xs
xsm
sm
md
lg

สตง.กังขา "ปิยสวัสดิ์" ด่วนสรุปทรัพย์สินปตท.คืนรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้อง สตง. ตรวจสอบรายการทรัพย์สินของ ปตท.ที่จะต้องโอนคืนแผ่นดินอย่างถี่ถ้วน พร้อมยื่นรายการทรัพย์สินเบื้องต้นและข้อเสนอภาคประชาชน “คุณหญิงจารุวรรณ” เผยคณะตรวจสอบของสตง.เห็นควรโอนท่อทั้งระบบคืนรัฐ รวมทั้งท่อก๊าซไทย-มาเลย์ที่ ปตท.ใช้อำนาจรัฐรอนสิทธิของประชาชน กังขา “ปิยสวัสดิ์” รีบเสนอตั้ง 7 อรหันต์กำกับกิจการพลังงานเข้าครม.บีบเวลาตรวจสอบทรัพย์สินปตท.ทั้งที่ยังไม่ส่งงบดุล-บัญชีทรัพย์สินให้สตง.ตรวจรับรอง ชี้มูลค่าท่อก๊าซฯ จริงนับแสนล้าน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบรายการทรัพย์สินของปตท.ที่จะต้องโอนคืนแผ่นดิน พร้อมกับส่งบัญชีรายการทรัพย์สินเบื้องต้นและข้อเสนอภาคประชาชนมาพร้อมกันด้วย

นางสาวสารี ระบุในหนังสือว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า รัฐมนตรีว่าการพลังงานจะรีบเร่งในการนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงานให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งในวันอังคารที่จะถึงนี้ นับว่าเป็นพฤติกรรมที่รวบรัด รีบเร่งอย่างผิดสังเกตทั้งที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนการตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งตามกฎหมายระบุให้มีการตั้งคณะกรรมการในกำหนด 120 วัน จึงมีเวลาเพียงพอในการจัดทำรายการทรัพย์สินและตรวจสอบอย่างรอบคอบ

“แต่การเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เท่ากับเป็นการอาศัยคำพิพากษาของศาลเพื่อเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้กระทรวงการคลัง ต้องรีบพิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สินและกำหนดค่าเช่าโดยขาดความรอบคอบและอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ”

กรรมการผู้จัดการมูลนิธิฯ ระบุว่า ในปัจจุบันการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องจำนวนรายการทรัพย์สินที่จะต้องโอนคืนให้กับกระทรวงการคลัง และยังไม่มีการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังาน จะเป็นการเร่งรัด และทำให้สตง. ไม่มีเวลาเพียงพอในการตรวจสอบอย่างรอบคอบ

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและผู้ฟ้องคดีทั้งหมด จึงใคร่ขอยื่นรายการทรัพย์สินเบื้องต้นที่มีข้อมูลอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สตง. ได้พิจารณาตรวจสอบ และตีมูลค่าทรัพย์สินตามมูลค่าบัญชีพร้อมเสนอกระทรวงการคลังในการเรียกคืนทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนสู่แผ่นดินต่อไป

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะรีบเร่งในการนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงานให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแต่งตั้งในวันนี้ (22 ม.ค.51) โดยคำพิพากษาของศาลได้กำหนดให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนการตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งได้มีกรอบระยะเวลาในการแต่งตั้ง 120 วัน แต่ปรากฏว่าล่าสุดจนถึงขณะนี้ทาง ปตท.ยังไม่ได้มีการส่งเอกสารงบการเงิน และงบรายจ่ายประจำปีรวมทั้ง บัญชีทรัพย์สินของ ปตท.ที่จะต้องโอนคืนให้กับรัฐตามคำสั่งศาลปกครองมาให้ สตง.ตรวจแต่อย่างใด

คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ สตง.อยู่ในระหว่างการรวบรวมตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยก และกำหนดค่าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเจ้าของสินทรัพย์ ทั้งนี้ มีหลายรายการที่คณะผู้ตรวจสอบของ สตง.เห็นว่าควรจะส่งคืนกระทรวงการคลังมากกว่าที่ปรากฏที่มีการเสนอโดย ปตท.

เช่น ระบบท่อทั้งหมด ท่อส่งและท่อจำหน่ายที่ใช้พื้นที่สาธารณะ และหรือใช้อำนาจมหาชน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซบนบก ระบบท่อส่งก๊าซในทะเล ระบบท่อจัดจำหน่าย ซึ่งทั้ง 3 รายการยาวประมาณ 3,000 กิโลเมตร มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 47,000 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมการ สตง.ใช้ประกอบการพิจารณา เพราะทางประกาศกำหนดและดำเนินการในระบบเหล่านี้ได้ใช้อำนาจมหาชน ม.29-34 ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปิโตรเลียม เป็นการใช้สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งมูลค่าทางบัญชีมีมูลค่าต่ำมาก เนื่องจาการตัดค่าเสื่อมราคาเป็นวิชาการทางบัญชี โดยไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในการใช้ประโยชน์และทำรายได้ ซึ่งตรงกันข้ามเมื่อคำนวณอัตราค่าผ่านท่อทราบว่าทาง ปตท.กลับไม่ใช้มูลค่าทางบัญชีในการคำนวณแต่ใช้มูลค่าทดแทน(Replacement Value) ซึ่งเท่ากับต้นทุนในการก่อสร้างปัจจุบัน จะมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ค่าผ่านท่อมีอัตราสูง ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระสูง

คุณหญิง จารุวรรณ กล่าวว่า สตง.ยืนยันที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่มุ่งมั่นใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นที่เกิดความยุติธรรม ดังนั้นครม.จึงน่าจะให้เวลาในการตรวจสอบด้วย และขณะนี้ก็ยังต้องคอยข้อมูลจาก ปตท.อยู่ ซึ่งบางรายการที่เป็นสมบัติสาธารณะและมีการเวนคืนที่ดินของประชาชน กลับพบว่าไม่มีการคิดเพื่อนำมาคืนเข้าไปด้วย เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งตัวเลขรวมมูลค่าระบบท่อและโรงแยกก๊าซฯมีมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท อันเป็นการวางท่อโดยใช้สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนและใช้สมบัติของแผ่นดินจึงควรต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐ

สำหรับความคืบหน้าในการหารือเพื่อคิดอัตราค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท.ที่ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังนั้น เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2550 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.กระทรวงพลังงาน และผู้บริหารของ ปตท. ได้เข้าพบนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.กระทรวงการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม การคิดอัตราค่าเช่าท่อฯ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

สำหรับการประชุมฯ สรุปค่าเช่าท่อก๊าซครั้งก่อน ปตท.ต้องจ่ายค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 30 ปี รวม 7.8-7.9 พันล้านบาท แต่ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องมาพิจารณาใหม่ซึ่งเบื้องต้นได้ปรับฐานรายได้ในการคำนวณ ค่าเช่าท่อก๊าซฯเพิ่มเป็น 5.7 พันล้านบาท/ปี

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพ ให้แนวคิดที่จะเก็บค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท. จากรายได้ส่วนเกินที่นำรายจ่ายของ ปตท. มาหักรายได้ และส่วนที่เหลือนำมาแบ่ง 3 ส่วน จ่ายเป็นกำไรให้ปตท. เป็นค่าเช่า และ คืนกำไร แต่ทาง ปตท. ไม่เห็นด้วย ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ก็มาแย้งว่ากระทรวงการคลังดำเนินการเกินคำสั่งศาล

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งดูแลหน่วยงานในส่วนรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยถึงผลการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการคำนวณอัตราค่าเช่าท่อก๊าซ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยระบุว่า ในหลักการเบื้องต้น ที่ประชุมได้ตกลงวิธีการคำนวณค่าเช่าท่อก๊าซร่วมกันแล้ว แต่ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ในเรื่องของฐานรายได้ที่นำมาใช้ในการคำนวณ ซึ่งคาดว่าอาจไม่สามารถหาข้อสรุป เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทัน ในวันนี้ (22 ม.ค.) แต่อาจมีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อขอขยายเวลาการหาข้อสรุปออกไปอีก 1 สัปดาห์ แต่ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

ด้าน นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน อยากให้คำนวณค่าเช่าท่อก๊าซแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยนำอัตราค่าเช่าท่อก๊าซคูณกับปริมาณก๊าซที่ผ่านท่อก๊าซ เฉพาะในส่วนที่เป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งมองว่า เป็นวิธีที่ง่ายกว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่จะใช้วิธีนำรายได้จากการผ่านท่อก๊าซโดยรวม หักรายได้ค่าผ่านท่อก๊าซที่ไม่ใช่ส่วนของกระทรวงการคลัง เช่น ท่อก๊าซในทะเล มาคูณกับอัตราค่าเช่าท่อก๊าซ

อนึ่ง ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบและแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้ 1) นายชลิต เรืองวิเศษ สาขาพลังงานด้านไฟฟ้า 2) นายนภดล มัณฑะจิตร สาขาพลังงานด้านก๊าซธรรมชาติ 3) นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ สาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ 4) นางพัลลภา เรืองรอง สาขาเศรษฐศาสตร์, คณิตศาสตร์บริหาร นักวิชาการคลัง 9 จัดการ หรือการจัดการด้านพลังงาน

5) นายจงเจตน์ บุญเกิด สาขาการเงินและการบัญชี 6) นายทักษิณ ลิ่มสุวรรณ์ สาขานิติศาสตร์ และ 7 นายศุภิชัย ตั้งใจตรง สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ข้างต้น มีหน้าที่ในการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานและทำหน้าที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด โดยคณะกรรมการกำกับฯ มีอำนาจในการสั่งการให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงาน หยุด หรือปรับปรุงพฤติกรรมที่เป็นการจำกัด หรือกีดกันการแข่งขัน รวมไปถึงให้ปรับปรุงเงื่อนไข พักใช้ หรือถอนใบอนุญาต รวมทั้งสามารถออกคำสั่งแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ทั้งสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้พลังงานให้ได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการของกิจการพลังงานแต่ละประเภทภายใต้นโยบายและแนวทางของรัฐ รวมทั้งสามารถทบทวนอัตราค่าบริการได้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเทคโนโลยี เปลี่ยนไป

ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าบริการตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานฯ กำหนดให้คณะกรรมการกำกับฯ ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียด้วย และต้องเปิดเผยสูตรหรือวิธีการที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ หรือข้อมูลตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการที่เป็นอัตราที่บังคับใช้เป็นการทั่วไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น