ชนะจนบ้าบิ่น ชื่อนี้มีศรัทธาที่ซ่อนอยู่ หลังการต่อสู้มากับวิกฤตหนี้สินกว่า 30 ล้านบาท จากธุรกิจก่อนหน้าที่ล้มครืน! ลงเพราะพิษเศรษฐกิจเล่นงาน เอาใหม่! ตั้งหลักในการทำกินต่อด้วยอาชีพค้าขาย ชนะจนใช้หนี้หมดได้ตอนมาขาย “บ้าบิ่น” พอดี
คุณญาดา-ศิริญาดา อมรเวช เจ้าของร้าน “ชนะจนบ้าบิ่น”เล่าให้ฟังว่า มาเริ่มค้าขายทำตลาดอยู่ที่วัดบางจาก จ.นนทบุรี แห่งนี้ โดยการชักชวนของรุ่นพี่ให้มาช่วยทำตลาดที่นี่ช่วยกันหน่อย ตอนที่มาเปิดร้านใหม่ ๆ ไม่รู้ว่าจะขายอะไรดีจึงประเดิมด้วยน้ำมะพร้าวฯ กับน้ำตาลสดลองดูก่อน ปรากฏว่าขายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือ ทำไปทำมามี “เนื้อมะพร้าวน้ำหอม” ที่เหลือต่อวันปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดีรู้สึกเกิดความเสียดาย ก็เลยมองหาวิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ในที่สุดจึงมีไอเดียเรื่องการทำขนมที่ใช้เนื้อมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก ทำเป็นเมนูอะไรดี? จึงหวนนึกถึง “ขนมบ้าบิ่น” ที่เคยกินตอนเด็ก ๆ ขึ้นมาได้ว่า รสชาติที่แสนอร่อยยังจำได้ไม่เคยลืม ดังนั้นก็เลยลองทำขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อนดูว่าจะขายได้ไหมสรุปคือ ขายหมด! ทุกวัน จนตอนหลังต้องสั่งซื้อเป็นเนื้อที่ขูดให้พร้อมใช้เพื่อจะมาทำขนมบ้าบิ่นโดยตรงแทนเพราะเริ่มขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น
“เราชอบขนมอยู่แล้ว เราก็ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เพิ่มแป้งนู่นแป้งนี่เราอยากได้ความกรอบ เราก็เพิ่มแป้งที่มันเพิ่มความกรอบ เราอยากได้ความนุ่มซึ่งพื้นฐานของแป้งข้าวเหนียวที่ใช้อยู่มันจะนุ่มอยู่แล้ว แต่เราเพิ่มความกรอบแล้วก็ให้มันกรอบอยู่นาน เราก็เพิ่มเข้ามา พอเริ่มปรับหวานไปเราก็ลด จนแบบ! ปรับไปหลายรอบมากกว่าจะได้สูตรนี้”
บ้าบิ่นแผ่นใหญ่! ไม่หวงเครื่อง จัดเต็มเนื้อมะพร้าวเน้น ๆ
ทำไมถึงใหญ่อย่างงี้? เจ้าของร้านชนะจนบ้าบิ่นบอกว่าเหตุผลที่ต้องทำเป็นแผ่นใหญ่ ๆ ต่างไปจากขนมบ้าบิ่นที่เขาทำกันทั่วไปก็เพราะว่า อยากจะใส่มะพร้าวให้เยอะ ๆ เพราะพอทำเป็นชิ้นเล็กมันใส่มะพร้าวได้น้อยไป ก็เลยกลายเป็นว่าทำขนมบ้าบิ่นที่มีขนาดแผ่นใหญ่กว่า อีกอย่างหนึ่งที่มีคนถามด้วย แล้วทำไมไม่เทลงไปทีเดียวทำเป็นแผ่นใหญ่ให้เต็มเตาไปเลย คำตอบก็คือว่าเจ้าของร้านเอาความสะดวก ว่าร้านขายลูกค้าในราคานี้ก็ให้ขนาดเท่านี้เลย ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีการชั่งน้ำหนักออกมาให้ได้ที่ 200 กรัม/แผ่น เท่ากันหมด ลูกค้าเองก็จะรู้สึกว่ามันได้เท่ากันหมดและส่วนทางร้านเองก็สามารถที่จะควบคุมในเรื่องของต้นทุนการผลิตได้ด้วย
มะพร้าวจะถูกจะแพง ก็ขายชิ้นละ 40 บาทพอ!
