แต่เดิมอาชีพเพาะเห็ดหูหนู เกษตรกรจะยึดตามสูตรหลักของการทำก้อนฯ มีส่วนผสมอะไรบ้างก็ใส่ตาม ๆ กันมา ซึ่งถ้าชุดไหนมีปัญหาเห็ดเสียหายหมดเลยก็มี พอปรับใหม่ใช้หลักวิชาการช่วยพบว่า ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แตกต่างจากเดิมกว่าที่ทำมา!
จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิต “เห็ดหูหนู” เชิงการค้าแหล่งใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านเชิงสะพาน ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเดิมทีชาวบ้านมีอาชีพทำนา แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงหันมาเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริม และเริ่มมีรายได้ดีขึ้น มีตลาดมารองรับ จึงเปลี่ยนมาเป็นอาชีพหลัก มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน” โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน สมาชิกจำนวน 98 ราย มีโรงเรือนเพาะเห็ดรวมกันกว่า 500 โรงเรือน และในปี 2561 มีกลุ่มเพาะเห็ดที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพิ่มอีกคือ ชุมชนวัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี มีโรงเรือนเพาะเห็ดรวมกันประมาณ 100 โรงเรือน ซึ่งการผลิตได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐผ่านทางโครงการต่าง ๆ ด้วย แต่ทว่าเกษตรกรทั้งสองกลุ่มยังคงประสบปัญหาที่คล้ายกันคือว่า การผลิต “หัวเชื้อ” ไม่ได้คุณภาพทำให้ดอกเห็ดเล็กลง ออกดอกไม่สม่ำเสมอ การใช้สูตรอาหารยังไม่เหมาะสมทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง(โดยไม่จำเป็น) และในกระบวนการทำก้อนการนึ่งฆ่าเชื้อยังไม่ได้ประสิทธิภาพจึงเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดเชื้อปนเปื้อนและปัญหาศัตรูเห็ด ได้แก่ โรคและแมลง ที่ตามมา
ก้อนเชื้อเห็ดสูตรใหม่! ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
ดร.วิศรา ไชยสาลี นักวิจัยจาก สวทช. เล่าให้ฟังว่า เดิมปัญหาของเกษตรกรจากการได้พูดคุยกันก็คือว่า เขามีปัญหามาตั้งแต่เรื่องของการผลิต “ก้อนฯ” เลยหรือว่าหัวเชื้อ เขาใส่วัตถุดิบตามสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ดโดยที่ ไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละอย่างมันช่วยในเรื่องอะไรบ้าง บางครั้งใส่ไปเกินความจำเป็น เพราะทำตามแบบที่เคยทำต่อ ๆ กันมา ซึ่งพอทีมวิจัยเข้าไปให้ความรู้โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก วช.เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ก็จะบอกกับเขาว่า บางอย่างมันสามารถที่จะปรับ-ลดได้เพราะว่า บางอย่างถ้าใส่มากเกินไปมันก็ไม่ได้ดีกับเชื้อ มันยิ่งทำให้เชื้อเห็ดอ่อนแอมากกว่า เพราะว่าจะทำให้เชื้ออื่นเข้าไปง่าย ในขณะที่เห็ดหูหนูเป็นเชื้อที่อ่อนแอถ้าเทียบกับเห็ดชนิดอื่น ก็เลยเป็นที่มาว่าเกษตรกรยอมปรับเปลี่ยนกระบวนการตามที่แนะนำเขาในเรื่องแรก ต่อมาคือเรื่องของการผลิตที่มักจะมีปัญหาเรื่องของ “โรคและแมลง” เข้ามา เดิมใช้สารเคมีอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้ว่า ใช้สารเคมีตัวไหนที่จะช่วยเรื่องโรคและแมลงได้ ดังนั้นจึงได้เข้าไปแนะกระบวนการจัดการความสะอาดในโรงเรือนก่อน และช่วยดูว่าในช่วงไหนที่มีโรค-แมลงชนิดใดจะระบาดบ้าง หลังจากนั้นก็มีการสร้างความเข้าใจเรื่องของการใช้ “ชีวภัณฑ์” เข้ามา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับการบริโภค โดยแนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์ในกลุ่มพืชสมุนไพร เป็นหลักทดแทนการใช้สารเคมี
