"กิจการเพื่อสังคม" (Social Enterprise) ถูกหยิบยกและพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยนี้ เริ่มต้นอาจเป็นเพียงกระแสที่ “ใครไม่ทำ ไม่ได้” แต่เมื่อผ่านไปสักระยะก็พิสูจน์ว่า เป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้สังคม และกิจการนั้นๆ ก็ยังสามารถเติบโต เข้มแข็ง และขยายตัวได้
วันนี้ CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นบริบทใหม่ที่สร้างให้ภาคธุรกิจเติบโตและอยู่คู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน แต่จะทำ CSR อย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยังเป็นโจทย์ที่หลายธุรกิจตั้งคำถาม
ในงานสัมมนา “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวทางพระราชดำริ ได้เชิญวิทยากรมาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดการทำ CSR ที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุม โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี), นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล และมล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
รุ่งโรจน์ บอกว่า ในมุมของเอสซีจี องค์กรที่พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต้องสร้างให้บุคลากรมีจิตสำนึกต้องประกอบด้วย 1.ความเป็นธรรม 2.ความเป็นเลิศ 3.คุณค่าของคน 4.ความถือมั่นต่อความรับผิดชอบของสังคม ดังนั้น หมายความว่าองค์กรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องสร้างให้คนในองค์กรมี 4 บริบทนี้ ควบคู่ไปกับจริยธรรม
“เอสซีจีให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมมานาน แต่สิ่งที่ทำนี้ต้องเกิดขึ้นภายใต้จิตสำนึกของบุคลากร เราดึงให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม เพราะถ้ามีส่วนร่วมแล้วจะเกิดความเข้าใจ ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ต้องปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ การพัฒนาภาคธุรกิจสิ่งที่คุณต้องเข้าใจคือ การมีส่วนร่วมของพนักงาน ของลูกค้า และคนในชุมชน เราอยู่ตรงไหนก็พัฒนาชุมชนตรงนั้น เมื่อเราใช้ของเขาแล้ว สุดท้ายก็ต้องคืนให้เขา เช่น ใช้ทรัพยากรอะไรไปก็ต้องคืนสิ่งนั้นให้กับชุมชนด้วย”
ขณะที่ กฤษฎา ให้มุมมองการทำ CSR ว่า กลุ่มมิตรผลทำธุรกิจน้ำตาล ที่ต้องเกี่ยวข้องคือ เกษตรกรชาวไร่อ้อย ดังนั้น บริษัทต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ทั้งบริษัทและชาวไร่เติบโตไปและอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ซึ่งปัจจัยที่เกษตรกรดำรงอยู่ได้คือ ราคา ต้นทุน และผลผลิต จึงทำให้บริษัทมิตรผลไม่ใช่แค่รับซื้อ แต่ทำธุรกิจโดยดูตั้งแต้ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การปลูก ออกมาเป็นผลผลิต และราคา
บริบทที่องค์จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องรู้ว่า ตัวเองทำอะไร อยู่กับใคร ก็พัฒนาสิ่งที่เราทำอยู่และที่เราอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ในโลกยุคปัจจุบันก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี เราต้องไม่ปฏิเสธสิ่งนี้ แต่ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ให้เหมาะสม
ด้าน มล.ดิศปนัดดา ให้แง่คิดว่า การเริ่มต้นทำ CSR ให้มองย้อนกลับไป CSR ไม่ใช่แค่การให้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพราะการแลกเปลี่ยนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักร่วมกันคือ การใช้เงินไม่ใช่การทำ CSR เสมอไป
เหล่านี้เป็นอีกมุมมองด้าน CSR ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า ไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่อย่าง "เอสซีจี" หรือ "มิตรผล" เท่านั้นที่ทำได้ แต่บรรดาธุรกิจรายเล็ก รายย่อย ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ความยั่งยืนนี้ได้
เพราะ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" อยู่ที่ "แนวคิด" ไม่ใช่ขนาดของกิจการ
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *