xs
xsm
sm
md
lg

‘พรหมสร’ หมี่กรอบสูตรสงครามโลก รวมพลังหญิงสูงวัยทำเงินจากตำนาน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมี่กรอบ” แบรนด์ “พรหมสร”
แม้ทีมงานผลิตแทบทุกคน จะเป็นหญิงวัยล่วงเลยเกษียณไปแล้ว แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจยังเกินร้อย ช่วยกันปลุกปั้น “หมี่กรอบ” แบรนด์ “พรหมสร” สูตรโบราณตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนวันนี้ขึ้นแท่นเป็นของดีเด่นประจำ จ.กาญจนบุรี และส่งขายไปทั่วประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญ เติมความสุขแก่ผู้สูงอายุ ให้กลับมาเห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง


จตุพร อินทรโสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
จตุพร อินทรโสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เล่าว่า เริ่มรวมกลุ่มสร้างอาชีพเมื่อ พ.ศ.2541 เพราะอยากจะหาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยเลือกจะฟื้นภูมิปัญญาการทำ “หมี่กรอบโบราณ” ซึ่งเป็นสูตรของแม่สามี (นางผ่อน นุชนิ่ม) ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส
แรงงานล้วนแต่เป็นสตรีสูงวัย
“ในอดีต อาม่า (แม่สามี) เคยขายขนมจีนน้ำยา ซึ่งจะนำเส้นขนมจีนหมักที่เหลือในแต่ละวันไปทอดแล้วคลุกกับน้ำจิ้มที่ทำจากน้ำมะขามเปียก น้ำตาลโตนด และเกลือเม็ด เพื่อขายแก่ทหารญี่ปุ่นที่มาประจำอยู่เมืองกาญจน์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากนั้น ไม่มีใครสานต่อสูตรนี้เลย จนเมื่อคิดอยากจะสร้างอาชีพ เลยนำสูตรโบราณกลับมาสร้างรายได้อีกครั้ง โดยปรับวัตถุดิบจากเส้นขนมจีนมาเป็นเส้นหมี่ขาวข้าวกรอบ เพื่อเก็บรักษาได้นานกว่า และเพิ่มใส่น้ำสมุนไพรทำจากตะไคร้ และส้มซ่า ตามความนิยมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน” จตุพร ขยายความ

ส่วนแรงงานผลิต คือ แม่บ้านสูงอายุในท้องถิ่น ที่เดิมจะไม่มีอาชีพอย่างจริงจัง ซึ่งการดึงมาทำงาน ช่วยสร้างสังคมชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น เพราะแต่ละครอบครัวจะมีรายได้เพิ่ม ในขณะที่ผู้สูงอายุยังได้ทำกิจกรรมยามว่าง

ประธานวิสาหกิจฯ เล่าต่อว่า เริ่มต้นมีสมาชิกแค่ประมาณ 20 กว่าคน ลงหุ้นคนละ 100 บาท ทำแล้วขายตามตลาดนัด ระยะแรกๆแทบจะไม่มีใครซื้อ แต่หลังมีคนเริ่มได้ชิม แล้วเกิดติดใจ นำไปบอกต่อ ประกอบกับสินค้ามีเรื่องราวตำนานที่มาน่าสนใจ และทางกลุ่มพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง จนได้คัดเลือกเป็นโอทอป 5 ดาว ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2559 ทำให้สินค้าได้รับความนิยมขึ้นตามลำดับ
สินค้าใหม่ ทำเป็นสแน็คพร้อมกิน
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งให้หมี่กรอบ “พรหมสร” เป็นที่รู้จักระดับประเทศ เมื่อได้รับการติดต่อให้นำสินค้าวางขายใน “ท็อปส์” ซูเปอร์มาร์เกตที่มีโครงการช่วยเกษตรกร ซื้อตรงสินค้าชุมชนจากผู้ผลิต นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่มาพร้อมกับความท้าทาย ที่สินค้าจากชาวบ้านมีแรงงานผลิตเป็นหญิงสูงวัย จะต้องยกระดับมาตรฐาน สินค้าวางขายในห้างสรรพสินค้าให้ได้

