xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ผนึก “สิงห์” เนรมิต 1,300 ไร่ จ.อ่างทอง เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
ก.อุตฯ จับมือ “เครือสิงห์” เนรมิตพื้นที่ 1,300 ไร่ จ.อ่างทอง พัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ดันเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน คาดในปี 2560 ชัดเจนในรูปแบบดำเนินงาน และภายใน 3 ปีเริ่มลงมือก่อสร้าง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันอาหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงค์) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) จับมือบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ลงนามดำเนินโครงการพัฒนา World Food Valley Thailand บนเนื้อที่ราว 1,300 ไร่ ที่ จ.อ่างทอง ให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน

นางอรรชกากล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของระบบเศรษฐไทยอนาคต การขับเคลื่อนนโยบายและแผนอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม และการนำผลงานเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศสู่ยุค 4.0 ควรให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหาร 2) การจัดระบบการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก และ 3) การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคต และช่องทางการค้าในเวที

อีกทั้งกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ S Curve ในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่กว่า 20,000 ราย 2) การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีอัตราการขยายตัวให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี และ 3) การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถค้าขาย ส่งออกได้บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มในตลาดเดิมและตลาดใหม่จนทำให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี

“ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงานว่า “ประชารัฐร่วมใจประเทศไทยเป็นครัวของโลก” และมุ่งสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ TOP 5 ให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า”

รมต.ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการประชารัฐอย่างแท้จริงตามนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมอาหารโดยมีบริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น เป็นภาคเอกชนที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ และความชำนาญด้านการส่งออกเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี โดยภาครัฐจะเข้ามาดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงได้มอบหมายให้สถาบันอาหารเป็นหน่วยงานที่จะช่วยประสานงาน ระหว่างภาครัฐอื่นๆ ให้แก่เอสเอ็มอี โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 100 ราย สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกอาหารได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท/ปี
กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร เอสเอ็มอีแบงค์ และ สสว. จับมือ สิงห์  คอร์เปอเรชั่น  ทำ MOU พัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand
ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการพัฒนา World Food Valley Thailand ว่า สถาบันอาหาร เอสเอ็มอีแบงก์ และ สสว. ร่วมกับบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่จ.อ่างทอง เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ความร่วมมือจะประกอบด้วย 1) ร่วมมือในการศึกษาพัฒนาความเป็นไปได้โครงการพัฒนา World Food Valley Thailand 2) ร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารและบุคลากร รวมถึงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจ(Ecosystem) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) ร่วมมือในการส่งเสริม ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของประเทศ 4) แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้โครงการ World Food Valley Thailand ประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว และ 5) ร่วมมือดำเนินกิจกรรม/โครงการอื่นๆ ตามที่ทั้ง 4 ฝ่ายเห็นสมควร

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ รองผู้อํานวยการสถาบันอาหาร และที่ปรึกษาโครงการ World Food Valley Thailand เสริมว่า หากโครงการประสบผลสำเร็จ อัตราการขยายตัวของการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปจะมีอัตราการขยายตัวในแต่ละปีเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 4.5- 5% ต่อปีจากปัจจุบันการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปอัตราการขยายตัวแต่ละปีอยู่ในระดับ 2% และยังจะช่วยให้ยอดส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปของไทยเลื่อนอันดับจากอันดับที่ 15 ของโลกเป็นอันดับที่ 5

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด Eco-Industrial Estate ภายในจะมีทั้งการพัฒนา นวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ การพัฒนาธุรกิจ การลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ฯลฯ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2560 จะมีความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินงาน และภายใน 3 ปี จะสามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้

สำหรับโครงการ World Food Valley เป็นโครงการที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและเป็นโครงการนำร่องโดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี โดยขณะนี้ได้มีสิ่งก่อสร้างที่ทางสิงห์คอเปอเรชั่นได้ดำเนินการไปแล้วคือโรงไฟฟ้า เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท และเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมสิ่งปลูกสร้างที่ลงทุนไปแล้ว)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น