xs
xsm
sm
md
lg

ดันนิคมฯ จ.อ่างทองของ “สิงห์” สู่ World Food Valley Thailand

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันอาหาร-เอสเอ็มอีแบงก์-สสว.จับมือ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น MOU พัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ผุดนิคมฯ จ.อ่างทอง พื้นที่ 2,000 ไร่ ดันเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทย และภูมิภาคอาเซียน

วันนี้ (19 ก.ย.) สถาบันอาหารร่วมกับบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ธนาคารพัฒนาพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่จังหวัดอ่างทอง ให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนา World Food Valley Thailand ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ และมุ่งเป้าสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารสู่ยุค 4.0 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่รายได้ประชากรต่อคนต่อปีอยู่ในระดับ 5,000 ดอลาร์สหรัฐต่อปีเพิ่มเป็นระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

“กระทรวงตั้งเป้าลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอาหารอีก 5 แห่งภายใน 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังศึกษารายละเอียด ซึ่งมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่เป็นกำลังในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 20,000 ราย”

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ รองผู้อํานวยการสถาบันอาหาร และที่ปรึกษาโครงการ World Food Valley Thailand คาดว่าหากโครงการประสบผลสำเร็จ อัตราการขยายตัวของการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปจะมีอัตราการขยายตัวในแต่ละปีเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 4.5-5% ต่อปี จากปัจจุบันการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปอัตราการขยายตัวแต่ละปีอยู่ในระดับ 2% เท่านั้น และยังจะช่วยให้ยอดส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปของไทยเลื่อนอันดับจากอันดับที่ 15 ของโลกเป็นอันดับที่ 5

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ “เวิลด์ ฟูด วัลเลย์ ไทยแลนด์ : World Food Valley Thailand” กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและทำตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เตรียมพัฒนาโครงการเวิลด์ ฟูด วัลเลย์ ไทยแลนด์ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหาร บนเนื้อที่รวมประมาณกว่า 2,000 ไร่ ที่ จ.อ่างทอง เงินลงทุนกว่า 4,800 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนา 1,300 ไร่ และเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค/โครงสร้างพื้นฐานประมาณ 800 ไร่เงินลงทุนกว่า 4,800 ล้านบาท

“เบื้องต้นเรามีบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่อยู่ในเครือ 8 บริษัทลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว และมีผู้ประกอบการสนใจสอบถามข้อมูลเช่าพื้นที่ลงทุนแล้วกว่า 100 ราย โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าการพัฒนาพื้นที่จะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี และเห็นผลการลงทุนชัดเจนภายใน 5 ปี” นายจุตินันท์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น