“จารุวรรณ” ขวาง “ปิยสวัสดิ์-ปตท.” ลักไก่ตั้งกรรมการประกอบกิจการพลังงาน เร่งพิจารณาคืนทรัพย์สิน ปตท. ข้องใจทำไมต้องรีบทำทั้งๆ ที่ยังไม่ส่งงบดุล-บัญชีทรัพย์สินให้ สตง. ตรวจรับรอง ปูดพิรุธคิดมูลค่าท่อก๊าซต่ำกว่าเป็นจริง ชี้ต้องเป็นแสนล้าน-ไม่ใช่ 4.7 หมื่นล้าน
จากกรณีที่ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการบริหารบริษัท ปตท.จำกัด จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมวันที่ 22 ม.ค.นี้ เพื่อให้มีการพิจารณาเห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงานรวมทั้งการคิดค่าเช่าท่อก๊าซระหว่างกระทรวงการคลังกับ บมจ.ปตท.นั้น
ล่าสุด วานนี้ (20 ม.ค.) คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน จะรีบเร่งเสนอรายชื่อกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ให้กับคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ แต่ปรากฏว่าล่าสุดจนถึงขณะนี้ทาง ปตท.ยังไม่ได้มีการส่งเอกสารงบการเงิน และงบรายจ่ายประจำปีรวมทั้งบัญชีทรัพย์สินของ ปตท.ที่จะต้องโอนคืนให้กับรัฐตามคำสั่งศาลปกครองมาให้ สตง.ตรวจแต่อย่างใด
ส่วนคำพิพากษาของศาลได้กำหนดให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนส่งให้คณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีเวลาในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ถึง 120 วันนั้น คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สตง.อยู่ในระหว่างการรวบรวมตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยก และกำหนดค่าโดยรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเจ้าของสินทรัพย์ และมีหลายรายการที่คณะผู้ตรวจสอบของ สตง.เห็นว่าควรจะต้องส่งคืนกระทรวงการคลังมากกว่าที่เสนอโดย ปตท. เช่น ระบบท่อส่งทั้งหมด อันได้แก่ ท่อส่ง และท่อจำหน่ายที่ใช้พื้นที่สาธารณะ หรือใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน ณ 31 ธันวาคม 2549 ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซบนบกระบบท่อส่งก๊าซในทะเลย ระบบท่อส่งก๊าซจัดจำหน่าย ซึ่งทั้งสามรายการรวมความยาวประมาณ 3000 กิโลเมตร มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 47,000 ล้านบาทเป็นต้น
“เหตุผลที่คณะ สตง.ใช้ประกอบการพิจารณาเพราะประกาศกำหนดเขตและดำเนินการในระบบเหล่านี้ได้ใช้อำนาจมหาชน มาตรา 29-34 ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปิโตรเลียม เป็นการใช้สาธารณะสมบัติของแผ่นดินอีกทั้งมูลค่าทางบัญชีมีมูลค่าต่ำมาก เนื่องจากการตัดค่าเสื่อมราคาเป็นวิธีการทางบัญชีโดยไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในการใช้ประโยชน์ และทำรายได้ ตรงกันข้ามเมื่อคำนวณอัตราค่าผ่านทางทราบว่า ทาง ปตท.กลับไม่ใช้มูลค่าทางบัญชีในการคำนวณ แต่ใช้มูลค่าทดแทน ซึ่งเท่ากับต้นทุนในการก่อสร้างปัจจุบันจะมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ค่าผ่านท่อมีอัตราสูง ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระน้ำมันแพง” ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ
ผู้ว่า สตง.กล่าวอีกว่า สตง.ยืนยันที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่มุ่งใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตรวจสอบ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงน่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบ ด้วย และขณะนี้ก็ยังต้องคอยข้อมูลจากปตท.อยู่ ซึ่งบางรายการที่เป็นสมบัติสาธารณะ และมีการเวนคืนที่ดินของประชาชนกลับพบว่าไม่มีการคิดเพื่อนำมาคืนเข้าไปด้วย เช่นโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่มีมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท อันเป็นการวางท่อโดยใช้สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนและใช้สมบัติของแผ่นดิน จึงควรต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