องค์กรผู้บริโภคจี้คลังทำหน้าที่จัดทำบัญชีแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของแผ่นดินและแยกอำนาจและสิทธิที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากปตท.ให้ชัด รื้อระบบคิดค่าเช่าท่อฯใหม่ทั้งหมด บี้โอนคืนท่อก๊าซฯไทย-มาเลย์ให้รัฐ ดันคลังนำเรื่องสู่ศาลในรายการที่มีความแย้งเพื่อชี้ขาด ติงอุ้มปตท.คิดค่าเช่าท่อฯจิ๊บๆ เพียง 400 กม.ไม่สมเหตุผล
นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของปตท. ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนสหพันธ์ฯและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบนายฉลองภพ สุสังกาญจน์ รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่อการจัดการทรัพย์สินฯ ตามคำสั่งศาล ซึ่งทางกระทรวงการคลัง เป็นผู้ทำหน้าที่แทนรัฐ โดยทางสหพันธ์ฯ มีข้อเสนอต่อคลังใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
หนึ่ง สหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ ได้จัดทำบัญชีรายการทรัพย์สินที่น่าจะเข้าข่ายเป็นของรัฐพร้อมกับอธิบายเหตุผล เสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณา ซึ่งประเด็นรายการทรัพย์สินฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำสั่งศาลฯ มีบางส่วนที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องเห็นร่วมกัน แต่มีบางรายการที่เห็นแย้งกันอยู่
“สหพันธ์ฯ เรียกร้องให้คลังทำหน้าที่ ทำบัญชีขึ้นมาพิจารณาควบคู่ไปกับรายการที่ทางปตท.จัดทำขึ้นมา ไม่ใช่ปล่อยให้ ปตท.คิดเอาตามใจชอบ ส่วนไหนที่เห็นตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่ส่วนไหนที่มีข้อโต้แย้ง ได้เสนอให้คลังนำเรื่องสู่ศาลฯ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้จนกว่าจะหาข้อยุติที่เป็นที่ชัดเจนว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชน” นางสาวรสนา กล่าว
นางสาวรสนา กล่าวต่อว่า การคำนวณของกรมธนารักษ์ ที่ตัดสินว่าระบบท่อที่ปตท.ต้องจ่ายค่าเช่ามีเพียงประมาณ 400 กม.เท่านั้น ไม่น่าจะสมเหตุสมผล ประเด็นใหญ่ที่ทางสหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ มีความเห็นแย้ง เช่น ท่อส่งก๊าซฯทางทะเล ที่ทาง รมว.กระทรวงพลังงาน มีความเห็นว่า ไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ทางสหพันธ์ฯ เห็นว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
สอง โครงการท่อก๊าซฯ ไทย – มาเลย์ ซึ่งทางสหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ มีความเห็นว่า ท่อก๊าซฯ เส้นนี้ต้องเป็นสมบัติของชาติ
และสาม การคำนวณอัตราค่าผ่านท่อฯ ปัจจุบัน ปตท. ไม่ใช้มูลค่าทางบัญชีในการคำนวณ แต่ใช้มูลค่า Replacement Value หรือ ROE แทน ซึ่งเท่ากับต้นทุนในการสร้างท่อใหม่ทดแทนท่อเก่า เวลานี้ ปตท. คิด ROE 18% ซึ่งมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ 12% และประกันกำไรให้ผู้ถือหุ้น 6% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ได้ลดต่ำลงเหลือเพียงประมาณ 8% การใช้ฐานคิดดังกล่าวทำให้มูลค่าการลงทุนสูง ค่าผ่านท่อมีอัตราสูง สร้างกำไรงามให้ บมจ. ปตท. ขณะที่ผู้บริโภคต้องรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม คลังควรต้องเข้าไปรื้อระบบการคิดค่าผ่านท่อฯเสียใหม่
นางสาวรสนา ยังกล่าวว่า ท่อเส้นที่3 และ 4 ในอนาคต อำนาจผูกขาดในการใช้ท่อฯ ไม่น่าจะอยู่ที่ปตท.เพียงเจ้าเดียวอีกต่อไป รัฐมีอำนาจและสิทธิในการบริหารจัดการสิทธิส่วนนี้ในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้ค่าผ่านท่อ ในกรณีที่รัฐเห็นควรให้รัฐ/รัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำเนินการกิจการนี้เอง เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทางสหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ จะเสนอต่อรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศด้วย
สำหรับรายละเอียดรายการทรัพย์สินฯ และการแยกอำนาจสิทธิฯ ที่สหพันธ์ฯ และมูลนิธิผู้บริโภค เสนอต่อรมว.กระทรวงการคลังนั้น ในส่วนที่ครม.ได้มีมติให้ปตท.คืนแก่รัฐ รวมมูลค่า 15,139 ล้านบาท คือ 1) ที่ดินที่ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน จำนวน 32 ไร่ ในเขต จ.สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มูลค่าทางบัญชี ณ 30 ก.ย. 44 เท่ากับ 7 ล้านบาท
2) สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนซึ่ง ปตท. ได้มาโดยใช้อำนาจมหาชน มูลค่าทางบัญชี ณ 30 ก.ย. 44 เท่ากับ 1,124 ล้านบาท และ 3) ระบบท่อส่งก๊าซ/น้ำมันส่วนที่อยู่ในที่ดินของเอกชนตาม (2) ข้างต้น ซึ่งรวมถึง โครงการท่อบางปะกง –วังน้อย โครงการท่อชายแดนไทย-พม่า – ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี – วังน้อย มูลค่าทางบัญชีของทั้ง 3 โครงการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 44 เท่ากับ 14,008 ล้านบาท นั้น ทางสหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ เห็นพ้องกับมติครม. ข้างต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนท่อก๊าซฯ ท่อน้ำมันนั้น สหพันธ์ฯ และมูลนิธิฯ เห็นว่าควรจะรวมถึงระบบท่อทั้งหมดทั้งท่อส่ง และท่อจำหน่ายที่ได้มาโดยใช้พื้นที่สาธารณะ และ/หรือใช้อำนาจมหาชน โดยมีส่วนประกอบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 คือ
หนึ่ง ระบบท่อส่งก๊าซฯบนบกความยาว 1,384 กม. สอง ระบบท่อส่งก๊าซฯในทะเลความยาว 1,369 กม. และ สาม ระบบท่อจัดจำหน่ายความยาว 770 กม. รวมทั้งสิ้น 3,523 กม. โดยท่อก๊าซฯและระบบท่อจัดจำหน่ายดังกล่าวมีมูลค่าทางบัญชี ณ 31 ธ.ค. 44 รวม 47,593 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีระบบท่อก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นตามแผนแม่บทฉบับที่ 3 ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมมูลค่าทั้งหมด 157,102 ล้านบาท
นอกจากนั้น ในส่วนระบบท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ของบริษัท TTM ในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยก็อยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน เพราะอาศัยอำนาจรอนสิทธิ/มหาชน และรัฐมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดำเนินการในฐานะองค์การของรัฐ คือท่อก๊าซฯจากแปลง A18 ใน JDA – อ.จะนะ 227 กม. และท่อก๊าซฯ จาก อ. จะนะ – ชายแดนรัฐเคดาห์ 98 กม. รวมระยะทางทั้งสิ้น 325 กม.
