xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เล็งโปรโมตตราสัญลักษณ์ “รสไทยแท้” ทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.อุตสาหกรรม นำทัพหน่วยงานรัฐฯ ยกระดับคุณภาพอาหาร ชูโปรโมตตราสัญลักษณ์ “รสไทยแท้” ไปทั่วโลก หวังสร้างรสชาติอาหารไทยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เน้นร้านอาหารไทยในต่างแดนกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงโครงการ “ส่งเสริมมาตรฐานอาหารไทย และความเป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติอาหารไทยสู่ภาคอุตสาหกรรม” (Authenticity of Thai Food Industry) ว่า ล่าสุดได้นำนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร พร้อมคณะผู้บริหารสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว หวังยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยในทุกมิติ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนการพัฒนาเอสเอ็มอีในการผลิตเมนูอาหารแปรรูปให้มีรสชาติไทย หรือ Authentic Thai Taste โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นน้ำซอส หรือผงปรุงรสให้อยู่ในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปที่ยังคงรสชาติ และกลิ่นอายของความเป็นอาหารไทยไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะปรุงที่ไหนก็จะได้รสชาติอาหารที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการให้ได้ 500 รายต่อปี นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสร้างมาตรฐานอาหารไทยให้แก่ภาคการบริการโดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่มากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งมาตรฐานด้านการเลือกใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องครบถ้วนตามสูตรต้นแบบการปรุงอาหารของไทย และด้านรสชาติอาหารไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์จะได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน Authenticity of Thai Food Industry เพื่อรับรองว่าเป็นอาหารรสไทยแท้

นอกจากนี้ สถาบันอาหารยังเป็นหน่วยงานดำเนินงานหลัก ร่วมด้วยหน่วยงานบูรณาการ ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะร่วมกันส่งเสริมภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การวางแผนการจัดการคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพและความปลอดภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นสากลโดยการวิเคราะห์และทดสอบรสชาติ รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งให้การรับรองมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ส่งเสริมช่องทางการตลาดในต่างประเทศ และให้การรับรองมาตรฐาน Authenticity of Thai Food เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน บูรณาการความร่วมมือให้ครอบคลุมในทุกมิติของการส่งเสริมมาตรฐานอาหารไทย และความเป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติอาหารไทยสู่ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ยกระดับและพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สำหรับความคืบหน้าของโครงการในส่วนของการส่งเสริมภาคการบริการอุตสาหกรรมอาหารไทยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานอาหารไทยนำร่องทั้งหมด 13 เมนู แบ่งเป็นอาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบ และข้าวเหนียวมูนมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทยจากผู้ปรุงต้นแบบจำนวน 7 ราย มาร่วมกำหนดมาตรฐานอ้างอิงอาหารไทยโดยการปรุงอาหารไทย และจัดกิจกรรมทดสอบทางประสาทสัมผัสโดยการชิม และทำการทดสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้เครื่อง Electronic nose และ Electronic tongue ที่สามารถรับรู้กลิ่นและรสชาติต่างๆ เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลใช้เป็นค่ามาตรฐานในการอ้างอิงจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การรับรองมาตรฐานอาหารไทยเข้ามาช่วยในการตรวจวัดเพื่อคำนวณค่ากลิ่นรส และรสชาติค่าความเผ็ด ความเค็ม ความหวาน ความเปรี้ยว และอูมามิ ซึ่งจะได้มอบเครื่องหมาย Authenticity of Thai Food Industry เพื่อรับรองว่าเป็นอาหารรสไทยแท้ให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศในลำดับต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น