xs
xsm
sm
md
lg

มัดรวม 5 เอสเอ็มอี พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! ฝ่าฟันอุปสรรคแก้จน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เมื่อทำธุรกิจแล้วต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ เข้ามาผู้ประกอบการเหล่านี้จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้หรือไม่ ต้องมาดูกันว่าผู้ประกอบการทั้ง 5 รายจะสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาและจะฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปได้อย่างไร ไปดูกันเลย


เริ่มต้นที่ผู้ประกอบการรายแรก “เปี๊ยะเห็ดหูหนู”

เห็ดหูหนูมีแหล่งผลิตเชิงการค้าแหล่งใหญ่ของประเทศอยู่ที่จังหวัดราชบุรีโดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านเชิงสะพาน ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเดิมทีชาวบ้านมีอาชีพทำนา แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงหันมาเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริม และเริ่มมีรายได้ดีขึ้น มีตลาดมารองรับ จึงเปลี่ยนมาเป็นอาชีพหลัก มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน” โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน สมาชิกจำนวน 98 ราย มีโรงเรือนเพาะเห็ดรวมกันกว่า 500 โรงเรือน และในปี 2561 มีกลุ่มเพาะเห็ดที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพิ่มอีกคือ ชุมชนวัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี มีโรงเรือนเพาะเห็ดรวมกันประมาณ 100 โรงเรือน ซึ่งการผลิตได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐผ่านทางโครงการต่าง ๆ ด้วย แต่ทว่าเกษตรกรทั้งสองกลุ่มยังคงประสบปัญหาที่คล้ายกันคือว่า การผลิต “หัวเชื้อ” ไม่ได้คุณภาพทำให้ดอกเห็ดเล็กลง ออกดอกไม่สม่ำเสมอ การใช้สูตรอาหารยังไม่เหมาะสมทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง(โดยไม่จำเป็น) และในกระบวนการทำก้อนการนึ่งฆ่าเชื้อยังไม่ได้ประสิทธิภาพจึงเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดเชื้อปนเปื้อนและปัญหาศัตรูเห็ด ได้แก่ โรคและแมลง ที่ตามมา

ปกติเกษตรกรจะเน้นขายผลผลิตแบบสด เห็ดที่เก็บได้จะชั่งขายเป็นกิโลกรัมโดยมีผู้รับซื้อ เข้ามารับถึงที่เลย แต่ว่าก็จะมี “การแปรรูป” บ้างในช่วงที่ราคาเห็ดถูกลง เหลืออยู่ที่ 10-20 บาท/กก. มีการนำมาทำแปรรูปเป็น “แหนมเห็ด” ควบคู่ไปกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ด้วย หรือว่าทำเป็น “น้ำเห็ดเฉาก๊วย” ที่ใช้เห็ดหูหนูทำ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรเองก่อนหน้านี้ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปมาจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องของ “ขนมเปี๊ยะ” ที่เพิ่งจะมาทำเพิ่มในตอนหลังนี้ ก็เป็นการพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยในครั้งนี้เพื่อสร้างความหลากหลายเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย

ปัจจุบันการแปรรูปเห็ดทำเป็น “ขนมเปี๊ยะไส้เห็ดหูหนู” โดยกลุ่มเพาะเห็ดชุมชนวัดแก้ว มีการเปิดรับออเดอร์และผลิตส่งให้กับลูกค้าแบบทำตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก และมีออเดอร์ที่สั่งเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ในราคาราคากล่องละ 40 บาท (มี6 ลูก) และส่วนทางกลุ่มของบ้านเชิงสะพานจะมีความถนัดในเรื่องของการทำ “แหนมเห็ด” มีส่วนผสมที่เป็นเนื้อหมูใส่อยู่ในนั้นด้วย ก็มีการเปิดรับออร์เดอผลิตส่งตามที่ลูกค้าสั่งมาเช่นเดียวกัน ถือเป็นอีกทางเลือกเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมทั้งในช่วงที่มีผลผลิตออกมากเกิน หรือแม้แต่ในช่วงที่ราคาดอกสดตกต่ำก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อีกทาง

นอกจากนี้เห็ดหูหนูยังสามารถนำไปแปปรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดึงจุดเด่นและมีความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดได้มากน้อยเพียงใด

อ่านข้อมูลเปี๊ยะเห็ดหูหนูเพิ่มเติมคลิก >> https://mgronline.com/smes/detail/9650000105256


ต่อกันกับผู้ประกอบการรายที่สอง ตำนานอาหารพื้นเมือง “ส.ขอนแก่น”

