xs
xsm
sm
md
lg

สรุปค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท.รอบ 2 วันนี้ “รสนา” ชี้ผูกขาดส่วนแบ่งกำไร 18%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.สรุปค่าเช่าท่อก๊าซอีกครั้ง วันนี้ คลังขอดูตัวเลขกระแสเงินสดก่อนเจรจา ชี้เงื่อนงำตัวเลขปี 50 ต่ำผิดปกติ พร้อมจี้ข้อมูลกระแสเงินสดแต่ละปีเพิ่มเติม รวมถึงแผนขยายการลงทุนในระบบท่อส่งก๊าซ “รสนา” จี้สอบส่วนแบ่งผลกำไร 18% สูงเกินไปหรือไม่ เพราะผูกขาดเพียงรายเดียว แนะจับตาการผลักภาระให้ประชาชน ทั้งผู้ใช้ก๊าซ-ไฟฟ้า

มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า วันนี้ (14 ม.ค.) กระทรวงการคลังจะมีการประชุมเกี่ยวกับแนวทางการคิดค่าเช่าท่อก๊าซจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง หลังจากที่นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 2 สัปดาห์

โดยการประชุมในวันนี้ เป็นลักษณะอนุกรรมการย่อยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เลขานุการ รมว.คลัง, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน และ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดค่าเช่าที่ราชพัสดุและค่าผ่านท่อก๊าซ โดยจะมีนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร ปตท.จะเป็นตัวแทนมาชี้แจงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า การประชุมวันนี้ ปตท.ได้นำข้อมูลรายได้แต่ละปี ตั้งแต่ปี 2544-2550 ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้วมาชี้แจง แต่กระทรวงการคลัง ยังเห็นว่า ข้อมูลรายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสรุป รวมถึงพิจารณาจากรายได้รายปีแล้ว พบว่า ปีสุดท้าย คือ ปี 2550 ตัวเลขรายได้ออกมาต่ำผิดปกติ จึงได้สั่งให้ ปตท.ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้อีกโดยจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินสดในแต่ละปี และเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนในระบบท่อส่งของ ปตท.ด้วย

“คงจะต้องเช็กข้อมูลให้ละเอียด เช่น การลงทุนในระยะข้างหน้าจะมีสัดส่วนเป็นอย่างไร แล้วกระทรวงการคลังจะได้เท่าไหร่ กล่าวคือ ถ้า ปตท.ลงทุนขยายท่อเพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนรายได้คลังลดลงไปเรื่อยๆ หรือไม่”

นายอำนวย เปิดเผยก่อนเข้าประชุม โดยระบุว่า จะมีการพิจารณาข้อมูลค่าเช่าท่อก๊าซที่ ปตท.เสนอเข้ามาใหม่ เพื่อสรุปผลการคิดอัตราค่าเช่าท่อก๊าซให้ทันภายใน 2 สัปดาห์ โดยยอมรับว่ามีโอกาสที่อัตราค่าเช่าจะสูงกว่าที่กำหนดขั้นต่อ 5% ของรายได้ก่อนหน้านี้

นายอำนวย กล่าวว่า เหตุที่กระทรวงการคลังให้ ปตท.เป็นผู้คำนวณรายได้จากท่อก๊าซเอง เนื่องจากธุรกิจ ปตท.มีมูลค่านับแสนล้านบาท รายได้จากท่อก๊าซเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แยกมาจากรายได้รวมเท่านั้น ซึ่ง ปตท.ก็จะนำการคำนวณรายได้มาจากงบดุลที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจรับรองแล้ว สำหรับหลักการในการคิดค่าเช่าท่อก๊าซนั้น เบื้องต้นจะนำรายได้รวมจากท่อก๊าซทุกเส้นทางที่เป็นสินทรัพย์ที่ต้องโอนกลับมาให้กับรัฐมาคำนวณรวมกัน เพื่อคิดเป็นค่าเช่าในอัตราเดียว

ทั้งนี้ การคิดค่าเช่าท่อก๊าซจะไม่รวมถึงท่อก๊าซในทะเล เนื่องจากไม่เข้าข่ายทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องโอนคืนแก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นั่นคือ ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีการใช้อำนาจรัฐเวนคืนมาจากเอกชน และใช้เงินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งก็คือ การใช้เงินของรัฐในการจ่ายค่าชดเชย และจะต้องมีการรายงานผลการโอนสินทรัพย์ให้ศาลปกครองสูงสุดรับทราบ ซึ่งกระทรวงการคลังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปแย้ง เพราะ ปตท.ต้องรายงานการดำเนินการให้ศาลปกครองทราบอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องส่งรายการการโอนคืนทรัพย์สินของ ปตท.ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดมาให้ สตง.ตรวจสอบเพื่อรับรอง แต่หาก สตง.ต้องการตรวจสอบ ทาง ปตท.ก็จะจัดส่งกลับไปให้ สตง.ตรวจสอบเอง

