xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอาหารไทย9.7แสนล้าน ผวาบาทแข็งฉุดคำสั่งซื้อใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารเผยการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9.72 แสนล้านบาทโต 7% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมว่าจะมีมูล 9.5 แสนล้านบาท จากปัจจัยการส่งออกจะขยายตัวทั้งกุ้ง สับปะรด น้ำตาล ผู้ส่งออกจับตาค่าเงินบาทหลังแข็งค่าหวั่นฉุดออเดอร์ใหม่

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมเผยข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 497,153 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยทั้งปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ในช่วงต้นปีจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญมาจากสินค้าส่งออกหลักที่คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกุ้งและสับปะรด น้ำตาล ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น มีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับหลายประเทศต้องการนำเข้าสินค้าอาหารมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตในประเทศที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งเช่นเดียวกับในช่วงครึ่งปีแรก และจะเอื้อต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่ที่จะส่งผลกระทบด้านบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในครึ่งปีหลัง คือ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสินค้าประมงไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกหลักของไทย อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย. 2559) มีมูลค่า 474,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นใน 9.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป ตลาดส่งออกหลักขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+32.9%)

ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ ขยายตัวดีในกลุ่มตลาดเดิม ได้แก่ ญี่ปุ่น (+9.0%) และสหรัฐฯ (+13.3%) เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ สับปะรด กระป๋อง กุ้งแช่แข็ง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลายตัวลง ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีขนาดตลาดรองลงไปส่วนใหญ่หดตัวลง ได้แก่ แอฟริกา (-6.1%) และตะวันออกกลาง (-14.2%) โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ขณะที่ตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อย่างมันสำปะหลังที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข้าวโพดในประเทศจีนมีราคาถูกและนำมาใช้ทดแทนมันสำปะหลังมากขึ้น รวมทั้งวัตถุดิบมันสำปะหลังของไทยมีปริมาณลดลงจากภัยแล้ง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังติดตามภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทใกล้ชิดที่ล่าสุดมีการแข็งค่าขึ้นจากต้นปีถึง 3% มาเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 34.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าเพิ่มอีกเพราะเงินทุนไหลเข้าไทยจำนวนมากโดยปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)การผลิตใหม่ที่จะเข้ามาช่วงสิ้นปีนี้ที่จะเสนอราคาได้ลำบากมากขึ้น

"แม้ว่าเอกชนส่วนหนึ่งจะทำประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อบาทแข็งค่าขึ้นการเสนอราคาเพื่อรับออเดอร์ใหม่ก็จะลำบากขึ้นแน่นอนและหากค่าบาทของไทยไม่ได้สะท้อนตามค่าเงินของประเทศคู่แข่งที่มีฐานการผลิตเช่นไทยก็จะยิ่งลำบาก" นายวัลลภกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น