จุดสูงสุดในชีวิตการทำงานของ “ธวัชชัย พืชผล”เจ้าของสำนักพิมพ์ดีดี คือตอนที่ทำธุรกิจพร้อมกันกว่า 8 อย่าง มีมูลค่าธุรกิจในมือกว่าร้อยล้านบาท
ตอนนั้นธวัชชัยยอมทิ้งเงินเดือนหลายแสน ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเพื่อมาเป็นนายของตัวเอง
ผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ธุรกิจที่อยู่ในมือก็ไปไม่รอด ต้องทยอยปิดกิจการลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เหลือไว้แต่ธุรกิจสำนักพิมพ์ พร้อมกับหนี้สินมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท
แต่ถัดจากนั้นไม่ถึง 5 ปีธวัชชัยก็ปลดหนี้ได้หมด และหันกลับมาทำธุรกิจสำนักพิมพ์ที่ตนเองมีความถนัดเพียงอย่างเดียว
ต้องบอกก่อนว่าธวัชชัยเป็นนักสู้ในแบบ SMEs อย่างแท้จริง ไม่มีวุฒิการศึกษาสูงๆ ไม่ได้มีพื้นฐานจากครอบครัวที่ทำธุรกิจ เขาสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง เจ็บเอง ล้มเอง และสุดท้ายก็ลุกขึ้นยืนใหม่ได้ด้วยตัวเอง
“ผมเป็นคนสุราษฎร์ธานี ขึ้นมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม 2 ฐานะทางบ้านก็ไม่ดีเท่าไรนัก โชคดีมีพี่สาวเป็นคนส่งให้เรียนหนังสือ ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่ม ก็มีความรู้สึกว่าพี่เขาเป็นผู้หญิงแต่ต้องทำงานหาเงินส่งให้เราเรียน เราเป็นผู้ชายก็อยากจะทำงานหาเงินเองได้บ้าง
พอดีพี่สาวเป็นคนที่อ่านนิตยสารเยอะมาก ทั้งแพรว ลลนา อสท เต็มบ้านไปหมด อยู่บ้านว่างๆ ก็ลองเปิดอ่านดู อย่างในแพรว ลลนา มันจะมีให้คนอ่านเขียนพวกกลอน บทกวีส่งเข้าไป เฮ้ย แบบนี้เราก็เขียนได้นะ ถ้าเป็น อสท ก็ให้เขียนพวกเรื่องท่องเที่ยว ซึ่งเราก็เขียนได้อีก ที่สำคัญถ้าเรื่องที่ส่งไปได้ลงหนังสือก็จะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนด้วย
พอลองเขียนส่งไปครั้งแรกก็ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือเลย เขาก็จะส่งเงินมาให้ พอมันได้เงินเราก็ดีใจ ทีนี้เขียนส่งไปใหญ่เลย ก็หารายได้พิเศษแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เรียน ม.3 เงินมันก็ไม่ได้เยอะหรอกอยู่ที่ 100-500 บาท ไม่เคยเกินนี้ แต่ก็ทำให้เรามีเงินใช้โดยที่ไม่ต้องขอเงินพี่ ก็เขียนมาตลอด จนเรียนจบ ม.6 แล้วเอนทรานซ์ไม่ติด เลยมาลงเรียนที่รามคำแหง
ช่วงที่เรียนอยู่รามคำแหงก็มีรุ่นพี่ชวนไปทำหนังสือ ก็ไปกินไปนอน ไปอยู่ที่บ้านเขาเลย ไม่มีเงินเดือนให้ แต่สิ่งที่ได้รับมันมากกว่านั้น ได้เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือทุกอย่าง นอกจากเรื่องการเขียนแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์อักษร ทำอาร์ตเวิร์ก ไปร้านเพลต ไปโรงพิมพ์ ไปส่งหนังสือ จากตรงนี้ทำให้เราเรียนรู้กระบวนการทำหนังสือทั้งหมด