เมื่อต้องหนีความจนจากวัยเด็กสู่การเป็นแบรนด์อาหารพื้นมืองในชื่อ “ส.ขอนแก่น” ที่หลายคนรู้จักและโด่งดังทั่วโลก ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส.ขอนแก่น ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตนนั้นชีวิตในวัยเด็กมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก ในสมัยนั้นต้องดิ้นรนที่จะเรียนหนังสือด้วยตัวเอง เรียนได้แค่โรงเรียนวัดเท่านั้น และด้วยความยากจนทำให้ดิ้นรนที่จะหาลู่ทางความร่ำรวย เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ตอนอายุ 22-23 ปี ในสมัยนั้น ได้ทำงานบริษัทหลายแห่ง และพบว่าถ้าทำต่อไปโอกาสที่จะร่ำรวยแทบจะไม่มีเลย ลาออกไปสมัครงานที่ใหม่ ทำแบบนี้อยู่ 5 บริษัท จนได้มาทำงานที่ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของโลก อย่าง ซีพี เป็นจุดเริ่มต้นว่าเค้าจะปักหลักทำงานอยู่ที่นี่ เพื่อหาประสบการณ์ ในตำแหน่งผู้บริหาร อยู่นาน 10 ปี ก่อนตัดสินใจลาออก หลังจากได้ประสบการณ์ตรงนี้และเห็นลู่ทางความร่ำรวย

ส.ขอนแก่น มาจากคำว่า สินค้าจากขอนแก่น เริ่มตั้งเมื่อปี 2527 เริ่มจากกิจการเล็ก ๆ ซื้อหมูหยอง กุนเชียง จากจังหวัดขอนแก่นมาขายกรุงเทพ ซื้อมาขายไป ที่เลือกขอนแก่นเพราะที่นี่มีสินค้าประเภทนี้ชื่อดังอยู่หลายเจ้า เราไม่มีโรงงานก็ไปซื้อเค้ามาขายในกรุงเทพฯ แต่ต้องการสร้างแบรนด์ของเราเองให้ติดตลาด ช่วงที่ทำแบรนด์ตัวเองนั้นปัญหาคือการทำให้คนยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้าอาหารมันต้องคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางมาจากวัตถุดิบจนมาถึงโรงงานต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม มีความอร่อยคงเส้นคงวาลูกค้าถึงจะเชื่อ แบรนด์ถึงติดตลาดได้ ถ้าเราไม่ทำเรื่องมาตรฐานความสะอาดเหล่านี้แบรนด์ไม่ติดตลาดแน่นอน

ปัจจุบันสินค้ามี 2 ประเภท คือ เนื้อสุกรแปรรูปเราทำตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ มีการเลี้ยงสุกร เพาะพันธุ์สุกรของเราเอง จนกระทั่งแปรรูปสุกรเป็นอาหารสำเร็จรูป อีกประเภทหนึ่งคืออาหารทะเลแปรรูป เน้นเรื่องของลูกชิ้นปลา มีการทำแบบครบวงจรตั้งแต่ปลายน้ำย้อนไปหาต้นน้ำ เราผลิตลูกชิ้นปลาขายพอวอลุมมันโตเราก็ขยายเข้าไปสู่เรื่องประมง เข้าไปร่วมมือกับโครงการประมงต่าง ๆทำให้สามารถมีสัตว์น้ำมาป้อนโรงงานได้ เราทำธุรกิจสองประเภทเท่านั้น เนื้อสัตว์ใช้ชื่อ ส.ขอนแก่น ส่วนลูกชิ้นปลาเราใช้ชื่อแต้จิ๋ว

นอกจากนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องแตะตีตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง จีน พม่า และแถบยุโรปกว่า 10 ประเทศ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นจากความจนสู่การเป็นแบรนด์อาหารพื้นบ้านของ ส.ขอนแก่นนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและประสบการณ์มากมาย และที่ขาดไม่ได้คือการที่ต้องเอาชนะความจนด้วยความตั้งใจ

อ่านข้อมูล ส.ขอนแก่นเพิ่มเติม >>https://mgronline.com/smes/detail/9650000118616


ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายที่สาม คือ “ชนะจนบ้าบิ่น”

