง 11 ปาก ซึ่งอยู่ในรถกระบะที่ถูกปิดกั้นเป็นผู้ยืนยันให้จับกุมจำเลยด้วย จึงเป็นการจับกุมจำเลยโดยไม่มีผู้ใดยืนยันว่าจำเลยมีพฤติกรรมกระทำผิด

ลำพังที่จำเลยยืนอยู่กับชาวบ้าน 20 คนตามที่ ร.ต.อ.อธิชัย ระบุ ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้ และแม้ความผิดตามกระบวนกฎหมายอาญามาตรา 371 ศาลชั้นต้นจะลงโทษจำเลยเพียงปรับ 100 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นลงโทษพิพากษาจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับยกฟ้อง

ด้าน นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ สภาทนายความผู้ช่วยเหลือคดี กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาโดยเฉพาะคดีความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน ซึ่งได้รับผลกะทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ศาลมักใช้หลักการพิจารณาคดี โดยเห็นว่า พยานโจทก์ให้การสอดคล้องกัน หรือใช้หลักพิจารณาว่าพยานโจทก์ซึ่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับประชาชนที่ถูกฟ้องคดีมากก่อน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมที่ชาวบ้านกลุ่มต่างๆประสบ ซึ่งศาลมักเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีอคติกับประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงขัดแย้งกัน เจ้าหน้าที่ในคดีนี้เป็นพยานได้มีการยอมรับเองว่า พวกตนมีหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยให้กับพนักงานบริษัททีทีเอ็ม ที่ทำการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ และมีการรับค่าใช้จ่ายจากโครงการด้วย

ดังนั้น จะให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีทัศนคติที่เป็นกลางกับชาวบ้านคงเป็นไปได้ยาก จากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้เห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์เบิกความขัดแย้งกันทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน และมีการเติมแต่งข้อเท็จจริง หากพยานโจทก์เบิกตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พยานโจทก์น่าจะเบิกความไปในแนวทางเดียวกันไม่ขัดแย้งกันอย่างมากมายตามที่ปรากฏ ซึ่งสมควรน่าจะมีการสอบสวนในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม วันนี้รู้สึกยินดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ยกฟ้องจำเลยไม่ได้รับฟังและวินิจฉัยตามที่พยานฝ่ายโจทก์กล่าวอ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น