วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักอาหารพื้นบ้านไทย ภายใต้แบรนด์ ส.ขอนแก่น หลายคนเข้าใจว่า ส.ขอนแก่น จะมีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดขอนแก่น แต่แท้จริงแล้ว เจ้าของแบรนด์ ส.ขอนแก่น ต้นกำเนิดมาจากกรุงเทพฯ เจ้าของเป็นคนกรุงเทพฯ และ บริษัทก็อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ที่ใช้แบรนด์ ส. ขอนแก่น ก็ต้องมาฟังจากการบอกเล่าของเจ้าของผู้ก่อตั้ง พร้อมกับฟังเรื่องราวกว่าจะมาเป็น ส.ขอนแก่น กว่า 30 ปี จนถึงปัจจุบัน
อยู่กับความยากจนมาตั้งแต่เด็ก ฝันว่าจะต้องร่ำรวยให้ได้
ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส.ขอนแก่น ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ชีวิตในวัยเด็กมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก ในสมัยนั้นต้องดิ้นรนที่จะเรียนหนังสือด้วยตัวเอง เรียนได้แค่โรงเรียนวัดเท่านั้น และด้วยความยากจนทำให้ดิ้นรนที่จะหาลู่ทางความร่ำรวย เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ตอนอายุ 22-23 ปี ในสมัยนั้น ได้ทำงานบริษัทหลายแห่ง และพบว่าถ้าทำต่อไปโอกาสที่จะร่ำรวยแทบจะไม่มีเลย ลาออกไปสมัครงานที่ใหม่ ทำแบบนี้อยู่ 5 บริษัท จนได้มาทำงานที่ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของโลก อย่าง ซีพี เป็นจุดเริ่มต้นว่าเค้าจะปักหลักทำงานอยู่ที่นี่ เพื่อหาประสบการณ์ ในตำแหน่งผู้บริหาร อยู่นาน 10 ปี ก่อนตัดสินใจลาออก หลังจากได้ประสบการณ์ตรงนี้และเห็นลู่ทางความร่ำรวย
ที่มาชื่อ ส.ขอนแก่น แบรนด์ตัวจริงเกิดในกรุงเทพฯ
ดร.เจริญ เล่าถึงที่มาของ ส.ชอนแก่น ว่า ชื่อ ส.ขอนแก่น มาจากคำว่า สินค้าจากขอนแก่น เริ่มตั้งเมื่อปี 2527 เริ่มจากกิจการเล็ก ๆ ซื้อหมูหยอง กุนเชียง จากจังหวัดขอนแก่นมาขายกรุงเทพ ซื้อมาขายไป ที่เลือกขอนแก่นเพราะที่นี่มีสินค้าประเภทนี้ชื่อดังอยู่หลายเจ้า เราไม่มีโรงงานก็ไปซื้อเค้ามาขายในกรุงเทพฯ แต่ต้องการสร้างแบรนด์ของเราเองให้ติดตลาด ช่วงที่ทำแบรนด์ตัวเองนั้นปัญหาคือการทำให้คนยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้าอาหารมันต้องคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางมาจากวัตถุดิบจนมาถึงโรงงานต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม มีความอร่อยคงเส้นคงวาลูกค้าถึงจะเชื่อ แบรนด์ถึงติดตลาดได้ ถ้าเราไม่ทำเรื่องมาตรฐานความสะอาดเหล่านี้แบรนด์ไม่ติดตลาดแน่นอน
“ในอดีตปัญหาภาพลักษณ์อาหารพื้นเมือง หรือ อาหารพื้นบ้าน หลายคนมองเข้ามาว่ามันไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะขั้นตอนการทำตัวหมูแผ่น หมูหยอง มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเลย การสร้างแบรนด์ทำได้ยาก ดังนั้น ก่อนสร้างแบรนด์ต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าก่อน หลังจากผมทำตลาดแบบซื้อมาขายไปได้ 2 ปี เริ่มเก็บเงินได้ ตอนนั้นคิดว่าจะต้องลงทุนทำโรงงานเอง เพราะต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ด้วยแบรนด์ ส.ขอนแก่น โดยลงทุนเปิดโรงงานครั้งแรก ด้วยเงินลงทุน 300,000 บาท ทุกขั้นตอนการผลิตต้องสะอาด ได้มาตรฐาน แต่ที่สำคัญ รสชาติจะต้องอร่อยเหมือนเดิม แบรนด์ที่ดีต้องมาจากคุณภาพที่ดี ถึงจะมีความยั่งยืน หลังจากนั้นก็ขยายไปทั่วประเทศ และไปต่างประเทศ ปัจจุบันส.ขอนแก่นขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นใน เอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา บางประเทศก็เข้าไปเปิดบริษัท และตั้งโรงงานอยู่ที่นั่นเลย"
ถอดบทเรียนการทำตลาดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ส.ขอนแก่น
ปัจจุบันสินค้ามี 2 ประเภท คือ เนื้อสุกรแปรรูปเราทำตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ มีการเลี้ยงสุกร เพาะพันธุ์สุกรของเราเอง จนกระทั่งแปรรูปสุกรเป็นอาหารสำเร็จรูป อีกประเภทหนึ่งคืออาหารทะเลแปรรูป เน้นเรื่องของลูกชิ้นปลา มีการทำแบบครบวงจรตั้งแต่ปลายน้ำย้อนไปหาต้นน้ำ เราผลิตลูกชิ้นปลาขายพอวอลุมมันโตเราก็ขยายเข้าไปสู่เรื่องประมง เข้าไปร่วมมือกับโครงการประมงต่าง ๆทำให้สามารถมีสัตว์น้ำมาป้อนโรงงานได้ เราทำธุรกิจสองประเภทเท่านั้น เนื้อสัตว์ใช้ชื่อ ส ขอนแก่น ส่วนลูกชิ้นปลาเราใช้ชื่อแต้จิ๋ว
แนวทางการทำตลาดของ ส.ขอนแก่น เริ่มจากตลาดประเทศไทยก่อน เข้าโมเดิร์นเทรด เข้าตลาดสด จากกรุงเทพก็ขยายจนครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย หลังจากนั้นเริ่มส่งออก และตั้งบริษัทในประเทศต่าง ๆ ที่มีลูกค้าเยอะ เช่น ฮอลแลนด์ผลิตแหนม หมูยอ ไส้กรอกอีสานที่นั่น กระจายทั่วยุโรป ที่อเมริกาเรากำลังจะเปิดโรงงาน ที่นิวยอร์กประมาณต้นปี 2023 ซึ่งปัจจุบันตลาดในประเทศยังเติบโตกว่า เพราะเริ่มจากประเทศไทย ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคนในแถบเอเชีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว ฟิลิปปินส์ชอบสินค้าประเภทนี้ ตอนนี้สัดส่วนการขายในประเทศไทยยังขายเยอะกว่า ส่วนต่างประเทศ มีส่งออกไป ฮ่องกง จีน พม่า และยุโรปอีก10 ประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน เดนมาร์ค ฮอลล์แลนด์ โครเอเชียฯลฯ
รับอานิสงส์ราคาหมูแพง เพราะมีฟาร์มเลี้ยงเอง
สำหรับในช่วงเนื้อหมูแพงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย เพราะเกิดโรคอหิวาต์ในสุกร ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดค้นพบวัคซีนที่ระงับโรคนี้ได้ และก็ลามไปทั่วโลก อย่างประเทศจีนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเค้าฝังสุกรเป็น ๆ 150 ล้านตัว ทั่วโลกก็เจอโรคเดียวกัน ทำให้ซัพพลายไม่พอดีมาน ตอนนี้ราคาสุกรก็กระชากขึ้นไป 40-50% ส่วนเรามีฟาร์มสุกรเองเราทำครบวงจร ต้นทุนของเราได้อานิสงส์ จากการเลี้ยงหมูตัวหนึ่งเดิมได้กิโลกรัมละ 70 บาท ราคาขึ้นไปกิโลละ 110-120 บาท ก็มีกำไรจากการเลี้ยงสุกร แต่หมูที่เลี้ยงที่ฟาร์มของเราไม่เพียงพอ ต้องไปซื้อหมูจากที่อื่นมาเพิ่มในราคากิโลละ 110 บาท ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำธุรกิจครบวงจรอาจบาดเจ็บเสียหายขาดทุน ส ขอนแก่นไม่กระทบมากนัก ถ้าทำเกษตรแปรรูปและไม่มีต้นน้ำคือเสี่ยง เพราะถ้าวัตถุดิบเกิดโรคระบาดขึ้นมา ปริมาณสุกรไม่เพียงพอการบริโภค ทำให้สินค้าราคาแพงขายไม่ได้
ในส่วนของการผลิต ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิต โดยนำเข้าเครื่องจักรมาจากประเทศเยอรมัน ส่วนทีมวิศวกร ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาครัฐช่วยกันคิดค้นเครื่องมือขึ้นมา ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้สินค้าของเราเป็นที่เชื่อถือ ทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืน เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น เครื่องทำหมูแผ่น ได้ขนาดความหนาเท่ากันและรวดเร็วต้นทุนถูกลง มาตรฐานได้ สินค้าไม่แพงเกินไป
ยกระดับเกษตรกรไทยเป็นเกษตรอุตสาหกรรม
ดร.เจริญ ได้แชร์ไอเดียฝากไปถึงเกษตรกรที่ต้องการจะยกระดับขึ้นมาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมว่า ที่ผ่านมา เกษตรกร หรือชาวบ้าน เลือกที่จะทำอะไรตามที่ตัวเองถนัด และได้มองว่าขายได้หรือไม่ ปัญหามาจากไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร ทำตามความถนัดที่บรรพบุรุษสอนมา ทำสินค้าได้แต่ขายไม่ได้ ต้องหันมาผลิตสินค้าที่ขายได้ เช่น คุณเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ยังไงก็ขายได้ แต่ถ้าคุณไปทำอย่างอื่นที่ตลาดไม่มี ทดลองขายก็ไม่โต โตแบบลุ่ม ๆดอน ๆ แต่ถ้าจับมือกันผลิต เริ่มจากเครื่องมือเกษตร นำมาใช้ร่วมกันแบ่งกันใช้ ช่วยให้ผลิตได้เยอะ ผลิตได้ต้นทุนต่ำ แต่ปัญหา คือ เกษตรกรส่วนมากไม่ใช่พ่อค้า พ่อค้าส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกร ความชำนาญไม่เหมือนกัน อันนี้เรียกว่า Stronger Together เมื่อไหร่รวมกันจะทำให้เกิดความเข้มแข็งแบบโดยรวม
จับตาแผนในอนาคต ส.ขอนแก่น
ดร.เจริญ กล่าวว่า แผนธุรกิจในอนาคต ส.ขอนแก่น ต้องการจะขายอาหารที่คนไทยนิยมกินในชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมาเราก็ได้ไปขายอาหารไทยในต่างประเทศมาแล้วหลายประเทศ แผนในอนาคตต้องจะขยายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะยุโรป และอเมริกา เช่น ฝรั่งเค้ากินสเต๊กเราก็ทำสเต็กขายเหมือนกันแต่เป็นสเต็กรสไทย ขายให้ฝรั่งที่นิยมชมชอบอาหารไทย หรือประเทศจีนเราก็เริ่มเข้าไปทำการตลาด โดยเข้าไปขายสินค้าที่คนจีนนิยมในรสชาติแบบไทย ๆ จากนี้ไปเราไม่ได้ขายแหนม หมูยอแล้ว เราขายทุกอย่างที่ต่างประเทศเค้าต้องการ เช่น อาหารไทยต่างชาติยอมรับว่าอร่อย ข้าวไทยก็อร่อย เราก็ทำออกไปชายมันก็ขายได้ เป็นต้น ยกตัวอย่างทุเรียนขายเป็นแสนล้าน มังคุดก็ขายเยอะแยะ ถ้าทุกคนหันมาพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นสายพันธุ์ดี และต่างคนต่างส่งออกก็ได้ หรือให้พ่อค้าคนกลางส่งออกก็ได้ ทั่วโลกมีประชากร 8,200 ล้าน และเมื่อทุกคนทำอย่างเดียวกันเหมือนกันก็ยังไม่พอขาย แต่ต้องทำให้ถูกตามความต้องการของตลาด
“อย่างไรก็ดี ต้องจับมือร่วมมือกัน ถ้าปล่อยให้ทำกันเฉพาะพ่อค้ากับเกษตรกร ยังไงเกษตรกรเสียเปรียบวันยังค่ำ ต้องจับมือกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รัฐบาลที่มารักษาความยุติธรรม เมืองไทยโชคดี ที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แถมยังมีแก้สในอ่าวไทย แต่เราจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรเหล่านี้เอามาแปรรูปมีมูลค่าเพิ่มเวลาส่งออกมีกำไร โดยต้องร่วมมือกับฝ่ายส่งออก ภายใต้การสนับสนุนกำกับดูแลของรัฐบาล เพราะเกษตรกรไม่รู้จะไปต่อรองกับใคร ต่างประเทศบางคนยังไม่เคยไปเลย แล้วจะค้าขายได้อย่างไร แต่ทุกคนต้องกล้าก้าวออกไป ตัวผมเองเริ่มต้นจากห้องแถวห้องเดียว ไม่มีทุน ลูกจ้างก็ไม่มี ผมทำ 9 ปี เป็นบริษัทมหาชน ถ้าทำถูกวิธี มุ่งมั่นจริง ธุรกิจจากเล็กไปหาใหญ่ และใหญ่ก็สามารถข้ามชาติได้ ถ้าทำให้ถูกวิธี และดิ้นรนเกิดการรวมตัวให้ภาครัฐเข้ามาเป็นตัวช่วย กำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นธรรม ประเทศชาติจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น”
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager