xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกเอกชนประเมินส่งออก คาดเกษตร-อาหาร-อุตสาหกรรมมีแววฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” นัดเอกชนถกประเมินส่งออกเป็นรายกลุ่ม เผยข้าว น้ำตาล ดีขึ้น แต่ยาง มัน ลด ส่วนอาหารดีขึ้นทุกตัว หลังตลาดมีความต้องการ ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร อัญมณี และไลฟ์สไตล์ แนวโน้มสดใส พร้อมยืนยันเป้าหมายการส่งออก 5% ไว้เป็นเป้าทำงาน

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยส่วนใหญ่ประเมินว่า แนวโน้มการส่งออกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารคาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 33,939 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% เพิ่มจากเดิม 1.9% กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก คาดว่าจะส่งออกได้ 123,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.1%ลดลงจากเดิม 4.9% กลุ่มแฟชั่น มูลค่า 13,859 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.6% ลดลงจากเดิม 4.8% กลุ่มไลฟ์สไตล์ มูลค่า 2,915 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% เพิ่มจากเดิม 3.5%

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการส่งออกที่ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ทำให้กรมฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ 5% แม้ที่ผ่านมา หน่วยงานอื่นจะปรับลดลง หรือมองลดลง ซึ่งจะปรับเป็นเท่าไรก็ได้ แต่เป้าหมายของกรมฯ ยังยืนไว้ที่ 5% เอาไว้เป็นเป้าในการทำงาน และเอาไว้เป็นเป้าให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศรับไปทำงานเพื่อผลักดันการส่งออก

นางมาลี กล่าวว่า การประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตร พบว่า ข้าวจะส่งออกได้ดีขึ้น คาดว่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9% น้ำตาล เพิ่มขึ้น 20% จากเดิม 4% เพราะตลาด CLMV มีความต้องการมากขึ้น แต่ยางพารา จะลดลง 10% เพราะราคาตกต่ำ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่มันสำปะหลัง คาดว่าจะลดลง 10% เช่นเดียวกัน เพราะจีนลดการนำเข้าหันไปใช้ข้าวโพดทดแทน

ส่วนกลุ่มอาหาร คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.2%เพิ่มจาก 2.7% โดยเฉพาะอาหารทะเล จะส่งออกเพิ่ม 3.1% หลังอันดับการค้ามนุษย์ดีขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีขึ้น ทูน่ากระป๋อง ก็จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น หลังไม่มีปัญหาวัตถุดิบ กุ้ง คาดเพิ่ม 12% จากเดิม 4% หลังคู่แข่งเจอโรคระบาด แต่ไทยไม่มี ไก่ เพิ่ม 5% โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นจะดีขึ้น และหากเกาหลีเปิดตลาดก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก และตลาดอังกฤษจะได้รับผลดีจาก Brexit เพราะอาจมีการปรับนโยบายนำเข้าไม่ใช้ของอียู กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน ดีขึ้น ผัก ผลไม้ คาดเพิ่ม 5% โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋อง น้ำมะพร้าว และยังพบว่าตลาดจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มีความต้องการผลไม้ไทยเพิ่ม ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้มีความต้องการผัก และผลไม้มากขึ้น

นางมาลี กล่าวว่า ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม ประเมินว่า อิเล็กทรอนิกส์ จะเพิ่มขึ้นแค่ 2% จากเดิม 4% เพราะอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดเหลือ 0.5% จากเดิม 4% เพราะมีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ยานยนต์และชิ้นส่วน คาดว่าเพิ่ม 5% แม้รถ ECO ไปสหรัฐฯ จะลดลง แต่รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ SUV และ PPV จะส่งออกได้ดีขึ้น ยอดรวมส่งออก 1.22-1.25 ล้านคัน เม็ดพลาสติก คาดโต 3% ลดจาก 5% เพราะตลาดโลกชะลอตัว และจีนลดนำเข้า ผลิตภัณฑ์ยาง ลดลง 5% จากเดิมโต 3% เพราะเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องต่อน้ำมัน ส่วนวัสดุก่อสร้าง จะโต 2% ลดจากเดิม 7% เพราะมีการย้ายฐานผลิตไป CLMV และสินค้าส่วนใหญ่ถูกใช้ป้อนโครงการเมกะโปรเจกต์ในประเทศมากกว่าส่งออก ขณะที่เครื่องจักร คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% เพิ่มจากเดิม 3% เพราะตลาดแอฟริกา และ CLMV มีความต้องการเพิ่ม

ทางด้านกลุ่มแฟชั่น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ คาดโต 10% เครื่องนุ่งห่ม ลด 2% เพราะถูกตัดจีเอสพี บางส่วนย้ายฐานไป CLMV ผ้าผืนและเส้นด้าย ลด 2% เครื่องหนัง รองเท้า และเครื่องเดิมทาง คาดโต 2% ส่วนกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ คาดเพิ่ม 5% เพิ่มจากเดิม 2% ของขวัญของชำร่วยของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว เคหะสิ่งทอ ของเล่น คาดเพิ่ม 5% โดยเฉพาะการสั่งซื้อในตลาดออนไลน์ ส่วนเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงานทำจากพลาสติก คาดโต 3% โดยเฉพาะตลาด CLMV มีความต้องการเพิ่มขึ้น

ขณะที่กลุ่มสุขภาพและความงาม ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ กำลังอยู่ระหว่างการนัดหารือ แต่ประเมินว่า มีแนวโน้มส่งออกดีขึ้นทุกรายการ ภาพรวมน่าจะโตได้ 6.5% และกลุ่มสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป คาดเพิ่ม 5% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 5% ทองคำยังไม่ขึ้นรูป ลด 2% น้ำมันดิบ ลด 20% เลนส์ เพิ่ม 2% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว กล้อง และอุปกรณ์ เพิ่ม 11.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น