จากคนที่มีหนี้กว่า 30 ล้านบาท สามารถปลดหนี้ได้เพราะการขายขนมบ้าบิ่น ญาดา-ศิริญาดา อมรเวช เจ้าของร้าน “ชนะจนบ้าบิ่น” เล่าให้ฟังว่า มาเริ่มค้าขายทำตลาดอยู่ที่วัดบางจาก จ.นนทบุรี แห่งนี้ โดยการชักชวนของรุ่นพี่ให้มาช่วยทำตลาดที่นี่ช่วยกันหน่อย ตอนที่มาเปิดร้านใหม่ ๆ ไม่รู้ว่าจะขายอะไรดีจึงประเดิมด้วยน้ำมะพร้าวฯ กับน้ำตาลสดลองดูก่อน ปรากฏว่าขายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือ ทำไปทำมามี “เนื้อมะพร้าวน้ำหอม” ที่เหลือต่อวันปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดีรู้สึกเกิดความเสียดาย ก็เลยมองหาวิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ในที่สุดจึงมีไอเดียเรื่องการทำขนมที่ใช้เนื้อมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก ทำเป็นเมนูอะไรดี? จึงหวนนึกถึง “ขนมบ้าบิ่น” ที่เคยกินตอนเด็ก ๆ ขึ้นมาได้ว่า รสชาติที่แสนอร่อยยังจำได้ไม่เคยลืม ดังนั้นก็เลยลองทำขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อนดูว่าจะขายได้ไหมสรุปคือ ขายหมด! ทุกวัน จนตอนหลังต้องสั่งซื้อเป็นเนื้อที่ขูดให้พร้อมใช้เพื่อจะมาทำขนมบ้าบิ่นโดยตรงแทนเพราะเริ่มขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น

ย้อนเล่าถึงเส้นทางที่ฝ่าฟันมากว่าจะถึงวันนี้ที่พูดได้เต็มปาก “ชนะจน” แล้ว! สาเหตุคือมาจากการทำธุรกิจก่อนหน้าพอตนเองเรียนจบก็ใช้ชีวิตเป็น “ออฟฟิศไทม์” อยู่ประมาณ 10 ปี แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้อะไร ได้แค่เงินเดือนไม่มีเงินเหลือ เบื่อก็เลยลาออกมาค้าขายเป็นของตนเอง ก็เริ่มจากขายรถยนต์เพราะว่าตระกูลพี่น้องเปิดกิจการ “เต็นท์รถ” ขายรถยนต์มือสองกันอยู่แล้วที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เลยกลับไปเริ่มขายทีละคันสองคัน ตอนเริ่มต้นช่วงแรกและพอตอนหลัง ๆ เริ่มใช้เครดิตธนาคารด้วย เริ่มใหญ่โตขึ้น ตอนนั้นกิจการใหญ่ขึ้นขายรถได้เดือนละ 30 กว่าคัน ได้เยอะมาก แล้วตอนหลังคือเจอพิษเศรษฐกิจเล่นงานในช่วงเดียวกับที่ทั่วโลกต่างก็ประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ กิจการก็เลยล้ม! หมุนเงินไม่ทัน แล้วก็เกิดอุบัติเหตุชีวิตด้วย “เริ่มใช้หนี้ ตัดตอนแล้วก็คือเลิก และตอนนั้นรถยนต์มือสองก็ดร็อปลงด้วย ก็เลยเลิกไป เยอะค่ะมูลค่ารวม ๆ ก็ตกประมาณ30 ล้าน!เพราะว่าเราทำหลายกิจการด้วย แล้วเราก็ไปสร้างตึกเป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย ก็ดร็อป ๆ ลงและก็พยายามใช้หนี้จนหมด”

ปัจจุบันขนมบ้าบิ่นของทางร้านสามารถสร้างยอดขายได้วันละ 8,000 แต่ถ้า “เสาร์-อาทิตย์” วันละ 20,000 ซึ่งถือว่าทั้งสามารถปลดหนี้ 30 ล้านบาทได้และมีอาชีพที่สร้างรายได้ได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายนี้ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังย่อท้อหรือหมดไฟในการดำเนินชีวิตให้ลุกขึ้นสู่กับปัญหาต่างๆ เพื่ออนาคตที่เราต้องสร้างด้วยมือของเราเอง

อ่านข้อมูลชนะจนบ้าบิ่นเพิ่มเติม >> https://mgronline.com/smes/detail/9650000068895


มาต่อกันที่ผู้ประกอบการรายที่สี่ “กล้วยเถอะคับ กล้วยปิ้งภูเขาไฟ”