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพ รมว.คลัง กล่าวดักคอว่า ถ้าหาก ปตท.ส่งข้อมูลเดิมมาให้ คลังก็สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเองได้ โดยเฉพาะงบดุลประจำปีของ ปตท.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยการจะจัดเก็บค่าเช่าจากรายได้ค่าผ่านท่อในอัตราเท่าไหร่นั้นไม่สำคัญเท่า แต่ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ที่ถูกต้อง และเป็นจริง ไม่ใช่ไปเอารายได้และกำลังการผลิตจากปี 2544 มาเป็นฐานและปรับเพิ่มขึ้นไปปีละเท่านั้นเท่านี้ จะต้องเริ่มจากการกำหนดว่าจะจัดเก็บในอัตราเท่าไหร่จากรายได้ในแต่ละปีที่เป็นจริง ซึ่งรายได้ในแต่ละปีสามารถผันแปรขึ้นลงได้ตามปริมาณการผ่านท่อ ไม่ใช่ไปกำหนดตายตัว

นางรสนา โตสิตระกูล ประธานมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้เข้าพบนายฉลองภพ รมว.คลัง เพื่อหารือขอให้คลังดำเนินการใน 3 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งในเรื่องที่ 1.ทางมูลนิธิขอให้คลังทำบัญชีรายการทรัพย์สินของแผ่นดินที่ ปตท.ต้องโอนคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาล แต่เพื่อที่จะได้ตรวจสอบว่าทาง ปตท.โอนคืนให้ครบหรือไม่ หากไม่ครบจะได้ศาลปกครองชี้ขาด ขณะที่ รมว.คลังยืนยันที่จะให้ทาง ปตท.เป็นคนทำและยื่นให้ศาลตัดสิน

อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิได้ยื่นรายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องโอนคืน ในส่วนที่มูลนิธิรวบรวมไว้ เพื่อให้คลังไปดำเนินการต่อหากเห็นว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว

เรื่องที่ 2 ทางมูลนิธิขอให้คลังรื้อเกณฑ์คิดค่าผ่านท่อกับ ปตท.ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันค่าผ่านท่อคิดอยู่บนพื้นฐานประกันกำไรให้กับ ปตท. ถึง 18% ทั้งที่เป็นกิจการผูกขาด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ การคิดค่าเช่าท่อจาก ปตท.จะทำให้ ปตท.นำไปรวมกับต้นทุนทำให้ค่าก๊าซเพิ่ม ส่งผลกระทบกับกับผู้ที่ใช้ไฟฟ้า เพราะใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าถึง 70% ของพลังงานทั้งหมด

“มูลนิธิมองว่า หากไม่รื้อการคิดค่าผ่านท่อใหม่ จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะทุกวันนี้ ปตท.มีรายได้จากท่อเป็นต้นทุน 47% เป็นกำไรถึง 53% ซึ่งหากไม่เลิกประกันกำไรจากท่อให้ ปตท.คลังคิดค่าเช่าท่อเท่าไรก็ ปตท.ก็จะผลักให้ผู้บริโภคเพื่อรักษากำไร”

สำหรับเรื่องที่ 3 มูลนิธิได้เสนอเรื่องท่อก๊าซไทยมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานยืนยันไม่โอนคืนให้กระทรวงคลัง ซึ่งทางมูลนิธิไม่เห็นด้วย เพราะโครงการนี้อยู่ภายใต้บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นการร่วมทุนไทยกับมาเลเซียคนละ 50% โดยทางมาเลเซียมอบให้บริษัทเปโตรนาสเข้ามาถือหุ้น ส่วนไทยให้ ปตท.ซึ่งขณะนั้นเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรของรัฐ ใช้อำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการในโครงการท่อก๊าซไทยมาเลย์ แต่เมื่อ ปตท. แปลงสภาพเป็นบริษัทเอกชน กลับไม่ได้โอนทรัพย์สินในส่วนนี้คืนให้รัฐ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

นางรสนา กล่าวว่า ทางมูลนิธิจะติดตามเรื่องนี้ หากกระทรวงการคลัง และ สตง.สามารถทำหน้าที่รักษาทรัพย์สินของแผ่นดินได้ดี ทางมูลนิธิก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด แต่หากว่ามีความไม่ชอบมาพากล ทางมูลนิธิจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองอีกครั้งเพื่อบังคับให้ ปตท. โอนทรัพย์สินของแผ่นดินมาให้ครบ
กำลังโหลดความคิดเห็น