ธนารักษ์ สรุปค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท. ตามระยะเวลาสัญญา 30 ปี คิดอัตราขั้นต่ำ 5% จากรายได้สุทธิ พร้อมปรับเพิ่ม 15% ทุกรอบ 5 ปี โดยประเมินมูลค่ารวมทั้งสิ้นตลอดสัญญา 30 ปี ไม่ถึง 1 หมื่นล้าน
วันนี้(3 ม.ค.) คณะกรรมการพิจารณาค่าเช่าท่อก๊าซ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สรุปรูปแบบการคิดอัตราค่าเช่าที่ดินและท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ตามระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยวิธีการหักส่วนแบ่งรายได้สุทธิ(Revenue Sharing) ในอัตราขั้นต่ำ 5% และปรับเพิ่ม 15% ทุก 5 ปี โดยคาดมูลค่าค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาจะอยู่ที่ประมาณ 7.8-7.9 พันล้านบาท
นายอำนวย ปรีมนวงษ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า เหตุที่คณะกรรมการฯ เลือกวิธีดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าจากการคำนวณน่าจะได้ค่าเช่าสูงที่สุด โดยจะเสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
หลังจากได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้แล้ว คณะกรรมการฯ อาจต้องมีการเขียนรายละเอียด อย่างชัดเจนเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง และใช้เป็นแนวทางของกรมธนารักษ์ในการคิดค่าเช่าจากสินทรัพย์ประเภทนี้ด้วย เนื่องจากอดีตไม่เคยมีการเก็บค่าเช่าในลักษณะนี้มาก่อน
ทั้งนี้ มติ ครม.ครั้งที่แล้วบอกว่าจะคิดค่าเช่า 5% หรือเปล่าให้ไปคิดมา กรมธนารักษ์จะต้องฟันว่า จะเก็บเท่าไหร่ โดยอัตรา 5% ถือว่าสูงสุด จากที่เคยเก็บจากกรณีอื่น แต่ปัญหาคือสินทรัพย์ทุกอย่างมันไม่เหมือนกัน ภาระไม่เหมือนกัน ท่อก๊าซเทียบกับตึกก็คนละสินทรัพย์กัน กรณีตึกคิดค่าเช่าตามตลาด แต่ท่อก๊าซมีการกำหนดควบคุมค่าก๊าซเป็นเท่าไหร่ ราคาไม่ได้ขึ้นไปได้อิสระ
ก่อนหน้านี้ นายอำนวย เคยระบุว่า แนวท่อที่ต้องมีการคิดค่าเช่านั้น มีระยะทางประมาณเกือบ 400 กิโลเมตร เป็นแนวท่อบนบกทั้งสิ้น ไม่รวมท่อก๊าซในทะเล ส่วนวิธีการคำนวณหาผลตอบแทนจะมี 3 แนวทาง คือ 1.คำนวณจากผลตอบแทนต่อมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) 2.คำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ที่คิดจากฐานค่าเช่าขั้นต่ำ 5% และ 3.คำนวณจากส่วนแบ่งรายได้สุทธิที่มีการหักภาระหนี้ของ ปตท. ภายใต้ทรัพย์สินที่โอนคืนให้แก่รัฐ ซึ่งในส่วนนี้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ปตท. ยอมรับว่า มีอยู่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการลงทุนระบบท่อ
ทั้งนี้ ถ้าคิดค่าเช่าจากอัตราขั้นต่ำ 5% ที่คิดจากฐานในปี 44 พร้อมระบุว่า ปตท.จะต้องเสียค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี หรือตลอดสัญญา 30 ปี ประมาณ 8 พันล้านบาท