จากชีวิตติดลบหนี้ก้อนโตจากพิษโควิด ปลดหนี้ได้ด้วย “กล้วยปิ้งเงินล้าน” นายโอฬาร เอี่ยมสมบูรณ์ เผยว่า ชีวิตของเขาก่อนมาเปิดร้านกล้วยปิ้ง เขาล้มเหลวมาจากการทำร้านอาหารที่ต้องบอกว่า มันมากกว่าศูนย์ เพราะเป็นชีวิตที่ติดลบ ร้านอาหารที่สร้างมาโดนธนาคารยึดไปหมดเรียกว่าไม่เหลืออะไร การมาเริ่มต้นขายกล้วยปิ้ง เป็นสิ่งเราต้องทำเพื่อให้มีรายได้เข้ามา ไม่ได้คาดคิดว่าจะทำรายได้จนทำให้เราจับเงินเดือนละหลักหลายแสนบาทได้ ซึ่งผมจำได้วันแรกที่ขายหน้าร้านขายขนมทองม้วนของครอบครัว ตั้งโต๊ะเล็ก ขายวันแรกได้กำไรวันละ 100 บาท สูงสุดได้แค่ 300 บาท ลงทุนไปประมาณ 1,200บาท

หลังจากนั้น เป็นจุดเปลี่ยน เมื่อได้พยายามปรับจากกล้วยปิ้งธรรมดาให้ไม่ธรรมดา เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมองกล้วยปิ้งให้ต้องหันกลับมามองกล้วยปิ้งของเขา โดยการออกแบบท็อปปิ้งและน้ำมาราดบนกล้วยปิ้ง ซึ่งเป็นจุดขายเชื่อว่ายังไม่มีใครทำ ทำท็อปปิ้งและน้ำราดกล้วยปิ้งได้อลังการณ์และมีให้เลือกมากถึง 15 หน้าแบบนี้มาก่อน

จากวันแรกกำไร 100 บาท วันนี้ ยอดขายหลักแสนบาทต่อเดือน วันหนึ่งทางร้านมียอดขายสูงถึงวันละ 10,000 บาท มีลูกค้ามารอต่อคิวยาวเหยียดหลายสิบคิว ก่อนที่เจ้าของร้านจะมาตั้งร้านด้วยซ้ำ จากขายในรถซาเล้งพ่วงข้าง วันนี้ ขยับขึ้นมาขายบนรถฟู้ดทรัค ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ เจ้าของร้านเองก็มีความพยายามอย่างมาก เพราะจากวันแรกที่ตั้งโต๊ะเล็กขายหน้าบ้าน กำไรวันละร้อยสองร้อย จนมียอดขายเดือนละหลักแสนบาท ถ้ากล้วยปิ้งของเขาไม่อร่อยจริงก็คงทำไม่ได้

อย่างไรก็ตามเพราะความจนนั้นน่ากลัวบวกกับการเป็นหนี้ยิ่งทะวีคูณเข้าไปอีก แต่ผู้ประกอบการรายนี้สามารถเอาชนะกับอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยความพยายามและฝ่าฟันกับปัญหาที่ต้องพบเจอได้ในที่สุด

อ่านข้อมูลกล้วยปิ้งภูเขาไฟเพิ่มเติม >> https://mgronline.com/smes/detail/9650000028594


มาถึงผู้ประกอบการรายสุดท้าย “มะม่วงน้ำปลาหวาน เพลินลิ้น”

ผู้ประกอบการรายนี้นั้นมีเรื่องราวการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างหนักหน่วงเพราะเขาคือ “อดีตนักโทษค้ายา” แต่นั่นคืออดีตเพราะปัจจุบันเขาเองก็ได้พลิกชีวิตตัวเองและผันตัวมาเป็นพ่อค้าขาย “มะม่วงน้ำปลาหวาน แบรนด์ เพลินลิ้น” นายเก่งกิจ โชคพงศ์พัชร์ เจ้าของร้าน เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวชีวิตของเขา ตลอดชีวิตไม่เคยทำอาชีพสุจริต ผ่านการเข้าออกเรือนจำมาแล้วถึง 4 ครั้ง ชีวิตอยู่กับการค้ายาเสพติดมาตั้งแต่อายุ 17 ปี และการออกเรือนจำครั้งสุดท้าย เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ที่เขายอมตัดขาดจากอาชีพค้ายา และเสพยาตลอดชีวิต เดินหน้าขอประกอบอาชีพสุจริตเหมือนกับคนอื่นๆ

เริ่มมองหาอาชีพว่าจะทำอะไรดี เขาได้ไปนั่งดูน้องสาวขายมะม่วงน้ำปลาหวาน เห็นว่าน้องสาวขายดี ก็เลยบอกน้องสาวว่า อยากจะขายมะม่วงน้ำปลาหวานบ้าง น้องสาวก็ลงทุนให้ พร้อมกับให้เงินมาทำทุน 20,000 บาท ตอนนั้นเค้าไม่มีเงินเลย หลังจากติดคุกครั้งสุดท้ายคดียาเสพติดทุกอย่างถูกยึดไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย มีแค่รถกระบะหนึ่งคัน