ถึงไม่มีเงินเดือนให้เราก็อยู่ได้ เพราะไม่ต้องเสียค่ากินค่าอยู่ พี่เขากินอะไรเราก็ได้กินอย่างนั้น และเราเองก็มีรายได้จากการเขียนงานส่งให้กับนิตยสารต่างๆ และก็เริ่มมีสำนักพิมพ์ติดต่อเข้ามา เพื่อนำงานเขียนไปรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กด้วย”
ทำหนังสืออยู่ 2 ปีเพื่อนรุ่นพี่ก็หันไปจับธุรกิจตัวอื่น โชคดีที่ธวัชชัยมีคอนเนกชันในแวดวงนี้อยู่เยอะ จึงได้รับการทาบทามให้มาเป็นบรรณาธิการของ Hello Magazine เนื่องจากบรรณาธิการคนเก่าลาออกพอดี ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นธวัชชัยมีอายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น เรียกว่าเป็นบรรณาธิการที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นเลยก็ว่าได้
“พอเข้ามาอยู่ในแวดวงแมกกาซีนก็ได้รู้จักคนมากขึ้นอีก วันหนึ่งก็ได้รู้จักกับเจ้าของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เราเป็นรุ่นน้องที่อำนวยศิลป์ด้วย ก็พูดคุยกันถูกคอ เขาก็ชวนไปทำงานด้วย ตอนนั้นร้านดอกหญ้ามีอยู่ 3 สาขา แล้วก็กำลังวางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
ด้วยความที่เราเป็นเด็กบ้านนอก เราก็ถ่อมตัวนายใช้ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่เคยเกี่ยง เรียกว่าเป็นเจเนอรัลเบ๊เลย เพราะทำงานได้ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่เช็กสต๊อก จัดซื้อ สมาชิกสัมพันธ์ ติดต่อประสานงานโรงพิมพ์ ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด พื้นฐานในการทำหนังสือเราดี ก็ทำได้หมดทุกอย่าง
ในช่วงระยะเวลานั้นบริษัทดอกหญ้าก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ วันที่ดอกหญ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมก็มีวุฒิการศึกษาแค่ ม.ปลายเท่านั้นเพราะว่าเรียนรามฯ ไม่จบ เจ้านายเลยให้ผมไปเรียนที่จุฬาฯ เป็นหลักสูตรพิเศษ เรียน 2 ปีจบ พอมีโปรไฟล์แล้วเจ้านายก็ดันผมให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ผมเป็นคนที่ความรู้น้อย แต่ประสบการณ์ในการทำงานเยอะ
ช่วงเวลานั้นสนุกกับการทำงานมาก อายุแค่ 27 ปีก็ได้เงินเดือนหลายแสนแล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตัวเองใหญ่มากเพราะเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ไปที่ไหนก็ได้รับการต้อนรับ ไม่ว่าจะไปพรีเซ็นต์งาน หรือไปติดต่องานต่างประเทศ คนที่มันอยู่ในกล่องก็รู้สึกว่าโตคับกล่อง วันหนึ่งก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง”
ธวัชชัยทิ้งเงินเดือนหลักแสนเพื่อออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง เพราะมั่นใจในประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่าจะสามารถต่อยอดมาสู่การสร้างธุรกิจได้ไม่ยาก
ด้วยความมั่นใจแบบผิดๆ ส่งผลให้ธวัชชัยเลือกจับธุรกิจหลายตัวพร้อมๆ กันเพราะมองไปที่เรื่องผลกำไรเป็นหลัก
