รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาปรับแก้กฎระเบียบใหม่ เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถสกัดกั้นการส่งออกชิปจากผู้ผลิตรายต่างๆ ให้กับ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ซึ่งรวมถึง TSMC ของไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก
ข้อจำกัดทางการค้าต่อหัวเว่ยเป็นหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาหารือกันระหว่างการประชุมในช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ขณะที่แหล่งข่าวคนหนึ่งเผยว่า ข้อเสนอกีดกันชิปหัวเว่ยยังไม่แน่ว่าจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่
ทั้งนี้ หากแนวทางดังกล่าวได้รับการอนุมัติจริงก็จะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 2 ของโลก รวมไปถึง TSMC ซึ่งผลิตชิปให้กับทั้ง HiSilicon ที่เป็นบริษัทลูกของหัวเว่ย และบริษัทคู่แข่งอย่างแอปเปิลอิงค์และควอลคอมม์อิงค์
หัวเว่ย กลายเป็นเหยื่อรายสำคัญในสงครามช่วงชิงความเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยวอชิงตันพยายามล็อบบี้ชาติพันธมิตรทั่วโลกให้กีดกันหัวเว่ยออกจากโครงการพัฒนา 5G โดยอ้างว่าอุปกรณ์ที่หัวเว่ยผลิตอาจกลายเป็นเครื่องมือสอดแนมของรัฐบาลปักกิ่ง ขณะที่หัวเว่ยเองยืนกรานปฏิเสธข้อครหานี้มาโดยตลอด
การจะกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตส่งชิปให้กับหัวเว่ยนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องแก้ไขกฎที่ชื่อว่า Foreign Direct Product Rule ซึ่งกำหนดให้สินค้าต่างชาติบางชนิดที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ต้องถูกควบคุมภายใต้กฎหมายอเมริกัน
ข้อเสนอที่มีการหยิบยกขึ้นมานั้นกำหนดให้รัฐบาลวอชิงตันบังคับให้ผู้ผลิตต่างชาติที่ใช้เครื่องมือผลิตชิปของอเมริกาต้องขออนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ก่อนจะส่งออกให้กับหัวเว่ย ซึ่งถือเป็นการขยายอำนาจควบคุมการส่งออกที่อาจสร้างความขุ่นเคืองต่อชาติพันธมิตรทั่วโลก
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังไม่มีถ้อยแถลงใดๆ ในประเด็นนี้ แต่โฆษกกระทรวงคนหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ข้อครหาต่างๆ นานาที่สหรัฐฯ มีต่อหัวเว่ย โดยเฉพาะเรื่องการขโมยความลับทางการค้า “ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องออกใบอนุญาตอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น และสหรัฐฯ ยังคงมีข้อกังวลหลายอย่างเกี่ยวกับหัวเว่ย”
ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่สัญชาติจีนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน ขณะที่โฆษกหญิงของ TSMC ก็บอกว่าบริษัทไม่มีนโยบายตอบข้อซักถามที่ยังเป็นแค่ “สมมติฐาน” หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง
รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยในเดือน พ.ค. ปี 2019 โดยอ้างเรื่องภัยคุกคามความมั่นคง ส่งผลให้ผู้ผลิตทั้งอเมริกันและต่างชาติต้องขอใบอนุญาตพิเศษจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในการส่งออกสินค้าแก่หัวเว่ย แต่ถึงกระนั้นพวกเจ้าหน้าที่อเมริกันสายต่อต้านจีนก็พบว่ายังมีห่วงโซ่อุปทานอีกหลายจุดที่อิทธิพลสหรัฐฯ ยังเข้าไปไม่ถึง
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลทรัมป์ก็ไม่เห็นด้วยกับการบีบคั้นจีนมากไปกว่านี้ทั้งที่เพิ่งจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก นอกจากนี้ยังกังวลว่าข้อจำกัดที่มากเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดการถ่ายเทนวัตกรรมออกนอกประเทศ ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นผลดีต่อคู่แข่งของสหรัฐฯ
บริษัทหลักทรัพย์ เอเวอไบรต์ ซีเคียวริตีส์ (Everbright Securities) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์รายใหญ่ของจีนเผยในรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ผู้ผลิตชิปส่วนใหญ่ล้วนต้องอาศัยเครื่องมือที่ผลิตโดยบริษัทไฮเทคของอเมริกัน เช่น KLA, Lam Research และ Applied Materials เป็นต้น
“ไม่มีสายการผลิตใดในจีนที่ใช้แต่อุปกรณ์ที่ผลิตในจีน ดังนั้นการจะผลิตชิปออกมาสักชุดโดยไม่พึ่งเครื่องไม้เครื่องมือของสหรัฐฯ เลยจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก” เอเวอร์ไบรต์ ระบุ