xs
xsm
sm
md
lg

รมว.สธ.หวังรับฟังความเห็นช่วยปรับปรุง “บัตรทอง” ปชช.สุขภาพดี ระบบยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. จัดรับฟังความเห็นพัฒนาระบบ “บัตรทอง” รมว.สธ. หวังนำระบบสุขภาพไปสู่เป้าหมาย พัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้าน ช่วยประชาชนมีสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ย้ำชัดไม่มีล้มระบบหลักประกันสุขภาพ

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2559 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการระดับเขต และภาคประชาชน จากทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 450 คน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมากว่า 15 ปีแล้ว โดยต้องเหลียวหลังศึกษาสิ่งที่ผ่านมา เพื่อมองอนาคตและมุ่งไปข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายทั้ง สธ. และ สปสช. คือ “ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน” และไม่เคยมีคำกล่าวล้มระบบหลักประกันสุขภาพฯ ไม่มีการยึดระบบ เพราะเป็นระบบของประชาชน ไม่มีใครมายึดหรือล้มได้ ขณะที่คำว่า “ก้าวไกลไปด้วยกัน” คือ สิ่งที่เราต้องทำร่วมกันอย่างวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ซื้อบริการ หรือผู้ให้บริการ ซึ่งต่างทำหน้าที่เพื่อความสมดุลนำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ขณะนี้ประเทศไทยมีนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ในแง่ของระบบสุขภาพ คือ การดำเนินการระบบสุขภาพบนพื้นฐานของการสร้างคุณค่า ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศอาจสูงถึง 4 แสนล้านบาท และนับวันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทำอย่างไรให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณค่าและทำประโยชน์โดยเฉพาะให้กับประชาชนได้มากที่สุด แต่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแพทย์รุดหน้าจนตามไม่ทัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้น หากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่า และทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพจำนวน 4 แสนล้านบาทเพียงพอได้

“การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นเวทีหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ได้ สำหรับกลยุทธ์การนำไปสู่ความสำเร็จในนโยบายประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน ของทั้ง สธ. และ สปสช. คือ การพัฒนาความเป็นเลิศระบบสุขภาพใน 4 ด้าน คือ 1. ด้านการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกลุ่มวัย ทั้งอาหาร สิ่งแวดล้อม คุณภาพสถานบริการ ทำให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง 2. ด้านการรักษา มีการพัฒนาและสร้างภาคีเครือข่ายการบริการที่ชัดเจน จับมือกับหน่วยบริการทุกสังกัดเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่เรียกว่าประชารัฐ 3. ด้านบุคลากรสุขภาพ ต้องมีแผนการพัฒนาและผลิตที่ชัดเจนให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะระบบแพทย์ปฐมภูมิ และ 4. ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน” รมว.สธ. กล่าวและว่า การพัฒนาความเป็นเลิศทั้ง 4 ด้านนี้ จะเดินหน้าไปได้ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล และโปร่งใสตรวจสอบได้ ดังนั้น จึงหวังว่า การรับฟังความเห็นในปีนี้จะนำระบบสุขภาพไปสู่เป้าหมายได้ และหากต่างฝ่ายเปิดใจพูดคุยกัน เชื่อว่า ไม่มีทางที่ระบบสุขภาพของประเทศจะถึงทางตัน

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข การปรับหลักเกณฑ์กำหนดค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระบวนการรับฟังความเห็นปี 2559 นี้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 13 เขต มีผู้แสดงความเห็นทั้งสิ้น 8,929 คน ในการประชุมวันนี้จะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นในระดับประเทศอีกครั้ง และจะมีการสรุปรวมรวมความเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. ในการปรับปรุงระบบบต่อไป

สำหรับการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต 2. มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. การบริหารจัดการสำนักงาน 4. การบริหารจัดการกองทุนฯ 5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 6. การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ์


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น