“ตอนที่ลาออกมาอายุใกล้จะ 30 แล้ว ก็มีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ตอนนั้นอยากทำอะไรก็ทำหมด มีธุรกิจอยู่ในมือกว่า 8 อย่าง เช่น สำนักพิมพ์ สั่งหอยนางรมจากสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทำรถตู้แช่เย็นแล้วก็ส่งขาย ทำเต็นท์รถมือสอง ลงทุนทำธุรกิจร้านอาหาร ถึงขั้นลงทุนซื้อลิขสิทธิ์จากอังกฤษเพื่อมาเปิดสถาบันสอนภาษา ขยายใหญ่โตมาก
ด้วยความที่ตอนเด็กเราเคยยากจนมาก่อน พอมีโอกาสเข้ามาเราเลยคว้าไว้หมดทุกอย่าง อยากมีเงินเยอะๆ แต่พอทำธุรกิจไปได้สัก 7-8 ปีก็เริ่มติดขัดแล้ว สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการไป และเหลือตัวเลขที่เป็นหนี้อยู่ 40 ล้านบาท
วันที่ล้ม สิ่งแรกที่ผมทำคือหันกลับมาคุยกับภรรยา เพราะช่วงที่ทำธุรกิจใหญ่โตเราบินสูง แต่กับครอบครัวไม่เคยได้มีเวลานั่งคุยกันเลย ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีเวลาให้กัน วันที่เป็นหนี้ก็เลยได้หันกลับมานั่งคุยกับภรรยา
ทำธุรกิจขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินหลักสิบล้าน กำไรอย่างเดียวในวันที่ล้ม คือการได้หันกลับมาคุยกับภรรยา กลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมยาก มันทำให้เรามีกำลังใจ”
เมื่อยอมรับ และทำใจกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้แล้ว สิ่งแรกที่ทำคือ การประเมินทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือ และนำไปขายเพื่อปลดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถเบนซ์ ที่ดิน เพื่อลดจำนวนหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด
“ช่วงนั้นก็ได้มีเวลามานั่งวิเคราะห์ตัวเองว่าความผิดพลาดในการทำธุรกิจมันคืออะไร หลักๆ เลยเกิดจากตัวผมเองที่อยากทำอะไรก็ทำหมดทุกอย่าง สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ลืมถามตัวเองไปว่าอยากรวยเท่าไหร่ ทั้งหมดที่ผมทำ ถ้ามันสำเร็จผมก็จะรวยเป็นพันล้าน
ทีนี้หันกลับมาถามใจตัวเอง เฮ้ย กูไม่ได้อยากมีเงินเป็นพันล้านสักหน่อย มีแค่ร้อยล้านก็พอแล้วมั้ง เพราะคนในครอบครัว พ่อแม่ลูกหลาน ญาติพี่น้องก็มีอยู่แค่ไม่กี่สิบคน ที่เจ๊งก็เพราะลืมถามตัวเองว่าเราอยากรวยเท่าไหร่ รู้แค่ว่าอยากรวย ก็เลยทำมันทุกอย่างเท่าที่นึกได้ ก็เลยทำให้เราเอาไม่อยู่
ตอนนั้นทำ 7-8 ธุรกิจพร้อมๆ กัน แต่ละธุรกิจก็มีขนาดใหญ่ มีรายรับเข้ามาเดือนหนึ่งหลายล้านบาทต่อ 1 ธุรกิจ เพราะตอนที่เราทำงานประจำ ตำแหน่งเราใหญ่แล้ว เป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เราก็มีเครดิตอยู่เยอะ อยากทำธุรกิจไหนก็สามารถทำได้หมด
วันที่เราล้มก็หยุดทำธุรกิจทุกอย่าง พอมานั่งรวมตัวเลขถึงรู้ว่าเป็นหนี้อยู่กว่า 40 ล้านบาท ทางหนึ่งก็ต้องตัดใจขายทรัพย์สินที่ซื้อมา อีกทางหนึ่งก็ต้องวิ่งแลกเช็คกับเจ้านายในอดีต โชคดีที่ผู้ใหญ่เมตตา วิ่งไปหาใครก็มีแต่คนให้ความช่วยเหลือ บางคนรู้ข่าวว่าเรามีปัญหาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยชำระหนี้”
จากทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้ธวัชชัยปลดหนี้ไปได้ประมาณ 20 ล้านบาท เป้าหมายชีวิตในตอนนั้นถูกกำหนดขึ้นใหม่ โดยมีเส้นชัยอยู่ที่การปลดหนี้ที่เหลือทั้งหมดอีก 20 ล้านบาท
ธวัชชัยใช้แนวคิด และใช้กลยุทธ์ไหนในการปลดหนี้ครั้งนี้ได้สำเร็จ
“แต่ก่อนเป้าหมายในชีวิตคืออยากรวย แต่ตอนนั้นไม่อยากรวยแล้ว เพราะมันมีหนี้แล้ว ก็ต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่
จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ผ่านมา ล้มลุกคลุกคลานสารพัด ทำให้ค้นพบความโง่ของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกนึกว่าตัวเองเก่ง นึกว่าวิเศษ เพราะเคยใหญ่มากตอนทำงานประจำ แต่ในการทำธุรกิจจริงๆ เราเห็นจุดบกพร่องของตัวเองเยอะมาก ก็เรียนรู้จากความล้มเหลว เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสอนตัวเองใหม่
ก็เลยตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ หนึ่ง - หาเงินใช้หนี้ สอง - หาเงินเลี้ยงครอบครัว และสาม - หาเงินเลี้ยงลูกน้อง
จากนั้นก็นำเป้าหมายมาใช้ในการกำหนดภารกิจ หลังจากที่เป็นหนี้ ธุรกิจตัวเดียวที่ยังทำต่อ คือ สำนักพิมพ์ เป็นธุรกิจตัวเดียวที่ยืนอยู่ได้
พอเป้าหมายในชีวิตมันเปลี่ยนไป ผมมองออกแล้วว่าผมควรจะทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว ทำในสิ่งที่ผมเชี่ยวชาญที่สุด ซึ่งก็คือหนังสือ ธุรกิจตัวอื่นไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าประเภทอาหาร ทำรถตู้เย็น เต็นท์รถ โรงเรียนสอนภาษา มันไม่ได้มาจากความชอบ และความรู้ที่แท้จริง ความรู้ที่แท้จริงของผมคือหนังสือ ผมรักและมีความสุขกับมัน
ด้วยประสบการณ์ในการทำหนังสือ ทำให้เรามองภาพรวมในตลาดนี้ออก เดือนหนึ่งทำหนังสือสัก 5 เล่ม ผมรู้ว่าจะต้องจ้างพนักงานกี่คน ต้องมีรายจ่ายเท่าไร และจะมีรายรับเท่าไร
ก็มานั่งคำนวณว่า หนังสือเล่มหนึ่ง เราพิมพ์ 5,000 เล่ม บวกค่าการตลาด 1 ล้าน เพราะฉะนั้นถ้าผมทำหนังสือเดือนละ 5 เล่ม มูลค่าต่อเดือนก็ 5 ล้านบาท 5 คูณ 12 ปีหนึ่งก็จะเป็น 60 ล้านบาท
ในธุรกิจนี้พ็อกเกตบุ๊กจะได้กำไร 20% ต่อเล่มโดยประมาณ เราก็จะได้กำไรปีละ 12 ล้านบาท
เมื่อคิดได้อย่างนี้ผมก็ทำหนังสือเพียงแค่ 5 เล่มต่อเดือน ไม่ทำธุรกิจอย่างอื่นอีกเลย ก็วิ่งเข้าไปหาผู้ใหญ่ที่เคยให้แลกเช็ค คนที่เคยเมตตากรุณา เขาก็เห็นว่าเราซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เขาก็สนับสนุนต่อ
ช่วงแรกผลตอบรับมันดีมาก ได้กำไรต่อปีตามที่เราคิดไว้ พอผ่านไปสัก 2 ปี ผมก็มองว่าโลกมันเริ่มเปลี่ยนไป เลยกลับมาลงทุนในเรื่องของแอนิเมชัน ทำตำราสอนภาษาอังกฤษ และตำราอาหาร โดยการใช้แอนิเมชันเข้ามาประกอบในรูปแบบของวิดีโอ
ปรากฏว่าขาดทุนอีก กำไรจากการพิมพ์หนังสือ 2 ปีแรกก็มาหมดลงกับไอเดียใหม่ตัวนี้อีก
คราวนี้บอกตัวเองเลยว่าไม่เอาอีกแล้ว ไม่ต้องไปลองทำอะไรใหม่ๆ แล้ว ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความถนัด แล้วทำให้มันดีที่สุด เพราะมันยังดีได้อีก ก็หันกลับมาตามเป้าหมายเดิม คือการทำแค่หนังสืออย่างเดียว จากนั้นใช้เวลาอีกสักปีครึ่ง หนี้ 20 ล้านก็หมด”
ธวัชชัยใช้เวลากว่า 5 ปีในการปลดหนี้ทั้งหมด 40 ล้านบาท ด้วยวิธีที่เจ้าตัวบอกว่าบ้านๆ ไม่ต้องไปเปิดตำรา MBA จากสถาบันไหน แค่วิเคราะห์ปัญหาให้ถูกจุด กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และนำเป้าหมายมากำหนดภารกิจอีกทีหนึ่ง
จากบทเรียนเจ็บในครั้งนี้ ธวัชชัยได้กำหนดทฤษฎีที่ใช้ในการทำธุรกิจขึ้นมา 2 ตัว คือ ทฤษฎีร้านสเต๊ก และทฤษฎีร้านขนมจีน
เริ่มจากทฤษฎีร้านสเต๊ก ที่เป็นต้นเหตุให้ธุรกิจหลายตัวไปไม่รอด รวมถึงธุรกิจของธวัชชัยเองด้วย
“ทฤษฎีร้านสเต๊ก ก็เหมือนกับเราไปนั่งกินสเต๊กที่ปากช่อง เห็นลูกค้านั่งเต็มร้าน 30 โต๊ะ เต็มเหยียด โต๊ะหนึ่งสัก 1,500 บาท คิดในใจ 20 โต๊ะก็ 30,000 วันหนึ่งก็ขายได้ประมาณ 200,000 บาท โหขายได้เดือนละ 6 ล้านเลยนะเว้ย เอาล่ะ กลับไปยืมเงินพ่อตาแม่ยาย ยืมเงินเพื่อน เอาบ้านไปเข้า เอารถไปจำนำเพื่อเปิดร้านสเต๊ก เพราะไปเห็นว่ามันขายได้เดือนละ 6 ล้าน มันยั่วน้ำลาย และคิดว่ามันง่าย ก็ไปหาเงินลงทุนแล้วก็ไปเปิดร้านสเต๊ก
เปิดแล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็เจ๊งสิครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่า บ่อดักไขมันเป็นยังไง ต้องซื้อเนื้อวัวที่ไหน หาพนักงานมาจากไหน ต้องแต่งร้านยังไง กลายเป็นว่าเราเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ คนทำธุรกิจต้องรู้หลัก อย่างน้อยก็หลัก 4M ได้แก่ Man บริหารจัดการคน Money บริหารจัดการเงิน Material วัสดุอุปกรณ์ และ Management การบริหารจัดการ
4M จะทำให้คนตั้งธุรกิจได้ แต่ธุรกิจมันจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยหลักของ 4P ซึ่งยุคนี้ก็เปลี่ยนเป็น 4C ก็เป็นเรื่องเดียวกันแต่มองคนละมุม ได้แก่ Product , Price, Place, Promotion เพราะฉะนั้นถ้ามี 4P มาขับเคลื่อน คุณก็ทำร้านสเต๊กได้ แต่ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะรวยนะ เพียงแค่มีลุ้นเท่านั้น
เมื่อก่อนมีคนให้นิยามธุรกิจว่า หมายถึงสินค้าและบริการ แต่ในวันนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นิยามว่า ธุรกิจหมายถึงความสามารถในการรองรับภาวะกดดันของเจ้าของกิจการ ซึ่งมันเจ๋งมาก
คุณรู้ 4M คุณมี 4P แต่พอเจอเรื่องหนักๆ แล้วแก้ปัญหาไม่ได้ คุณแบกรับความกดดันไม่ได้ การที่รู้หลักทฤษฎีไม่ได้แปลว่าคุณจะรวย แต่มันมีลุ้น
ผมก็เลยเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าทฤษฎีร้านสเต๊ก ก็คือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจเจ๊ง เห็นเขารวยแล้วอยากรวยตาม ไม่ได้มีความชอบ ไม่ได้ใส่ใจลึกซึ้งจนถึงรากในเชิงองค์ความรู้ในการทำธุรกิจนั้น รับรองว่าเจ๊งทุกคน”
และจากบทเรียนเจ็บ จนเกิดหนี้สินกว่า 40 ล้านบาท นอกจากจะวิเคราะห์ถึงทฤษฎีที่ทำให้ธุรกิจเจ๊งแล้ว ธวัชชัยยังได้ทฤษฎีตัวใหม่จากกลยุทธ์ที่นำมาใช้ปลดหนี้ เขาเรียกมันว่าทฤษฎีร้านขนมจีน
‘ทฤษฎีร้านขนมจีน ก็คือให้เป้าหมายกำหนดธุรกิจ ในการทำธุรกิจทุกอย่าง เป้าหมายคือกำไร ถ้าคุณจะทำบุญ คุณไม่ต้องมาทำธุรกิจ เราต้องมีเป้าหมายก่อน เช่น อยากได้กำไรเดือนละ 30,000 บาทจากการเปิดร้านขายขนมจีน จะต้องทำอย่างไรบ้าง
ร้านขนมจีนต้องมีส้มตำ น้ำตกขายด้วย เวลาเพื่อนมากินจะได้ไม่อาย บรรยากาศในร้านก็ต้องตกแต่งให้น่ารัก เพราะฉันเป็นคนกุ๊กกิ๊ก ต้องแต่งร้านให้ดูดี ทางเข้าร้านต้องมีดอกไม้ ต้องมีป้ายแขวนสวยงาม ต้องตกแต่งโต๊ะเก้าอี้ให้มันดูดี ที่คิดมานี่ผิดหมดเลยนะ
เพราะเป้าหมายของธุรกิจ คือกำไร แต่คุณไปเสียเงินกับเรื่องอื่น คุณไปคิดสะเปะสะปะ ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของกำไร คุณเปิดร้านขายขนมจีน อยากได้กำไรสุทธิเดือนละ 30,000 บาท 30,000 มันมาจากไหน ทุกธุรกิจมีกำไรเฉลี่ย 20% เพราะฉะนั้น 30,000 บาทก็จะมาจากยอดขายที่ 150,000 บาทต่อเดือน เอากำไร 20% คูณด้วย 150,000 มันก็คือ 30,000
ถ้าคุณตั้งเป้าหมายว่าต้องได้กำไรสุทธิ 30,000 บาทต่อเดือน แปลว่าต้องขายให้ได้ 150,000 บาทต่อเดือน เท่ากับต้องขายให้ได้วันละ 5,000 ลูกค้ากินขนมจีนอยู่ที่คนละ 50 บาท แปลว่าต้องหาลูกค้าเข้าร้านให้ได้วันละ 100 คน เปิดร้านเช้าจดเย็น เพราะฉะนั้นหนึ่งช่วงเวลาควรจะมีลูกค้านั่งในร้านสัก 10 คน
จำนวนลูกค้า 10 คนจะต้องใช้โต๊ะกี่ตัว ต้องมีเก้าอี้กี่ตัว พื้นที่ร้านต้องใช้ขนาดเท่าไร ต้องเช่าตึกแถวไหม หรือเป็นแค่เพิงเล็กๆ ที่ตั้งโต๊ะได้ก็พอจะได้ประหยัดค่าเช่า
แล้วต้องจ้างแม่ครัวไหม ไม่ต้องนี่ เพราะลูกค้า 100 คน ทำน้ำยาแค่หม้อเดียว ทำเองคนเดียวก็ได้ แล้วต้องซื้อขนมจีนมากี่เข่ง ผักต้องซื้อเท่าไร ต้องต้มไข่กี่ลูก ต้องจ้างคนล้างจานไหม ไม่ต้อง ซื้อจานมาเลย 200 ใบ ลูกค้ากินเสร็จโยนจานลงกะละมังเลย พอปิดร้านตอนเย็นค่อยมาล้างทีเดียว
คุณต้องการกำไรสุทธิเดือนละ 30,000 บาท ต้องไปซื้อโฆษณาในไทยรัฐ หรือต้องมาเล่นเฟซบุ๊กไหม ไม่จำเป็นเลย บางทีแค่ทำเลดีอย่างเดียวก็ชนะแล้ว นี่คือการใช้เป้าหมายกำหนด เพราะเป้าหมายคุณคือกำไร ไม่ใช่อยากได้ร้านสวยๆ ถ้ามัวไปลงทุนผิดจุด แล้วเมื่อไรจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”
กลยุทธ์ปลดหนี้ในแบบของธวัชชัย อาจจะดูเรียบง่าย แต่ก็ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าช่วยแก้วิกฤตหนี้ในครั้งนั้นได้ในระยะเวลาไม่นานนัก
อีกทั้งทฤษฎีร้านขนมจีน ที่คิดขึ้นมาจากประสบการณ์ตรง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการคนอื่นต่อไปได้
บทความโดย : นิตยสาร SMEs Plus
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *