อาชีพบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว อาจเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่เบื้องหลังของเพจท่องเที่ยวในออนไลน์ต่างก็มีบทบาทและเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจไม่น้อย แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเพจท่องเที่ยวที่มีอยู่ในช่องทางออนไลน์ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เหล่าบล็อกเกอร์จะมีวิธีการนำเสนอ รวมไปถึงเคล็ดลับในสายอาชีพนี้อย่างไรต้องติดตาม
...ที่พักหลักร้อย วิวหลักล้าน...
...ชาร์จแบตให้ชีวิต...
...จุดเช็คอินใหม่...
...สถานที่ดีต่อใจ...
...คาเฟ่ลับ ที่เที่ยวอันซีน...
เราอาจคุ้นตากับวลีเด็ดเหล่านี้ จากเพจท่องเที่ยวต่าง ๆ ใน Facebook ซึ่งเมื่อประกอบกับภาพสวย ๆ ที่ถูกจัดวางมาอย่างลงตัว หลายครั้งก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาเก็บกระเป๋าออกเดินทาง บางคนกล้าลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียวเป็นครั้งแรก บางคนกล้าไปในจุดหมายปลายทางที่ไม่เคยฝันถึง บางคนกล้ากระเตงลูกเล็ก ๆ ออกผจญโลก ยังไม่รวมชุมชนหลายแห่งที่คึกคักและเข้มแข็งขึ้นเพราะการมาถึงของนักท่องเที่ยว และแน่นอน การท่องเที่ยวนั้นช่วยดึงให้ผู้คนนำเงินออกมาหมุนเวียนใช้จ่าย พร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต
บุคคลเบื้องหลังเพจเหล่านี้ หรือที่เราเรียกกันว่า บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว จึงมีบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อย อาชีพนี้ยังกลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนผู้เสพสื่อให้กลายเป็นผู้ผลิตสื่อได้อย่างเต็มตัว ในเมื่อใคร ๆ ก็สร้างคอนเทนต์เองได้ จำนวนผู้คนที่ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวจึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละเพจก็มีแนวทางการนำเสนอที่หลากหลาย จนคาดการณ์ว่ามีเพจท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดตามระหว่าง 10,000 – 30,000 คน ประมาณ 500 เพจ และเพจท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 30,000 คนขึ้นไป ประมาณ 400 เพจ ในจำนวนนั้นมีหลายเพจทีเดียวที่มียอดผู้ติดตามสูงหลักล้าน ซึ่งในกลุ่มหลังนี้สามารถสร้างมูลค่าตลาดรวมถึงประมาณ 700 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา (ติดตามบทความอื่นๆ และ Side Story ที่น่าสนใจ ได้ที่ www.essential.co.th/travel-blogger และ Facebook Page : Casual Talk )
ครั้งนี้ ตัวแทนเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว จึงมารวมตัวกันในบรรยากาศสบาย ๆ บ่ายวันศุกร์ จิบกาแฟ และแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการเติบโตของอาชีพที่พวกเขารัก วงสนทนาเล็ก ๆ อบอุ่นเป็นกันเองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Coffee & Casual Talk ครั้งที่ 3 จัดขึ้นโดยคุณวิษณุ เทศขยัน และคุณอังสนา เทศขยัน ผู้ก่อตั้ง Once More Community ภายใต้แนวคิด “คุยง่าย ๆ ได้แรงบันดาลใจ” เพื่อชวนเพื่อน ๆ ในสายอาชีพต่าง ๆ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจคาดเดา
การเติบโตบนโลกออนไลน์ จากคนชอบเที่ยว สู่บล็อกเกอร์มืออาชีพ
“หากวันใดเห็นเราเลิกเที่ยว โปรดจงรู้ไว้ เดือนนั้นเงินกรูช็อต”
เที่ยวจนไม่มีจะแดก คือชื่อเพจที่บอกถึงตัวตนสนุกสนานของคุณอิฐ เจ้าของเพจได้เป็นอย่างดี ในฐานะคนชอบเที่ยว ที่อย่างไรก็จะขอเที่ยวแม้จะต้องกลับมากระเป๋าแฟบก็ตาม แนวคิดตรง ๆ ง่าย ๆ ที่พูดแทนความรู้สึกของคนส่วนมากได้ตรงใจ และดึงให้เจ้าของเพจกับคนอ่านเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งแตะหลักแสนในปัจจุบัน
เพจของคุณอิฐเป็นเพจยุคแรก ๆ ที่เน้นการใช้คลิปวิดีโอแทนภาพนิ่ง ประกอบกับการโพสต์ Caption สั้น ๆ แต่โดนใจ กลายมาเป็นจุดเด่นของเพจที่เรียกยอดไลค์ได้ไม่น้อยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดที่เริ่มมีรายได้จากการทำเพจ คุณอิฐก็ยังคงไม่ทิ้งงานประจำ และเลือกที่จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
“...อย่าให้การมีลูกเป็นอุปสรรคของการเดินทาง พาลูกท่องโลกกว้างกันเถอะ...”
นี่คือคำจำกัดความของเพจเที่ยวแบบกรู ซึ่งแม่ไข่ หรือคุณไข่มุก ผู้หลงรักการท่องเที่ยว มักจะพาลูกสาวตัวจิ๋ว น้องเมลลี่ ออกไปเปิดโลกกว้างด้วยกันเสมอ ด้วยต้องการเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไป ว่าแม่ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่านั้น มนุษย์แม่ยุคใหม่สามารถพาลูก ๆ ออกไปสร้างการเรียนรู้นอกบ้าน รวมถึงสร้างช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกันได้
สไตล์การท่องเที่ยวของครอบครัวแม่ไข่จะเน้นความเรียบง่าย สนุก ไม่ถูกหรือแพงเกินไป ใคร ๆ ก็เที่ยวตามได้ ปัจจุบันคุณไข่มุกหันมายึดอาชีพบล็อกเกอร์แบบเต็มตัว และเมื่อถามว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เพจมียอดผู้ติดตามถึง 5 แสนคน คุณไข่มุกตอบได้ทันทีว่า “ไม่ยึดติดกับยอดไลค์ แต่ทำในสิ่งที่อยากทำ ทำในสิ่งที่มีความสุข”
“ถ้ายังไม่ไป ห้ามตายเด็ดขาด!!”
คุณบีม เจ้าของเพจเที่ยวก่อนตาย Bucket list TH คือเด็กหนุ่มที่เพิ่งจบปริญญาเพียงไม่นาน แต่ในวงการ Blogger เราอาจต้องเรียกเขาว่าพี่ เพราะคุณบีมเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาไม่น้อย จากการเริ่มต้นทำเพจตั้งแต่อยู่ปี 1 เท่านั้นเอง โดยเริ่มถามตัวเองก่อนเลยว่าชอบอะไร และเมื่อได้คำตอบว่าชอบเที่ยว เขาก็ลงมือทำเพจทันทีโดยไม่รีรอ ด้วยความที่ยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นจึงเน้นเที่ยวแบบงบน้อย ลีลาการเขียนเป็นกันเอง มีคำไม่สุภาพบ้าง ซึ่งโดนใจผู้ติดตามเพจซึ่งเป็นคนวัยเดียวกัน และเมื่อเพจค่อย ๆ โตขึ้น ฐานแฟนเพจเหล่านั้นก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับคุณบีมเช่นกัน มีกำลังทรัพย์ที่จะเที่ยวด้วยงบที่แพงขึ้นหรือเที่ยวต่างประเทศได้
แม้ว่าทุกวันนี้ คุณบีมจะต้องปรับสไตล์การเขียนให้สุภาพขึ้น เพราะบางครั้งเป็นการทำคอนเทนต์ให้ลูกค้า แต่ลีลาการเขียนสนุก ๆ สบาย ๆ และให้ข้อมูลเส้นทางตามรอยที่ชัดเจน ก็ยังเป็นจุดเด่นที่ทำให้มีผู้ติดตามมากกว่า 300,000 คน เคล็ดลับของคุณบีม ไม่มีอะไรมากไปกว่า “อยากอ่านรีวิวแบบไหน เราก็เขียนแบบนั้นครับ”
“เราอยากให้คนอื่นได้เห็นโลก ในแบบที่เราเห็น”
เมื่อคู่รัก Backpack อย่างคุณรุ่งและคุณดาว เริ่มรู้สึกว่าข้อมูลท่องเที่ยวในโลกออนไลน์นั้นไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์คนชอบเที่ยวแบบตนเอง ทั้งคู่จึงเริ่มสร้างเพจ TripTH ทริปไทยแลนด์ ขึ้น เพื่อให้ข้อมูลรีวิวที่เที่ยว ที่พัก ที่กิน ที่จะเป็นประโยชน์กับคนไทย
และเมื่อเพจเริ่มสร้างรายได้หลังจากเดินหน้าทำไปได้ 2 ปี คุณรุ่งจึงตัดสินใจทำเป็นอาชีพอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีบริษัทและมีทีม Blogger ช่วยกันผลิตคอนเทนต์โดยมีพันธกิจว่า “อยากทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม” ซึ่งคุณรุ่งจะไม่เอาความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง แต่จะประเมินว่าคนอ่านชอบอะไร และพยายามทำคอนเทนต์ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้มากที่สุด และนี่เองเป็นเคล็ดลับที่ทำให้วันนี้คุณรุ่งมียอดผู้ติดตามถึง 3,000,000 คน
บล็อกเกอร์มากประสบการณ์ทั้ง 4 ท่าน ต่างก็วางตัวตนบนโลกออนไลน์ไว้แตกต่างกัน และทุกคนเริ่มทำเพจเพราะใจรัก ก่อนจะเริ่มเห็นศักยภาพในการทำเป็นอาชีพ หลายคนยอมรับว่า จากที่เคยเริ่มทำสนุก ๆ ในวันแรก ในวันนี้พวกเขาต้องคำนึงถึงการตลาด และวิ่งตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกโซเชียล ขณะเดียวกันก็ต้องรักษามาตรฐานและความเป็นตัวเองไว้ให้ได้ด้วย อย่างเช่นที่คุณรุ่งเชื่อว่า โจทย์ของลูกค้า กับคอนเทนต์ดี ๆ ยังสามารถไปด้วยกันได้เสมอ