“ตอนที่เรากำหนดราคาตั้งแต่แรก คือเรากำหนดไว้แล้วว่ามะพร้าวมันจะมีขึ้น-ลง ตามฤดูกาล เราก็กำหนดไว้แล้วว่าช่วงมะพร้าวลงเราก็จะมีกำไรจากตรงนั้น ช่วงมะพร้าวขึ้นเราก็ไม่ปรับขึ้น เกณฑ์ของการตั้งราคาของที่ร้านนะคะ ทุกวันนี้คนยังคิดว่า เราขาย 40 บาทอยู่ได้อย่างไร! เพราะตอนนี้มะพร้าวแพง เราก็ไม่ได้เอาเปรียบลูกค้า แต่เดี๋ยวราคามะพร้าวก็ลงค่ะ”
ของอร่อยต้องรอหน่อย
เจ้าของ “ชนะจนบ้าบิ่น” ยังเล่าให้ฟังด้วย ตอนที่เปิดขายครั้งแรกเลยเป็นช่วงเดียวกับที่เกิด “โควิด19” ในระลอกแรกพอดี แต่ด้วยความที่ตลาดอยู่ในวัดก็เลยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อให้ขายต่อโดยที่ช่วงนั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าที่กับคนค้าขายแต่อย่างใดเลย เป็นการให้โอกาสในการทำกิน แต่ว่าในช่วงเวลานั้นก็ขายได้บ้างสลับกับเงียบ ๆ บ้างในบางวัน ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ยังดีกว่าเพราะหากไม่ได้ขายของเลยก็จะไม่มีรายได้เข้ามา ต้องจ่ายออกอย่างเดียวซึ่งอย่างนั้นคงไม่ไหวกันแน่ ๆ ก็เลยขายมาเรื่อย ๆ จากแต่ก่อนขายเฉพาะช่วง “เสาร์-อาทิตย์” พอตอนหลังการตอบรับจากลูกค้าดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยขายทุกวัน ไม่มีวันหยุด ยกเว้นว่าแม่ค้าเหนื่อยหรือไปซื้อของก็ถึงจะปิดร้านบ้างสัก1 วัน วันเปิดถ้าธรรมดาวันจันทร์-ศุกร์ ก็เปิด 10.00 น. ปิดบ่าย 4 โมงเย็น วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเช้าหน่อย 09.00 น. ปิดประมาณ 18.00 น.
“แต่ถ้าใครมาก็คือ ต้องมาจองคิวเอาไว้ก่อน เดี๋ยวนี้ลูกค้ารู้กันเองมาจองไว้ก่อนแล้วก็ไปไหว้พระ แล้วค่อยกลับมารับที่ร้านจะใส่กล่องเตรียมเอาไว้ให้ เพราะขนมบ้าบิ่นต้องใช้ระยะเวลาในการทำนาน ประมาณ 20 นาทีต่อ 1 แผ่น อย่าง 1 เตาเราก็ได้ 8 แผ่นต่อครั้ง(ต่อ20 นาที) ของเรามี 4 เตา(แก๊ส) และเตาไฟฟ้าอีก 1 เตา แต่ว่าก็มีหลุดเหมือนกัน ในช่วงที่มีลูกค้าเยอะ ๆ ลูกค้าไม่รอก็มี”
ยอดขายวันละ 8,000 แต่ถ้า “เสาร์-อาทิตย์” วันละ 20,000
เมื่อถามถึงยอดขายต่อวันบ้าง ก็ได้รับคำตอบมาว่าถ้าเป็นวันธรรมดา ปกติ “จันทร์-ศุกร์” จะได้อยู่ประมาณ200 แผ่น(ราคาแผ่นละ 40บาท) หรือตั้งแต่ 100-200 แผ่น/วัน ประมาณนี้ แต่ถ้า “เสาร์-อาทิตย์” จะได้เยอะหน่อย เต็มที่เลยคือ 500 แผ่น/วัน ทำไม่ทันเพราะว่ามีแค่ 4 เตา คนทำก็มี 2 คนช่วยกัน แต่ถ้าช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ก็จะให้น้องมาช่วยด้วย
ส่วนแผนในเรื่องการขยายกิจการหรือมีสาขาเพิ่มหรือไม่นั้น เจ้าของร้าน “ชนะจนบ้าบิ่น” ให้เหตุผลว่า“ ก็มีคนติดต่อเข้ามาเยอะนะคะ แต่เรามีความรู้สึกว่าถ้าเราควบคุมคุณภาพไม่ได้ ไม่มีกำลังคน คือเราเบื่อที่จะทำงานกับคนแล้ว กิจการสามารถโตได้ค่ะแต่เรายังไม่พร้อมตรงนั้นด้วย ต้องรอจังหวะนิดหนึ่ง ตอนนี้เราจำหน่ายสินค้าเป็นตัวอื่นอาจจะสอนเป็นคอร์ส เปิดคอร์ส ให้คนมาเรียนและก็ให้กำลังใจคน แต่ขอคนตั้งใจจริง ใครสนใจอยากมีอาชีพมาเรียนรู้กับเราได้ แต่เราไม่เปิดแฟรนไชส์ คือการก๊อปปี้ก๊อปปี้ทุกอย่างได้ แต่ก๊อปปี้ความสำเร็จไม่ได้ ก๊อปปี้ความตั้งใจไม่ได้”
“ชนะจน” จากหนี้ 30 ล้าน!!