อีกทั้ง ยังมีส่วนของโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 และ 2 ของบริษัท TTM ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการลงทุนร่วมทุนใน TTM ในฐานะองค์การของรัฐ และโรงแยกก๊าซตั้งคร่อมพื้นที่สาธารณะ รวมมูลค่าทรัพย์สิน (เฉพาะในส่วนของ ปตท. 50%) ในส่วนของระบบท่อของบริษัท TTM และโรงแยกก๊าซฯ เท่ากับ 15,062 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท TTM (บริษัททรานส์ไทย มาเลเซีย จำกัด เป็นการร่วมทุน 50: 50 ระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเปโตรนาสของมาเลเซีย โดย ปตท. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้กระทำการแทนรัฐในฐานะองค์กรของรัฐในการแสวงประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนในเขตไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (พื้นที่ JDA) และดำเนินการร่วมทุนกับมาเลเซียและโครงการโรงแยกก๊าซฯไทย-มาเลเซีย
โดยโครงการทั้ง 2 ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และบริษัท TTM ได้เริ่มแยกก๊าซที่ได้จากพื้นที่ JDA มาเป็นก๊าซหุงต้ม และส่งออกทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้มทั้งหมดไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว แม้บริษัท TTM จะมีสภาพเป็นบริษัทเอกชน (ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ) แต่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการวางท่อและสร้างโรงแยกก๊าซผ่าน ปตท. และบมจ. ปตท. ดังนั้นระบบท่อและโรงแยกก๊าซของบริษัท TTM จึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องโอนกลับคืนสู่รัฐ
ส่วนการประกาศกำหนดเขตและดำเนินการในระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในพื้นที่สาธารณะสมบัติ ต้องใช้อำนาจมหาชนตามมาตรา 29, 30, 31, 33 และ 34 ในกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดังนั้น การวางท่อโดยใช้สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนและโดยใช้สาธารณะสมบัติของแผ่นดินล้วนถือเป็นการใช้อำนาจมหาชนทั้งสิ้น ทรัพย์สินของระบบท่อส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจึงควรต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐเช่นกัน
สำหรับค่าเช่าท่อก๊าซฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าเช่าฯ และเสนอต่อรมว.กระทรวงคลัง เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (8 ม.ค.) ได้ข้อสรุปว่า รูปแบบการคิดอัตราค่าเช่าที่ดินและท่อส่งก๊าซบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ตามระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยวิธีการหักส่วนแบ่งรายได้สุทธิ (Revenue Sharing) ในอัตราขั้นต่ำ 5% หลังจากนั้นทุกๆ 5 ปี จะปรับเพิ่ม 15% คาดว่ามูลค่าค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาอยู่ที่ 7.8-7.9 พันล้านบาท
โดยปีแรก ปตท.จะต้องจ่ายค่าเช่า 180 ล้านบาท แต่ค่าเช่าค้างย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. ปี44 จนถึงปัจจุบันที่ ปตท.ต้องจ่ายรวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายในทันที ส่วนต่อจากนี้ ปตท.ก็จะต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มอีก 3% จากฐานรายได้ของปีล่าสุด ส่วนแนวท่อที่ต้องมีการคิดค่าเช่านั้น มีระยะทางประมาณ 400 กม. เป็นแนวท่อบนบกทั้งสิ้น ไม่รวมท่อก๊าซในทะเล
ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ค่าเช่าที่ราชพัสดุและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ราย บมจ.ปตท. กลับไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมดมาอีกครั้ง โดยให้ตรวจดูข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้ตัวเลขที่ออกมาสามารถชี้แจงต่อสังคมได้ เพราะเห็นว่าอัตราค่าเช่าและรายได้ที่สรุปได้เบื้องต้นยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะรายได้จากค่าท่อก๊าซที่คำนวณจากรายได้เมื่อปี 2544 ในอัตรา 3,600 ล้านบาท นั้น ต้องดูอีกครั้งว่าเป็นรายได้ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคต ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้