xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” โร่พบ “ขุนคลัง” วันนี้ สยบข่าวเอื้อ ปตท.ลักไก่สรุปท่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รมว.คลัง” นัดถก “รมว.พลังงาน” สางปัญหาค่าเช่าท่อก๊าช ปตท.วันนี้ หากถ้าตกลงกันไม่ได้ เตรียมโยนรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ หลังกรณี สตง.ข้องใจ “ปิยสวัสดิ์” ลักไก่ตั้งทีมเร่งพิจารณาคืนทรัพย์สิน ปตท.ทำไมต้องเร่งรีบดำเนินการ ทั้งที่ยังไม่ส่งงบดุล-บัญชีทรัพย์สินให้ สตง.ตรวจรับรอง ชี้มูลค่าท่อก๊าซต่ำกว่าเป็นจริงต้องเป็นแสนล้านไม่ใช่ 4.7 หมื่นล้าน

มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า วันนี้ (21 ม.ค.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกะทรวงพลังงาน และผู้บริหารของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางเข้าพบนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงอัตราค่าเช่าท่อก๊าช ปตท.ที่ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะสรุปและเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม นายฉลองภพ กล่าวว่า หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในวันนี้ อาจต้องรอไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะตั้ง เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนการโอนท่อก๊าซก็ให้ดำเนินการต่อไป

“ตอนนี้ตัวเลขประมาณการรายได้ในอนาคตใกล้กันมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สรุป เพราะทางคลังมองว่า รายได้ไม่น่าจะลด แต่ ปตท.เห็นว่า จะต้องมีการลงทุนเพื่อทำให้ท่อ ทำงานได้เหมือนเดิม เราก็ยังมองว่าแม้จะมีการลงทุนเป็นอย่างนั้น รายได้ในท่อที่จะโอนไม่น่าจะต่ำกว่า 5.7 พันล้านบาท”

สำหรับการประชุมสรุปค่าเช่าท่อก๊าซครั้งก่อน ปตท.ต้องจ่ายค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 30 ปี รวม 7.8-7.9 พันล้านบาท แต่ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องมาพิจารณาใหม่ ซึ่งเบื้องต้นได้ปรับฐานรายได้ในการคำนวณค่าเช่าท่อก๊าซเพิ่มเป็น 5.7 พันล้านบาท/ปีก่อนที่จะส่งเรื่องเสนอ ครม.ต่อไป

การที่จะนำค่าเช่าท่อก๊าซที่เก็บจากบริษัท ปตท.โอนคืนให้กับผู้บริโภคเพื่อลดค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าไม่สามารถทำได้อย่างที่คิดไว้ตอนต้น เนื่องจากเงินที่เก็บเป็นค่าเช่าต้องนำส่งเข้าคลังไม่สามารถนำโอนออกไปจ่ายให้ผู้อื่นได้ทันที ทำให้ขณะนี้คลังก็จะดำเนินการคิดแต่ค่าเช่าท่อก๊าซจาก ปตท.เท่านั้น

ทั้งนี้ การลดค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าสามารถดำเนินการโดยการลดค่าผ่านท่อก๊าซของปตท. ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งกระทรวงการคลังไม่สามารถเข้าไปดำเนินในส่วนนี้ได้

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพ ให้แนวคิดที่จะเก็บค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท.จากรายได้ส่วนเกินที่นำรายจ่ายของ ปตท. มาหักรายได้ และส่วนที่เหลือนำมาแบ่ง 3 ส่วน จ่ายเป็นกำไรให้ ปตท.เป็นค่าเช่า และคืนกำไร แต่ทาง ปตท.ไม่เห็นด้วย ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงพลังงานก็มาแย้งว่ากระทรวงการคลังดำเนินการเกินคำสั่งศาล

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกรณีที่มีกระแสข่าว ระบุว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน จะรีบเร่ง เสนอรายชื่อกรรมการประกอบกิจการพลังงานให้กับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ม.ค.นี้ แต่ปรากฏว่า ล่าสุด จนถึงขณะนี้ทาง ปตท.ยังไม่ได้มีการส่งเอกสารงบการเงิน และงบรายจ่ายประจำปี รวมทั้งบัญชีทรัพย์สินของ ปตท.ที่จะต้องโอนคืนให้กับรัฐตามคำสั่งศาลปกครองมาให้ สตง.ตรวจแต่อย่างใด อีกทั้งคำพิพากษาของศาลได้กำหนดให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนส่งให้คณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีเวลาในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ถึง 120 วัน

คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง สตง.อยู่ในระหว่างการรวบรวมตรวจสอบรายการ ทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกและกำหนดค่าโดยรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเจ้าของสินทรัพย์ และมีหลายรายการที่คณะผู้ตรวจสอบของ สตง.เห็นว่า ควรจะต้องส่งคืนกระทรวงการคลังมากกว่าที่เสนอโดย ปตท.เช่น ระบบท่อส่งทั้งหมด อันได้แก่ ท่อส่งและท่อจำหน่ายที่ใช้พื้นที่สาธารณะ หรือใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน ณ 31 ธ.ค.2549 ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซบนบก ระบบท่อส่งก๊าซในทะเล ระบบท่อส่งก๊าซจัดจำหน่าย ซึ่งทั้งสามรายการรวมความยาวประมาณ 3,000 กิโลเมตร มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 47,000 ล้านบาท เป็นต้น

“เหตุผลที่ สตง.ใช้ประกอบการพิจารณาเพราะประกาศกำหนดเขต และดำเนินการในระบบเหล่านี้ได้ใช้อำนาจมหาชน มาตรา 29-34 ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปิโตรเลียม เป็นการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งมูลค่าทางบัญชี มีมูลค่าต่ำมาก เนื่องจากการตัดค่าเสื่อมราคาเป็นวิธีการทางบัญชีโดยไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในการใช้ ประโยชนฺ์และทำรายได้ ตรงกันข้ามเมื่อคำนวณอัตราค่าผ่านทางทราบว่าทาง ปตท.กลับไม่ใช้มูลค่าทางบัญชีในการคำนวณแต่ใช้มูลค่าทดแทน ซึ่งเท่ากับต้นทุนในการก่อสร้างปัจจุบันจะมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ค่าผ่านท่อมีอัตราสูง ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระน้ำมันแพง สตง.ยืนยันที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ มุ่งใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตรวจสอบ”

ดังนั้น ครม.จึงน่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบด้วย และขณะนี้ก็ยังต้องคอยข้อมูลจาก ปตท.อยู่ ซึ่งบางรายการที่เป็นสมบัติสาธารณะ และมีการเวนคืนที่ดินของประชาชน กลับพบว่า ไม่มีการคิดเพื่อนำมาคืนเข้าไปด้วย เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่มีมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท อันเป็นการวางท่อโดยใช้สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนและใช้สมบัติของแผ่นดินจึงควรต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น