xs
xsm
sm
md
lg

“ฐาปน”ชูบริษัทประชารัฐฯ 76 จังหวัด ช่วยศก.ฐานราก พร้อม “สานพลังเพื่อบ้านเกิด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” หัวหน้าทีมภาคเอกชนประชารัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากชู “บริษัทประชารัฐรักษาสามัคคีฯ” 76 จังหวัด ช่วยพัฒนาธุรกิจชุมชน ชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมลงทุนทั้งซีพี บุญรอด กสิกรไทย และสื่อเครือมติชน-เนชั่น พร้อมผุดโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” คัดคนรุ่นใหม่อบรมการพัฒนาธุรกิจชุมชนกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

วันนี้ (8 มิถุนายน) ที่ห้องประชุมโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สร้างความเข้าใจและความร่วมมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายประชารัฐ” จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีตัวแทนและผู้นำชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 400 คน โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ บรรยายพิเศษเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งบริษัทประชารัฐฯ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐคือการสานพลัง 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข และมีรายได้เพิ่ม เป้าหมายหลักเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด โดยเน้น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป (SME/OTOP) และท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้ 5 กระบวนการจัดการเพื่อสนับสนุนชุมชน คือ 1.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2.การสร้างองค์ความรู้

3.การตลาด 4.การสื่อสารสร้างความรับรู้ และ 5.การบริหารจัดการ โดยใช้โครงสร้างของ Social Enterprise (SE) หรือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” จัดตั้ง SE Holding ระดับประเทศ หรือที่เรียกว่า “บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด” และจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัดขึ้นมา 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งบริษัทประชารัฐฯ ไปแล้ว 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และจังหวัดบุรีรัมย์ และจะจัดตั้งให้ครบ 76 จังหวัดภายในเดือนธันวาคม 2559 นี้

“บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะทำงานช่วยชุมชนในเรื่องบริหารจัดการองค์ความรู้ ช่วยจัดทำแผนธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและมาตรฐานการรับรองสินค้า ช่วยการบริหารขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน สร้างความต้องการและหาช่องทางการตลาด การจัดจำหน่ายและเชื่อมโยงการตลาดในระดับประเทศ รวมทั้งช่วยพัฒนาเรื่องราวของสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นที่น่าสนใจ” นายฐาปน ยกตัวอย่างการสนับสนุนชุมชน

นายฐาปน ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนและมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้โครงสร้างของบริษัทประชารัฐฯ จะเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจะต้องมีทุนจดทะเบียนจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนตั้งต้นในการดำเนินงาน ซึ่งเงินทุนเหล่านี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมเอกชนจำนวน 24 บริษัทร่วมสนับสนุน ขณะนี้มีการชำระเงินไปแล้วเบื้องต้น 25 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกำลังชวนพันธมิตรรายอื่นๆ เข้าร่วม เช่น บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ซีพี ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เช่น มติชน และเครือเนชั่นฯ

“การถือหุ้นเบื้องต้นเป็นหุ้นส่วนกลางมาจากบริษัทต่างๆ ก่อน 76% ส่วนที่เหลือ 24% เป็นหน่วยงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงธุรกิจช่วยเหลือชุมชน ซึ่งในอนาคตหากมีหน่วยงานอื่นๆในชุมชนเข้ามามากขึ้น หุ้นส่วนกลางที่เกิดจากเอกชนลงเงินไปก่อนก็จะลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ ขณะที่บอร์ดบริหารซึ่งจะมา 5 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม และประชาชนนั้น แต่ละภาคส่วนจะมีสิทธิ์ออกเสียงภาคส่วนละ 20% เท่ากัน เพื่อสะท้อนเสียงจากทุกภาคส่วน

ดังนั้น ไม่ว่าเอกชนจะใส่เงินลงมาเท่าไร ก็มีเสียงโหวตได้แค่ 20 % และเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รายได้ที่เกิดขึ้นจริงจะไม่มีการนำไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่กำไรที่เกิดขึ้นจะนำไปใช้ใน 3 ส่วนคือ สำรอง ขยายธุรกิจ และสาธารณประโยชน์ โดยจะไม่มีการนำมาปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นหรือที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด” นายฐาปน กล่าว และขยายความว่า หากมีกำไรอาจแบ่งเข้าบริษัท 5 -10% แต่ไม่ควรเกิน 20% ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นของชุมชน

ส่วนบริษัทประชารัฐฯ ในจังหวัดต่างๆ จะใช้ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท เบื้องต้นชำระเงินไปแล้ว 1 ล้านบาท เป็นเงินจากภาคเอกชนที่ร่วมให้การสนับสนุน และยังเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมถือหุ้นไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด ประชาชนก็สามารถเข้าร่วมถือหุ้นได้ ข้าราชการก็สามารถถือหุ้นได้ แต่ข้าราชการจะไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารได้

ทั้งนี้ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด มี “นายมีชัย วีระไวทยะ” เป็นประธานกรรมการบริษัท ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมมายาวนาน และมีนางสาวต้องใจ ธนะชานันท์ อดีต Senior Advisor The Boston Consulting Group บุตรสาวนายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาบริหารบริษัทประชารัฐฯ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

นางสาวต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักษามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาบริษัทธุรกิจเอกชนมานานกว่า 10 ปี กล่าวว่า หากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้รูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ประเทศไทยก็จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งนี้บริษัทประชารัฐรักษามัคคี (ประเทศไทย) จะมีบทบาทในการสนับสนุนให้องค์ความรู้ต่างๆ ในด้านการพัฒนาธุรกิจให้แก่บริษัทประชารัฐฯ ในจังหวัดต่างๆ และเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” ขึ้นมา

“โครงการนี้จะเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 20-30 ปี วุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวส.จนถึงปริญญาตรี มีจิตอาสา และต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อคัดเลือกคนรุ่นใหม่ให้ได้จังหวัดละ 1 คน แล้วนำมาฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาทักษะทางธุรกิจต่างๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี เช่น เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม เรียนรู้แนวทางการบริหารและการสื่อสารแบบผู้นำ หลังจากนั้นจะส่งผู้ที่ผ่านการอบรมในโครงการนี้กลับไปช่วยพัฒนาธุรกิจบริษัทประชารัฐฯ ในจังหวัดของตนเอง” นางสาวต้องใจกล่าว และเสริมว่า ขณะนี้มีคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศให้ความสนใจโครงการนี้และสมัครทางออนไลน์แล้ว 215 คน หากผู้ใดสนใจสามารถสมัครได้ทาง www.prsthailand.com/career ภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะมีเงินเดือนตอบแทนประมาณ 15,000-18,000 บาท

นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า พอช.ทำงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมอบหมายให้ พอช.มีบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยจะใช้พื้นที่ที่ พอช.ดำเนินการงานอยู่แล้วและขยายใหม่ในปี 2559 รวม 1,500 ตำบลทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวม 550 ล้านบาท

“ขณะนี้ พอช.กำลังสนับสนุนงบประมาณผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล ตำบลละ 70,000 บาท เริ่มดำเนินงานในภาคอีสานกลาง 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร และชัยภูมิ รวม 60 ตำบล รวมงบประมาณทั้งสิ้น 4,200,000 บาท แยกเป็นกลุ่มการผลิตหรือ Cluster 4 ด้าน คือ 1.ข้าว รวม 20 ตำบล 2.เกษตรอินทรีย์ รวม 15 ตำบล 3.วิสาหกิจชุมชน รวม 18 ตำบล และ 4.สถาบันการเงินชุมชน รวม 7 ตำบล หลังจากนั้นจะขยายการดำเนินงานไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป ส่วนการจัดตั้งบริษัทประชารัฐฯ ขึ้นมาทั่วประเทศก็จะเป็นการช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หากชุมชนใดหรือตำบลใดที่มีความพร้อมก็สามารถเข้าร่วมลงหุ้นในบริษัทประชารัฐฯ ได้ รวมทั้งให้บริษัทประชารัฐช่วยสนับสนุนธุรกิจชุมชนได้ ” นายพลากรกล่าว

ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีเงินทุนจดทะเบียน 1.4 ล้านบาท และมีเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาทเศษ มาจากการลงหุ้นของภาคเอกชนประมาณ 81.5 % ส่วนที่เหลือมาจากภาคประชาชน ทั้งนี้บริษัทประชารัฐสามัคคีเพชรบุรีฯ จะสนับสนุนธุรกิจชุมชนใน 3 ด้าน คือ เกษตรอินทรีย์ การแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจากการสำรวจและจัดทำข้อมูลของสภาองค์กรชุมชนตำบลพบว่า ในจังหวัดเพชรบุรีมีทั้งหมด 92 ตำบล มีศักยภาพที่จะพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 29 ตำบล

“ในขณะนี้มีตำบลที่จะเข้าร่วมพัฒนาธุรกิจกับบริษัทประชารัฐฯ จำนวน 8 ตำบล เช่น การส่งเสริมการผลิตผักปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ โดยมีตลาดรองรับแล้วคือโรงแรมและร้านอาหารรวม 4 แห่ง, ผลิตภัณฑ์จากไม้ตาลที่จะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าหรือเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งขนมหม้อแกงที่บริษัทประชารัฐฯ จะส่งเสริมชุมชนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบรรจุหีบห่อ รวมทั้งการท่องเที่ยวชุมชนอีก 3 ตำบล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มดำเนินการเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้” ดร.กรัณย์ กล่าว
ผู้เข้าร่วมสัมมนา
3 ผู้บริหารบริษัทประชารัฐฯ (จากซ้ายนายฐาปน, นายมีชัย และนางสาวต้องใจ)
กำลังโหลดความคิดเห็น