อาศัยขับรถกระบะตระเวนไปขายมะม่วงน้ำปลาหวานตามตลาดต่างๆ ซึ่งไม่ได้ขายประจำที่ตลาดไหน เพราะต้องการจะดูว่าตลาดไหน น่าสนใจและขายได้ก็ตั้งใจว่าจะปักหลัก แต่ยังไม่ทันได้ปักหลักขายที่ไหน เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดที่เคยไปขาย จะไม่รับพ่อค้าขาจร เพราะกลัวโควิด ทำให้ไม่มีที่ขาย และต้องหยุดขายไปกว่า 2 เดือน ก่อนที่จะตัดสินใจมาปักหลักขายหน้า หมู่บ้านของตนเอง หมู่บ้านชลเทพ ตรงข้ามห้าง BIG C บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับการขายออนไลน์

หลังจากเริ่มมีคนรู้จัก มะม่วงน้ำปลาหวานเพลินลิ้นมากขึ้น จากการบอกต่อ ทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยมีรายได้ต่อวันประมาณ 6,000 บาท และถ้าเป็นช่วงเทศกาลมีรายได้ถึงวันละ 10,000 บาท ซึ่งกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 50% หลังจากนั้นได้เปิดขายแฟรนไชส์ และขายน้ำปลาหวาน ให้คนที่ต้องการจะมีอาชีพแต่ไม่มีทุน สามารถนำน้ำปลาหวานของเราไปขายต่อได้ ถ้าไม่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ ก็รับแค่น้ำปลาหวานของเราไปขายก็ได้ หรือ ถ้าต้องการซื้อแฟรนไชส์เราจัดอุปกรณ์ พร้อมขายให้เลยในราคา 25,000 บาท รายได้ส่วนใหญ่ของผมตอนนี้มาจากการขายหน้าร้าน ของผมเอง ส่วนรายได้จากการส่งน้ำปลาหวานให้พ่อค้า แม่ค้า นำไปขายต่อก็ยังไม่เยอะ แฟรนไชส์ก็เพิ่งเริ่ม

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ “เก่งกิจ” ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ทำให้เค้าสามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้มาจากน้ำพัก น้ำแรง จากการขายมะม่วงน้ำปลาหวานแบบไม่มีวันหยุด และประหยัดไม่ใช่จ่ายอะไรเลย ไม่สังสรรค์ ไม่ออกไปพบปะเพื่อนฝูง ขายของอย่างเดียว มีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ก็เป็นวันที่เตรียมของขาย และออกไปทำธุระให้เสร็จภายใน หนึ่งวัน ทำแบบนี้มาตลอดจนสามารถซื้อบ้านหลังแรกในชีวิตของเค้าได้ในราคา 4.7 ล้านบาทได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ได้ในที่สุด

แม้ชีวิตจะผ่านเรื่องราวที่ไม่ดีมามากมายแต่เมื่อวันหนึ่งลุกขึ้นสู้แต่ตัดขาดจากสิ่งไม่ดีเหล่านั้นและเริ่มมองหาหนทางสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับตัวเอง อาศัยความอดทน ความขยันและพยายามจนถึงที่สุด ก็จะพบเจอกับผลตอบรับที่สวยงามได้ในที่สุด

อ่านข้อมูลมะม่วงน้ำปลาหวานเพลินลิ้นเพิ่มเติม >> https://mgronline.com/smes/detail/9650000037696

อย่างไรก็ตามทุกอาชีพมีเหตุและผลเสมอ มีทั้งปัญหาและอุปสรรคมากมายให้ฝ่าฟัน เพราะฉะนั้นเราจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องมีความมุ่งมั่น ขยัน อดทนและพยามไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ SMEs ผู้จัดการขอเป็นหนึ่งกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญอยู่ให้สามารถผ่านพ้นและฝ่าฟันมันไปให้ได้ และขอส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการเป็นกระบอกเสียงส่งต่อไอเดียและเรื่องราวการสร้างอาชีพและสร้างรายได้จากเรื่องเล่าของผู้ประกอบการต่างๆ ให้เป็นแรงผลักดันและกำลังใจสำหรับผู้ประกอบการต่างๆ ที่กำลังพยายามพลิกชีวิตให้เติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น