คุณญาดา ย้อนเล่าถึงเส้นทางที่ฝ่าฟันมากว่าจะถึงวันนี้ที่พูดได้เต็มปาก “ชนะจน” แล้ว! สาเหตุคือมาจากการทำธุรกิจก่อนหน้าพอตนเองเรียนจบก็ใช้ชีวิตเป็น “ออฟฟิศไทม์”อยู่ประมาณ 10 ปี แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้อะไร ได้แค่เงินเดือนไม่มีเงินเหลือ เบื่อก็เลยลาออกมาค้าขายเป็นของตนเอง ก็เริ่มจากขายรถยนต์เพราะว่าตระกูลพี่น้องเปิดกิจการ “เต็นท์รถ” ขายรถยนต์มือสองกันอยู่แล้วที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เลยกลับไปเริ่มขายทีละคันสองคัน ตอนเริ่มต้นช่วงแรกและพอตอนหลัง ๆ เริ่มใช้เครดิตธนาคารด้วย เริ่มใหญ่โตขึ้น ตอนนั้นกิจการใหญ่ขึ้นขายรถได้เดือนละ 30 กว่าคัน ได้เยอะมาก แล้วตอนหลังคือเจอพิษเศรษฐกิจเล่นงานในช่วงเดียวกับที่ทั่วโลกต่างก็ประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ กิจการก็เลยล้ม! หมุนเงินไม่ทัน แล้วก็เกิดอุบัติเหตุชีวิตด้วย “เริ่มใช้หนี้ ตัดตอนแล้วก็คือเลิก และตอนนั้นรถยนต์มือสองก็ดร็อปลงด้วย ก็เลยเลิกไป เยอะค่ะมูลค่ารวม ๆ ก็ตกประมาณ30 ล้าน!เพราะว่าเราทำหลายกิจการด้วย แล้วเราก็ไปสร้างตึกเป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย ก็ดร็อป ๆ ลงและก็พยายามใช้หนี้จนหมด”
“ใช้หนี้จนตอนนี้มาขาย ”บ้าบิ่น” เพื่อที่จะไปต่อในชีวิตของเราเอง เพราะว่าเราหมดแล้ว และก็สบายใจแล้ว เราไม่ต้องหาอะไรมากแล้ว หมดแล้ว! ก็ประมาณ 5-6 ปีใช้หนี้หมด แล้วทรัพย์สินส่วนตัวของเราก็ขายออกไปด้วย คือพยายามตัดทุกอย่างเลยเพราะว่า ไม่อย่างนั้นนะดอกเบี้ยมันจะพัวพัน แล้วเราก็สบายใจด้วย ตอนนั้นเครียดไงมีหนี้เราก็เครียด จริง ๆ เราเพิ่งใช้หนี้หมดไปได้ประมาณปีเดียวนะคะ แต่ช่วงนั้นบ้าบิ่นก็ยังได้ช่วยอยู่ด้วย ก็เป็นที่มาของ “ชนะจน” เราต้องชนะให้ได้ เราจะมีความรู้สึกว่าพอชนะจน บ้าบิ่นชนะจน คือ เราชนะจนเพราะเขา ซึ่งทุกคนต้องมีศรัทธาค่ะ ศรัทธาจากชื่อก่อนเลย!”
สอบถามเพิ่มเติมโทร. 090-415-5597
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *