xs
xsm
sm
md
lg

“มนตรา” จุดกระแสสปาในห้าง ยึดทำเลทองครองใจลูกค้าไทย-เทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้าน “มนตรา เฮลธ์ แอนด์ สปา” สาขา 2 อยู่ที่ชั้น 3 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์
ร้าน “มนตรา เฮลธ์ แอนด์ สปา” (Montra Health & Spa) เดินแผนธุรกิจ ยึด “ทำเล” เปิดในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ตอบไลฟ์สไตล์คนไทยยุคปัจจุบันที่ใช้ศูนย์การค้าเป็นแหล่งกิจกรรม ควบคู่กับให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากสัมผัสภูมิปัญญานวดแผนไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ยุทธพงษ์ เผ่าจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มนตรา รีทรีท จำกัด เจ้าของร้าน “มนตรา เฮลธ์ แอนด์ สปา”
ยุทธพงษ์ เผ่าจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มนตรา รีทรีท จำกัด สนใจทำธุรกิจนี้เพราะเห็นกระแสนิยมบริการสปาและนวดแผนไทยเพิ่มขึ้นทุกขณะทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงเมื่อสำรวจตลาดพบช่องว่างร้านที่ให้บริการได้มาตรฐานสูงมักจะมีเปิดในรูปแบบ “Stand Alone” หรือตามโรงแรม ซึ่งค่าบริการสูงมาก ส่วนร้านเปิดตามห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ราคาสมเหตุสมผล ยังมีอยู่น้อยมาก

อีกทั้ง ร้านสปาส่วนใหญ่มักประสบปัญหา พนักงานลาออกบ่อย กระทบงานบริการขาดมาตรฐานที่ดีสม่ำเสมอ เมื่อลูกค้าเข้าใช้บริการแล้วไม่ประทับใจก็จะไม่กลับมาอีก ในที่สุดธุรกิจจึงไม่สามารถยืนอยู่ได้
ผลิตภัณฑ์สปาที่พัฒนาขึ้นเอง
จากที่เห็นทั้งโอกาส และปัญหา กลายเป็นแนวคิดธุรกิจเปิดร้าน “มนตรา เฮลธ์ แอนด์ สปา” สาขาแรกเมื่อ พ.ศ. 2553 ที่ชั้น 2 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเติมเต็มในจุดที่ร้านสปาอื่นๆ ยังขาดหาย

“สาเหตุที่ผมเลือกเปิดในห้าง ประการแรกเพราะห้างจะมีการทำตลาดให้ผู้เช่าอยู่แล้ว ช่วยให้เริ่มธุรกิจได้ง่ายขึ้น แม้จะแลกด้วยค่าเช่าที่สูงก็ตาม ข้อต่อมา ทำเลอยู่ศูนย์กลางลูกค้าเป้าหมาย ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาชอปปิ้งย่อมอยากทดลองใช้บริการสปาด้วย ส่วนคนไทย ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ทำกิจกรรมในห้างหลากหลาย เช่น รอลูกเรียนพิเศษ ทำธุรกรรมการเงิน ออกกำลังกาย ฯลฯ ดังนั้น การมีร้านสปาที่พร้อมให้บริการอยู่ในห้างเลย น่าจะตอบความต้องการของลูกค้าได้ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย” เจ้าของธุรกิจเผยแนวคิดธุรกิจ
บรรยากาศภายในร้าน
สำหรับปัญหาพนักงานนวดลาออกบ่อย กระทบมาตรฐานงานบริการนั้น ร้าน “มนตรา เฮลธ์ แอนด์ สปา” หาทางอุดช่องโหว่ ประการแรกสร้างแรงจูงใจด้วยสวัสดิการที่ดี ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัท ให้พนักงานทุกคนได้รับสวัสดิการพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน เช่น ประกันสังคม จำกัด รวมถึงมีประกันรายได้ขั้นต่ำ เงินเดือนละ 9,000 บาท เมื่อบวกกับค่าคอมมิชชันเฉลี่ยพนักงานนวดจะมีรายได้คนละประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าร้านอื่นๆ ทั่วไป

นอกจากนั้น มีจัดโปรแกรม “อบรมพนักงาน” สม่ำเสมอ โดย “อ.สุริยา แพงบวก” ผู้เชี่ยวชาญการนวดแผนไทย ซึ่งจะประจำอยู่ที่ร้าน ทำหน้าที่คอยฝึกสอนพนักงานนวดทุกคนให้บริการลูกค้าได้ในมาตรฐานเดียวกัน และกรณีพนักงานเก่าลาออกสามารถฝึกคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนได้ในเวลาไม่นาน
ร้านที่สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว
นักธุรกิจหนุ่มระบุว่า สาขาแรกใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 ล้านบาท สร้างชื่อจากที่ลูกค้าไทยและเทศที่มาใช้บริการแล้วไปบอกต่อ ทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นขาประจำ สามารถคืนเงินลงทุนได้ในเวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นขยายสาขา 2 บริเวณชั้น 3 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ พ.ศ. 2556 ภายใต้เงินลงทุนประมาณ 4 ล้านบาท อาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเดิม คืนทุนในเวลา 2 ปี และปีที่แล้ว (2558) ขยายสาขา 3 ที่ชั้น 7 ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว

ทั้งนี้ บริการนวดของร้านจะคิดรูปแบบผสมผสานระหว่างนวดแผนไทยกับตะวันตก ให้สอดคล้องกับลูกค้าเป้าหมายที่มีทั้งไทยและเทศ รวมถึงเสริมบริการให้ตอบความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ผ่อนคลายสำหรับพนักงานออฟฟิศ หรือ “Office syndrome” ที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ขณะนี้มีทั้งหมดประมาณ 9 โปรแกรม เช่น นวดแผนไทย นวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า นวดน้ำมัน นวดอโรมา นวดสวีดิช นวดหินร้อน และนวดนักกีฬา เป็นต้น ค่าบริการอยู่ที่ 500-2,000 บาท/ชั่วโมง/โปรแกรม

ปัจจุบันมีพนักงานรวมกัน 3 สาขาประมาณ 60 คน ด้านอัตราลูกค้าเข้าใช้บริการเฉลี่ยวันละ 60 ชั่วโมง เฉลี่ยใช้จ่ายประมาณ 500-1,000 บาทต่อราย กลุ่มลูกค้า 60% คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ส่วนกลุ่มคนไทยประมาณ 40% แทบทั้งหมดเป็นสุภาพสตรีกลุ่มระดับ B ขึ้นไป นอกจากนั้น ในร้านยังขายผลิตภัณฑ์สปาพัฒนาขึ้นเองเพื่อเสริมรายได้อีกทาง

เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจ ยุทธพงษ์เจาะจงไปที่สถานการณ์ความรุนแรงของบ้านเมือง เนื่องจากร้านตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางชอปปิ้ง และอิงกระแสท่องเที่ยวชนิดแยกไม่ออก เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสำคัญใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชุมนุมประท้วงหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ หรือระเบิดแยกราชประสงค์ กระทบให้ยอดรายได้ตกไปกว่า 50% และแต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนที่ยอดลูกค้าจะกลับมาปกติ

ช่วงเวลาที่ยากลำบากดังกล่าวต้องอาศัยการปรับตัว ควบคู่กับใช้กลยุทธ์โปรโมชันลดราคามาพยุงธุรกิจ เช่น ส่งอีเมลไปยังฐานลูกค้า แจ้งว่าร้านยังเปิดให้บริการตามปกติ และมาใช้บริการช่วงนี้มีสิทธิพิเศษ เช่น ใช้ 1 แถมอีก 1 เป็นต้น

ยุทธพงษ์เผยด้วยว่า ต้นทุนดำเนินธุรกิจของร้านกว่า 40-50% มาจากค่าเช่า อีก 30% เป็นค่าแรงพนักงาน เบ็ดเสร็จแล้วเหลือกำไรสุทธิจากรายได้ประมาณ 10-20% นับว่าไม่มาก ดังนั้น หัวใจของการทำธุรกิจนี้ต้องสร้างให้เกิดฐานลูกค้าประจำกลับมาใช้บริการซ้ำต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ร้านต้องมีมาตรฐาน บริการดี และตั้งอยู่ในทำเลทอง
ร้านแต่ละแห่งต้องกำหนดลูกค้าเป้าหมายของตัวเองชัดเจน แล้วมีทำเลดีเหมาะกับลูกค้าเป้าหมาย ควบคู่กับมีบริการได้มาตรฐาน ถ้าทำได้ตามนี้ ผมเชื่อว่าจะสำเร็จทุกราย” ยุทธพงษ์ กล่าว
ส่วนแผนธุรกิจต่อไป กำลังศึกษาขยายสาขาในจังหวัดตามเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และในอนาคตอยากเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งนิยมสปาไทยเช่นกัน

รวมถึงขยายบริการจากนวดผ่อนคลายไปสู่การนวดเพื่อรักษาและบำบัด ซึ่งพนักงานนวดทุกคนต้องผ่านการสอบและรับรองโดยหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งวางแผนขายผลิตภัณฑ์สปาแบรนด์ตัวเอง ตามสถานที่ที่ลูกค้าเป้าหมายรวมกันอยู่จำนวนมาก เช่น คลับเฮาส์ และสนามบิน เป็นต้น
ทีมงานประจำร้าน
“ผมมองว่าตลาดธุรกิจร้านสปายังมีโอกาสอีกมหาศาล ตั้งแต่ร้านระดับหรู จนถึงสปาห้องแถว เพราะคนยุคปัจจุบันต้องการผ่อนคลาย เข้ากับกระแสรักสุขภาพ รวมถึงสปาไทยมีชื่อเสียงระดับโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ ร้านแต่ละแห่งต้องกำหนดลูกค้าเป้าหมายของตัวเองชัดเจน แล้วมีทำเลดีเหมาะกับลูกค้าเป้าหมาย ควบคู่กับมีบริการได้มาตรฐาน ถ้าทำได้ตามนี้ผมเชื่อว่าจะสำเร็จทุกราย” เขาทิ้งท้าย

โทร. 0-2937-1807 หรือ www.montraspa.net

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น