“พอเริ่มเก็บดอกได้จะเห็นเลยว่ามันช่วย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งจากเดิมผลผลิตเขาอยู่ที่ประมาณ 2 ขีดครึ่ง (หรือ 250 กรัม)
แต่ไม่เกิน 3 ขีด(หรือ 300กรัม)/ก้อน ต่อ1 รอบการผลิต หรือประมาณ 3-4 เดือน ตอนนี้ก็ช่วยให้ผลผลิตเขาเพิ่มขึ้นมา เป็น 3 ขีดครึ่ง(หรือ 350 กรัม) - 4 ขีด(หรือ 400 กรัม)/ก้อน ต่อรอบการผลิต4 เดือน ได้แล้ว”
โดยในการผลิตของเกษตรกร โรงเรือนเพาะเห็ด1 โรง จะบรรจุก้อนเชื้อเห็ดสำหรับทยอยในการให้ผลผลิต(ดอกเห็ด) ได้ประมาณ 3,000 ก้อน/โรงเรือน เป็นลักษณะของการผลิตต่อครั้งในจำนวนมาก ดังนั้นหากสามารถควบคุมทั้งเรื่องของต้นทุนการผลิตและคุณภาพที่ได้ ก็จะช่วยให้เกษตรกรมีความคุ้มค่าจากผลผลิตต่อรอบที่ได้เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ต่อยอดผลผลิตสู่ “ขนมเปี๊ยะไส้เห็ดหูหนู” เมนูสร้างมูลค่าเพิ่ม
ปกติเกษตรกรจะเน้นขายผลผลิตแบบสด เห็ดที่เก็บได้จะชั่งขายเป็นกิโลกรัมโดยมีผู้รับซื้อ เข้ามารับถึงที่เลย แต่ว่าก็จะมี “การแปรรูป” บ้างในช่วงที่ราคาเห็ดถูกลง เหลืออยู่ที่ 10-20 บาท/กก. มีการนำมาทำแปรรูปเป็น “แหนมเห็ด” ควบคู่ไปกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ด้วย หรือว่าทำเป็น “น้ำเห็ดเฉาก๊วย” ที่ใช้เห็ดหูหนูทำ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรเองก่อนหน้านี้ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปมาจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องของ “ขนมเปี๊ยะ” ที่เพิ่งจะมาทำเพิ่มในตอนหลังนี้ ก็เป็นการพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยในครั้งนี้เพื่อสร้างความหลากหลายเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย
“ขนมเปี๊ยะนี่พอเขาเห็นว่าโครงการเราเข้าไปตรงนี้ เราก็ให้ไอเดียเขาบอกว่าจริง ๆ เห็ดมันไม่จำเป็นต้องขายดอกสดอย่างเดียวนะ มันแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้อีก เขาก็เลยเกิดไอเดีย แล้วพอดีวันนั้นเราจัดงาน “วันเห็ดหูหนู” ก็คือวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องเห็ดหูหนูให้กับเกษตรกร ทั้งจังหวัดราชบุรีเลยก็มาในร่วมงานนี้กัน เขาก็เลยเกิดไอเดียว่าโอเคเขาทำขนมเปี๊ยะเป็น ลองใช้ไส้เห็ดจาก “เห็ดหูหนู” ดูดีไหม มันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่ม และจากงานดังกล่าวปรากฏว่า ขนมเปี้ยะไส้เห็ดหูหนู ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”
ปัจจุบันการแปรรูปเห็ดทำเป็น “ขนมเปี๊ยะไส้เห็ดหูหนู” โดยกลุ่มเพาะเห็ดชุมชนวัดแก้ว มีการเปิดรับออร์เดอและผลิตส่งให้กับลูกค้าแบบทำตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก และมีออร์เดอที่สั่งเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ในราคาราคากล่องละ40 บาท(มี6 ลูก) และส่วนทางกลุ่มของบ้านเชิงสะพานจะมีความถนัดในเรื่องของการทำ “แหนมเห็ด” มีส่วนผสมที่เป็นเนื้อหมูใส่อยู่ในนั้นด้วย ก็มีการเปิดรับออร์เดอผลิตส่งตามที่ลูกค้าสั่งมาเช่นเดียวกัน ถือเป็นอีกทางเลือกเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมทั้งในช่วงที่มีผลผลิตออกมากเกิน หรือแม้แต่ในช่วงที่ราคาดอกสดตกต่ำก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อีกทาง
จัดการ “ก้อนเห็ดเก่า” หมดอายุหรือปนเปื้อนเชื้อ แปรสู่วัตถุดิบนำมาใช้ซ้ำได้อีก!