เทรนด์ใหม่และความท้าทายของบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว
ถ้าใครก้าวเท้าเข้าสู่วงการบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวแล้ว ก็จะเข้าใจว่า การไปเที่ยวแล้วกลับมาเขียนรีวิว ไม่ได้ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิดแน่นอน เพราะบล็อกเกอร์จะต้องทำการบ้านกับข้อมูลเยอะมาก ๆ ต้องมีความไว ใครลงคอนเทนต์ก่อนชนะ ต้องรักษาความถี่ในการโพสต์สม่ำเสมอ ทั้งยังต้องสร้างสรรค์งานภาพและงานเขียนตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา และความท้าทายของพวกเขาก็ยังไม่หมดเพียงแค่นี้
Facebook Algorithm ...วิกฤตหรือโอกาส...
ขณะที่เจ้าของเพจทั้งหลายต่างกังวลกับการเอาชนะ Facebook Algo-rithm ซึ่งจะเป็นตัวคัดเลือกคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้แสดงบนหน้าฟีดของผู้ใช้งาน บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวบางส่วนกลับไม่สะทกสะท้าน แถมยังเห็นโอกาสจากเจ้า Algorithm นี้ด้วย
งานนี้ คุณบีมและคุณรุ่งต่างก็เห็นตรงกันว่า คอนเทนต์สำคัญที่สุด หน้าที่ของเราคือการทำคอนเทนต์ให้ดี โดดเด่น แตกต่าง เพียงพอที่จะดึงดูดให้คนอ่านใช้เวลากับโพสต์ของเรานาน ๆ เท่านี้ Algorithm ก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป แต่กลับจะเป็นตัวช่วยคัดสรรคอนเทนต์คุณภาพของเรา เสิร์ฟถึงหน้าฟีดของผู้อ่าน ทำให้มีคนเห็นผลงานของเราเยอะขึ้น ทั้งยังช่วยตรวจสอบและคัดกรองเพจที่ลอกเนื้อหาของคนอื่นมาด้วย
รับมืออย่างไร เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเป็นบล็อกเกอร์
จำนวนเพจท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้บล็อกเกอร์หน้าใหม่ที่มียอดติดตามเพียงหลักหมื่น เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด และอาจทำให้บล็อกเกอร์หลักแสนต้องสะเทือนได้เหมือนกัน นอกจากปัญหาการตัดราคากันระหว่างเจ้าเล็กและเจ้าใหญ่แล้ว คุณไข่มุกและคุณบีมยังสะท้อนให้เห็นเทรนด์ในปัจจุบันซึ่งเอเจนซี่เริ่มจ้าง Micro Influencer เจ้าเล็ก ๆ หรือเพจหลักหมื่นในการรีวิวมากขึ้น เนื่องจากมองว่าจำนวนเงินที่อาจจ้างเพจใหญ่ได้เพจเดียวนั้น สามารถจ้าง Micro Influencer ได้หลายเพจ กระจายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า
ขณะเดียวกัน เอเจนซี่บางแห่งยังให้ความสำคัญกับตัวตนหรือคาแรกเตอร์ของเพจเล็ก ๆ ที่โดดเด่น หรือตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ โดยไม่สนใจยอดผู้ติดตามหรือ Engagement เพราะลูกค้ามีงบที่สามารถ Boost โพสต์ได้อยู่แล้ว
แน่นอนว่าเทรนด์นี้อาจกระทบกับบล็อกเกอร์ที่ทำเพจท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก แต่บล็อกเกอร์มืออาชีพอย่างคุณรุ่งก็ยังยืนยันว่า Micro Influencer ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าเพจของเราดีจริง เชื่อว่าอย่างไรลูกค้าก็ต้องเลือกเรา เช่นเดียวกับคุณไข่มุกที่เห็นด้วยว่า ตัวตนของเพจมีความสำคัญต่อการเลือกจ้างของลูกค้ามาก และก็สำคัญกับผู้ติดตามเพจเช่นกัน หลายครั้งคุณไข่มุกเองจึงเลือกที่จะกระจายโพสต์รีวิวสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ให้อยู่ติดกันจนเกินไป เพื่อรักษาภาพลักษณ์และตัวตนต่อลูกเพจนั่นเอง
เส้นทางบล็อกเกอร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เพราะเส้นทางการเป็นบล็อกเกอร์อาจยังไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนเหมือนเวลาที่พวกเขาวางแผนออกไปเที่ยว แต่อย่างน้อย ทุกคนก็พยายามหาที่ทางของตัวเองในอนาคต โดยไม่หยุดเดินทางท่องเที่ยวและแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนทั่วไปเหมือนที่เคยทำมา
คุณอิฐ มองว่าเฟซบุ๊กยังคงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการนำเสนอคอนเทนต์ท่องเที่ยว มากกว่าแพลตฟอร์มไหน ๆ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความมั่นคงกว่า ซึ่งคุณอิฐมองว่าเพจของเราน่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มหรือช่องทางอื่นควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ในเฟซบุ๊กอย่างเดียว
เช่นเดียวกับคุณรุ่งที่มองเห็นความสำคัญของเว็บไซต์ แต่ก็ยังเชื่อว่า โซเชียลมีเดียจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ น่าจะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอีก และเพจท่องเที่ยวในเฟซบุ๊กอาจจะไม่ได้อยู่ยืนยงไปถึง 10 ปีข้างหน้า คุณรุ่งจึงวางแผนที่จะปรับตัวตามกระแสคลื่นโซเชียลมีเดียลูกใหม่ ๆ ให้ทัน รวมถึงปรับตัวรับการมาของ AI ตลอดจนพัฒนาตัวเองให้เป็น Content Developer ที่ดีให้ได้
ด้านคุณบีม ยังคงคิดหาช่องทางหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยยังคงเก็บการท่องเที่ยวและการทำเพจไว้เป็นงานอดิเรก คล้ายกับแผนของคุณไข่มุกที่อาจจะหางานอื่นทำควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ และยังเชื่อว่าเพจท่องเที่ยวน่าจะอยู่ต่อไปได้อีกนาน เพียงแต่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางของรายได้ในอนาคต
แม้ว่าเพจท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ทุกคนยังคงเชื่อในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพ ซึ่งจะเป็นการรักษาระดับความน่าเชื่อถือของเพจไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับคลื่นบล็อกเกอร์หน้าใหม่ ๆ และแม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวอาจจะเริ่มซ้ำเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ทุกคนเชื่อว่าคอนเทนต์ท่องเที่ยวจะยังพัฒนาไปต่อได้ หากสร้างสรรค์การนำเสนอด้วยสไตล์และมุมมองที่ต่างกัน
ส่งเสียงของเราให้ดังขึ้น... การรวมพลังของบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวในอนาคต
ไม่เพียงวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เหล่าบล็อกเกอร์ยังเริ่มคิดถึงการรวมตัวเพื่อก่อตั้งองค์กรหรือสมาคม เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างมาตรฐานหรือจรรยาบรรณวิชาชีพให้กับเพจท่องเที่ยว รวมถึงออกกฎหรือมาตรการดูแลทั้งบล็อกเกอร์และลูกค้าไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และไม่ให้ไปเอาเปรียบใครเช่นกัน
สมาคมยังเป็นความหวังที่จะผลักดันวงการท่องเที่ยวไทยให้ได้มาตรฐานขึ้น ทุกวันนี้เหล่าบล็อกเกอร์ส่วนใหญ่รับงานรีวิวจากลูกค้าถึงร้อยละ 80 ปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ พวกเขาต้องควบคุมทิศทางการรีวิวให้ออกมาในเชิงบวกเสมอ ไม่สามารถวิจารณ์ข้อบกพร่องของลูกค้าได้อย่างตรงไปตรงมา แต่หากเป็นคอนเทนต์ของตัวเอง พวกเขากล้าที่จะตำหนิรสชาติอาหารหรือการให้บริการของโรงแรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบล็อกเกอร์หลายคนมองว่าพวกเขาควรซื่อสัตย์ต่อคนอ่านด้วยการรีวิวตามจริง เพื่อให้คนอ่านได้ทราบข้อเท็จจริง และลูกค้าเองก็จะได้เสียงสะท้อนจริง ๆ กลับไปปรับปรุงแก้ไข สมาคมหรือองค์กรกลางอาจจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ เพื่อยกระดับการทำงานของบล็อกเกอร์ โดยเปลี่ยนจากการรับใช้ลูกค้า เป็นการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทั้งวงการ
