"กัญชา" ต้นไม้แห่งทัณฑสถานที่จองจำนับทศวรรษ! มทร.เปิดโรงเรือนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกใน กทม. เพื่องานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ หนุนวิสาหกิจชุมชนร่วมมือเป็นเครือข่าย พร้อมเปิดเวทีหาทางออกให้วิสาหกิจชุมชนมีรายได้
วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี (มทร.) พระนคร และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิดอาคารโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบปิดต้นแบบ "กัญชาต้นแรก ณ กรุงเทพมหานคร" บริเวณชั้นดาดฟ้า คณะวิทยาศาสตร์ มทร.พระนคร พร้อมแลกเปลี่ยน พูดคุยกับตัวแทนรัฐวิสาหกิจชุมนุมที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายปลูกกัญชาทางการแพทย์จากหลายจังหวัด
โดย ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผช.รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ที่เริ่มต้นในระดับเขตสภาพจังหวัดโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และ โรงงานส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า ในระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่มีเปิดให้มีเสรีกัญาชา ที่ใช้ในทางเศรษฐกิจหรือสันทนาการ แต่อนุญาตให้ปลูกเพื่อการแพทย์ได้ ดังนั้นกรณีที่จะให้ครัวเรือนปลูกได้ จำนวน 6 ต้นนั้นยังไม่สามารถทำได้ แต่มีช่องทางที่ให้วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งหรือรวมตัวเป็นเครือข่ายสามารถขออนุญาตเพื่อปลูกได้ แต่ต้องมีขั้นตอนสำคัญ คือ การเข้ามาร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลและมองว่าติดปัญหาในขั้นตอนการขอใบอนุญาตปลูกกัญชานั้น ตนแนะนำว่า ขั้นตอนการเขียนขออนุมัตินั้น ต้องระบุให้ชัดเจน ถึง สถานที่ปลูก การทำโรงเรือน วัตถุประสงค์ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ คือ ปลูกเพื่อการแพทย์ หรือการวิจัยเท่านั้น ที่สำคัญต้องระบุชื่อสถาบันการแพทย์ที่จะนำผลผลิตมอบให้ด้วย เช่น กรมการแพทย์แผนไทย หรือ องค์การเภสัชกร
ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลของวิสาหกิจชุมชนต่อรายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนปลูกกัญชา นั้นยอมรับว่าหากปลูกให้กับองค์การเภสัชกรรมไม่สามารถขายเพื่อทำรายได้ทันที เพราะองค์การเภสัชกรต้องนำไปปรุงเป็นยาก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้องค์การเภสัชกรรมมีพื้นที่ปลูกเพื่อนำมาผลิตยาภายใต้องค์การ ดังนั้นในแนวทางดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยากที่รัฐวิสาหกิจชุมชนจะปลูกกัญชาเพื่อสร้างรายได้ แต่มีแนวทางหนึ่งคือ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายใต้ ยูเอสอาร์ หรือ มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม หรือ รพ.สต. เพื่อให้นำไปผลิตยาและเมื่อได้ยาเพื่อแจกจ่ายกับผู้มีความต้องการ จึงให้ผู้ที่ได้รับยานั้นใช้รูปแบบบริจาคผ่านการหยอดตู้ รายละ 300 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ดีในขั้นตอนของการปรุงยานั้นมีรายละเอียดสำคัญคือการอนุมัติสารในกัญาชาจากยูเอ็นที่อาจใช้เวลาปลดล็อค นานถึง 6 เดือนถึง 1 ปี
"วิสาหกิจชุมชนแม้จะลงทุนและปลูกเองได้ แต่ต้องดูกฎระเบียบ ทั้งนี้ยอมรับว่ามีภาคเอกชนเรียกร้องให้นโยบายกัญชานั้นสร้างรายได้ เป็นวงจรธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างหารือ ดังนั้นระหว่างนี้ขอให้วิสาหกิจชุมชนศึกษากระบวนการปลูก และยื่นเรื่องขออนุญาตภายในเดือนมีนาคมนี้" ศ. (พิเศษ) นพ.สำเริง กล่าว
ด้าน ดร.เภสัชกร อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนกัญาชาเสรีทางการแพทย์ ว่า จำเป็นต้องปรับกฎหมายและระเบียบเพื่อให้นโยบายดังกล่าวตอบโจทย์ทั้งทางการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ ทั้งนี้ยอมรับว่าการปลดล็อคกัญชานั้นจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายภาคส่วนโดยต้องรอผลพิจารณาจากยูเอ็นร่วมด้วย โดยเฉพาะสารซีบีดี ขณะที่การขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์นั้น ในหน่วยงานของไทย นอกจากให้ องค์การอาหารและยา (อย.) พิจารณาแล้ว ต้องมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมตรวจสอบด้วย
"กระบวนการแก้กฎหมาย อยู่ระหว่างหารือในสภา หากยูเอ็นปลดซีบีดี ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ และผ่านการรองรับ เชื่อว่าจะทำให้เราหายใจได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีในการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ที่มีเมดิคอลฮับรองรับ และต่างประเทศจับตา และเมื่อต่างประเทศมีความต้องการผลิตภัณฑ์ของไทย ต้องคุยกับกระทรวงพาณิชย์ด้วย ดังนั้นเพื่อการเตรียมพร้อมขอให้เตรียมองค์ความรู้ให้พร้อม และเมื่อความต้องการเกิดขึ้นจะสามารถทำได้ทันที เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมัน" ดร.เภสัชกร อนันต์ชัย กล่าว
ขณะที่ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มทร.พระนคร กล่าวว่า สิ่งสำคัญของวิสาหกิจชุมชนกับกระบวนการขออนุญาตปลูกสามารถผ่านขั้นตอนการขออนุญาตคือ เป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา ส่วนที่วิสาหกิจชุมชนเจอปัญหาอาจต้องกลับไปพูดคุยอีกครั้งและแก้โจทย์ตรงประเด็นที่จะร่วมกับรพ.สต. ส่วนวิสาหกิจชุมชนที่คาดหวังว่าจะปลูกกัญชาเพื่อสร้างรายได้จากการจำหน่ายนั้น ตามกฎหมายยังไม่อนุญาต ดังนั้นผู้ที่ลงทุนไปแล้วและอยากปลดหนี้ ขอให้คิดว่าปีแรก คือปีที่ต้องลงทุน ส่วนปีที่สองนั้นถึงจะคุยกันได้ ส่วนที่ต้องการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้สถาบันขายนั้น และแบ่งรายได้ ที่ถือเป็นการร่วมทุนนั้น จะไม่สามารถแจ้งว่าคนนี้ขายได้เท่าไร แต่อาจสรุปเป็นยอดรวมว่าแต่ละรายขายได้เพียงต้นละ 10 บาท
"ขั้นตอนการขออนุญาตนั้นสำคัญเพราะต้องทำให้สมบูรณ์แบบทั้งโรงเรือน สถานที่ปลูก วัตถุประสงค์ เพราะหากทำโรงเรือนไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ อย. จะไม่มาตรวจ เพราะหากมาตรวจร่วมกับหน่วยงานของจังหวัด และ ป.ป.ส.แม้พบความไม่พร้อมเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ โรงเรือนแห่งนั้นจะถูกขึ้นบัญชีดำไป 2 เดือน" รศ.สุภัทรา กล่าว