“เมื่อ พ.ศ.2555 ทาง “ท็อปส์” ติดต่อให้นำหมี่กรอบเข้าขายในซูเปอร์ฯ ซึ่งตอนแรก พวกเราลังเลมากว่าจะเข้าดีหรือไม่ เพราะทีมงานอายุเฉลี่ย 60-75 ปี และการศึกษาแค่ ป.2-ป.4 เกรงว่าจะผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการ นอกจากนั้น ชาวบ้านก็กังวลว่าบริษัทใหญ่จะมาหลอกลวงด้วย แต่เนื่องจากท็อปส์ส่งทีมงานมาช่วยเหลือทุกขั้นตอน ทั้งด้านพัฒนากระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ทำตลาด และสนับสนุนงบประมาณกว่า 1 ล้านบาท ปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐาน GMP ทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกัน และพัฒนาสินค้าร่วมกันกว่า 1 ปี จนสามารถวางขายในท็อปส์ได้ในที่สุด” จตุพร เผย

โรงผลิต
จากช่องทางตลาดเพิ่มดังกล่าว ยอดขายหมี่กรอบ “พรหมสร” เพิ่มก้าวกระโดด จากก่อนเข้าท็อปส์ ยอดขายประมาณ 5 แสนกว่าบาทต่อปี หลังเข้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยปี 2558 ที่ผ่านมา ยอดขายกว่า 1.8 ล้านบาท โดยสัดส่วน 80% มาจากยอดขายผ่านทางท็อปส์ 58 สาขาทั่วประเทศ ที่เหลือขายผ่านงานแสดงสินค้าโอทอป และร้านค้าของฝากชุมชน ส่วนปีนี้ (2559) คาดว่าจะถึง 2 ล้านบาท เพราะมีสินค้าใหม่พัฒนาร่วมกับท็อปส์ ทำเป็น “หมี่กรอบสแน็ค” ชิ้นเล็กๆใส่ซอง พอดีคำ กินสะดวกขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น

เนื่องจากแรงงานผลิตล้วนเป็นแม่บ้านสูงวัย เมื่อต้องมาทำสินค้าให้ได้มาตรฐานสูงนั้น จตุพรจะใช้วิธีค่อยๆ บอกทีละขั้นตอน และให้ทำบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ต้องเลือกแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกาย ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะเรียนรู้ยาก และทำงานได้ช้ากว่าหนุ่มสาว แต่สิ่งที่ได้ทดแทน คือ ความตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถัน และความมีวินัยที่สูงกว่ามาก
จับมือ ท็อปส์
คลุกน้ำปรุงรส กับเส้นหมี่
“ผู้สูงอายุที่มาทำงานทุกคน มีความตั้งใจสูงมาก ซึ่งความผิดพลาดในระยะแรกต้องมีบ้างเป็นธรรมดาๆ แต่ดิฉันจะอาศัยการอธิบายอย่างช้าๆ และให้แต่ละท่าน ลงมือปฏิบัติจริง ทำบ่อยๆ จนเกิดการเรียนรู้และจดจำด้วยตัวเอง ซึ่งการใช้แรงงานผู้สูงอายุ ช่วยให้ท่านมีความสุข ไม่เครียด ไม่เหงา และรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ได้ทำงานอยู่ในชุมชนบ้านเกิด ใกล้ชิดครอบครัว ซึ่งนอกจากประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางสังคมด้วย” ประธานวิสาหกิจฯ กล่าว
เคี่ยวน้ำปนุ

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง มีสมาชิกรวม 72 คน โดยมากกว่า 50 คน อายุเลยเกษียณไปแล้ว รายได้ของแม่บ้านที่มาทำงาน จะแตกต่างกันไปตามปริมาณของงานที่ทำ เฉลี่ยคนละ 3,000-9,000 บาทต่อเดือน นอกจากนั้น ยังมีการดึงคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาทำงาน เพื่อปูทางสานต่อภูมิปัญญาอาชีพนี้ในอนาคต

จากสูตรหมี่กรอบโบราณในตำนานที่สูญหาย วันนี้ กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์สวยงามวางขายในห้างสรรพสินค้า นับเป็นผลงานน่าภูมิใจจากฝีมือและความตั้งใจของสตรีสูงวัย จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง จ.กาญจนบุรี


กลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
@@@@@@@@@@@@@

ติดต่อ โทร.087-033-7922
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น