ด้าน นายธวัชชัย ขันติสิทธิพร ทีมวิจัยร่วมจาก เอ็มเทค สวทช. ก็ได้ให้ข้อมูลด้วยเกี่ยวกับการจัดการ “ก้อนเห็ดเก่า” หมดอายุการให้ผลผลิตแล้ว รวมทั้งก้อนที่มีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนเชื้อ ว่าจากเดิมที่เคยเป็นภาระในการจัดการและมีจำนวนมากต่อครั้ง โดยทีมวิจัยได้มีการนำเทคโนโลยีการจัดการของเสียจากก้อนเห็ดเก่าด้วยเตาเผา “ระบบไพโรไลซิส” โดยใช้เชื้อเพลิงจากเศษไม้เหลือทิ้งภายในท้องถิ่น เข้ามาสาธิตให้กับเกษตรกรได้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ด้วย จากการที่ในก้อนเชื้อเห็ดเองยังคงมีความชื้นอยู่ และเมื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการเผาของเตาระบบนี้ ซึ่งเดิมเป็นเตาเผาถ่านชีวภาพ ก็จะเป็นการนำมาปรับสภาพเพราะว่ามีความชื้นอยู่ เตาเผานี้มันจะช่วยให้ไอน้ำที่มีอยู่ในระบบมานึ่งฆ่าเชื้อราต่าง ๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องมีการปล่อยไอน้ำเข้าไปหลังจากปรับสภาพแล้วสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน แลใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการผลิตก้อนเชื้อเห็ดใหม่ได้ โดยเตานี้สามารถจัดการก้อนเห็ดเก่าได้ครั้งประมาณ 50-60 ก้อน ภายใต้ต้นทุนค่าระบบเตาที่ถือว่าไม่สูงจนเกินไป(ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ผลิต) สามารถผลิตถ่านชีวภาพเพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงดินเพาะปลูกพืช ทดแทนการใช้พีทมอส เป็นอีกทางเลือกของการจัดการขยะเหลือทิ้งในการเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ที่น่าสนใจ
จากกระบวนการผลิตเห็ดที่ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ยังช่วยยกระดับและพัฒนาทักษะของเกษตรกร เกิดนวัตกรรมชุมชน เพื่อส่งต่อความรู้ให้คนในชุมชนและผู้ที่มีความสนใจทำเป็นอาชีพต่อไป นอกจากนี้ทางกลุ่มเกษตรกรยังได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี2565 รางวัลดีเด่นฯ ประเภทร่วมใจแก้จน ผลงาน“เห็ดหูหนูกู้วิกฤตแก้จนชุมชนบ้านเชิงสะพาน”จากสำนักงาน กพร. อีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติม โทร.081-692-5485 (ดร.วิศรา), 085-183-2577 (กลุ่มเพาะเห็ดบ้านเชิงสะพาน) และ 087-997-6049 (กลุ่มชุมชนวัดแก้ว)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *