สถาบันไทยพัฒน์ สานความร่วมมือกับภาคเอกชน ต่อยอดบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ในกลุ่มผู้สูงวัย พัฒนาธุรกิจให้พร้อมรองรับต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ภายใต้รูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise รับลูกกรมสรรพากรเตรียมออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า
จากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุมีอยู่ราว 10.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งหมด
ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.78 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.3 จำแนกเป็นเพศชาย 2.23 ล้านคน (ร้อยละ 59.0) และเพศหญิง 1.55 ล้านคน (ร้อยละ 41.0) โดยสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุที่ทำงานในสี่อันดับแรก เป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างร้อยละ 63.1 เป็นการช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 18.2 เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 12.8 และมีผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นนายจ้างอยู่ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ภาคเอกชนสามารถดำรงบทบาทเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งในรูปของการจ้างงานผู้สูงวัยในตำแหน่งที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสมรรถภาพของร่างกาย และการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการซึ่งมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปทาน (Supply) ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรสูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในตลาดผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปสงค์ (Demand) ด้วยเช่นกัน”
ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในกลุ่มผู้สูงอายุ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” หรือ “Age-Friendly Business” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ มีการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจให้พร้อมรองรับความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ การพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ในลักษณะที่เป็น CSR-in-process และเพื่อให้องค์กรธุรกิจในกลุ่มที่มีความพร้อม พัฒนาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยพนักงานเกษียณอายุ การแปลงสภาพชมรมผู้สูงอายุในสังกัดของหน่วยงานให้เป็นกิจการที่เลี้ยงตัวเองได้ ในลักษณะที่เป็น Social Enterprise
แพลตฟอร์มดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ทำงานได้ใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ โดยจะเริ่มจากการศึกษาและประมวลแนวคิดและทิศทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise การรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบและแนวทางในการขับเคลื่อน และการนำร่ององค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนา ‘ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย’ รวมทั้งการเผยแพร่กรณีตัวอย่าง ตลอดจนผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยกิจกรรมแรก จะเป็นการระดมความคิดและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจเดิมหรือพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Focus Group: Sustainability Forum for Older Persons ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสที่ 23 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. - 16.00 น. ณ ห้องบอลรูม ฟอร์เย่ ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก (เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า)
ภาคเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-Friendly Business) หรือสนใจเข้าร่วมหารือในเวที Focus Group ดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://agefriendly.biz ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
"สรรพากร" เล็งลดภาษี 2 เท่าจ้างคนแก่ทำงาน
ก่อนหน้านี้ ทางกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งเป็นมาตรการถาวร เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการดูแลคนสูงอายุ เนื่องจากประเทศกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุและรัฐบาลมีภาระในการดูมากขึ้น
ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในอนาคตคาดว่ารัฐบาลจะปรับการจ่ายเงินให้กับคนชรา โดยผู้ที่มีรายได้สูง หรือมีฐานะดีร่ำรวย อาจจะไม่ได้เงินเบี้ยยังชีพอีกต่อไป เพื่อประหยัดเงินนำไปใช้ช่วยเหลือดูแลสังคมด้านอื่นๆ ที่ยังต้องใช้เงินอีกมาก เช่น เรื่องสาธารณสุข หรือ การศึกษา เป็นต้น