ขณะเดียวกัน หากเกิดการรวมตัวขึ้น พวกเขาก็จะเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันเองหากมีบล็อกเกอร์คนไหนได้รับความไม่เป็นธรรม ปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างเช่น ถูกตัดเครดิตและขโมยภาพไปใช้ การไปแจ้งความนั้นยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้จริง บางเพจต้องอาศัยวิธีการให้ลูกเพจของตนช่วยกันรีพอร์ตเพจที่ทำความผิดแทน ในกรณีนี้ พวกเขาต้องการองค์กรกลางที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง หรือส่งให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น จนสามารถขึ้นบัญชีดำเพจที่ทำผิดกติกาเพื่อให้เอเจนซี่รับทราบเป็นวงกว้างได้
ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมอาจช่วยยกระดับมูลค่าด้านการตลาดของทุกเพจให้เป็นมาตรฐาน ทำให้ทุกเพจได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และไม่จำเป็นต้องตัดราคากันอีกต่อไป ทั้งยังสามารถรวมพลังกันประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ไม่กระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ คือข้อดีของการจับมือรวมตัวกันเป็นสมาคมของบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว ซึ่งล้วนมาจากฐานอาชีพที่หลากหลาย หากสามารถสร้างมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้จริง ก็จะช่วยเป็นที่พึ่งให้บล็อกเกอร์เองเวลาเจอกับปัญหา และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้าขึ้น จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาในการทำการบ้านต่อ ว่าสมาคมจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานรัฐ หรือเอเจนซี่เข้ามาอยู่ร่วมกันหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ซึ่งเหล่าบล็อกเกอร์ก็เห็นด้วยว่า ดีกว่าต่างคนต่างทำอย่างแน่นอน
และนี่คือเส้นทางการเติบโตของเหล่าบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวเจ้าของเพจหลักแสนและหลักล้าน ที่ต้องผ่านบทพิสูจน์ทั้งการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์คุณภาพเพื่อสังคม การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและลูกเพจ ตลอดจนการก้าวตามกระแสเทคโนโลยีไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และก้าวต่อไปในการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรของตัวเองนั้น ก็น่าจับตาว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ และจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไร
เหล่าบล็อกเกอร์รุ่นพี่ยังฝากทิ้งท้ายถึงบล็อกเกอร์มือใหม่ว่า ถ้าใครอยากกระโดดลงมาทำเพจท่องเที่ยว ก็ขอให้เริ่มลงมือทำเลย เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจ มีเป้าหมาย รักและมีความสุขในสิ่งที่ทำ รวมถึงเข้าใจการทำคอนเทนต์ท่องเที่ยว ถ้าคุณทำเพียงเพราะอยากได้เงิน วันหนึ่งคุณจะไปไม่รอด แต่ถ้าทำเพราะความรักจริง ๆ อย่างไรก็ไปรอด
...เพราะกาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าใครคือตัวจริงในเส้นทางสายนี้...
เรียบเรียงโดย นิชนันท์ กิตติคุณ
ภาพโดย โชติกา พรมจักร์
ติดตามบทความอื่นๆ และ Side Story ที่น่าสนใจ ได้ที่ www.essential.co.th/travel-blogger และ Facebook Page : Casual Talk
ฟัง Podcast การพูดคุยของบล็อกเกอร์ทั้ง 4 คนได้ที่
Youtube : Casual Talk Travel Blogger Ep1
Spotify : Travel Blogger Ep.1
Apple Podcasts : Casual Talk
soundcloud : Travel Blogger Ep.1
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager