ธุรกิจเมล็ดกาแฟคั่วระดับพรีเมียมแบรนด์ “บลูคอฟ” (Bluekoff) จากดินแดน “ดอยช้าง” จ.เชียงรายนับเป็นต้นแบบที่น่าสนใจ เพราะสร้างความสำเร็จเคียงคู่กันไประหว่างผลประกอบการธุรกิจกับเชิงสังคม มีส่วนสร้างรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรท้องถิ่น และขยายไปถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้สมบูรณ์ดังเดิม
ศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูคอฟ จำกัด วัย 37 ปี หนุ่มชาวกรุงที่เริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟเมื่อกว่า 16 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เป็นตัวแทนขายเครื่องชงกาแฟ และต่อยอดมาทำโรงคั่ว รวมถึงขายเมล็ดกาแฟคั่วสำเร็จในแบรนด์ ‘Bluekoff’ ของตัวเอง
“ตอนผมทำโรงคั่วกาแฟมักพบปัญหาว่าหาวัตถุดิบเมล็ดกาแฟในเมืองไทยคุณภาพดีไม่ได้ และเมื่อหาข้อมูลเชิงลึกทำให้รู้ว่าปัญหาเกิดจากเกษตรกรปลูกต้นกาแฟโดยขาดความรู้ และยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ ทำให้เกษตรกรเน้นแต่ปลูกให้ได้ปริมาณมาก ละเลยคุณภาพ อีกทั้งใช้สารเคมีสูงมาก”
เมื่อรู้ถึงปัญหา หนุ่มกรุงจุดแนวคิดอยากจะเข้าไปแก้ไขตั้งแต่ “ต้นน้ำ” โดยพัฒนาการปลูกกาแฟของเกษตรกรเสียใหม่ ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งเชิงธุรกิจเพราะจะได้วัตถุดิบคุณภาพดี ในขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ปลูกมีแหล่งรับซื้อโดยตรง ขายได้ราคาสูงขึ้น ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเบื้องต้นคิดจะไปส่งเสริมในพื้นที่ จ.น่าน
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรู้จักและสนิทกับ “คุณวิชา พรหมยงค์” (ผู้บุกเบิกกาแฟดอยช้าง) ซึ่งท่านอยากให้มาช่วยส่งเสริมผู้ปลูกกาแฟบน “ดอยช้าง” เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกกว้างใหญ่กว่า 30,000 ไร่ และมีชาวไทยภูเขายึดอาชีพนี้กว่า 800 ครัวเรือน ลำพังเพียงท่านคนเดียวไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ทั่วถึง
ดังนั้น เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วศุภชัยเดินทางมายังดอยช้าง พร้อมภารกิจปฏิวัติการปลูกกาแฟของเกษตรกรเสียใหม่
ศุภชัยเผยว่า ดอยช้างเหมาะจะปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกาคุณภาพดีได้ เพราะอยู่บนความสูง 1,200-1,500 เมตรมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยเหมาะอยู่ระหว่าง 18-22 องศาเซลเซียส ช่วยให้เมล็ดกาแฟเจริญเติบโตและพัฒนาขึ้นได้ ขณะที่สภาพดินเหมาะต่อการปลูก เพราะเป็นดินภูเขาไฟเก่าจึงมีสารอาหารในดินสูงมาก
“วิธีการส่งเสริม เบื้องต้นผมเข้าไปพูดคุยให้ความรู้การปลูกกาแฟที่ถูกต้อง ลงทุนเงินส่วนตัวซื้อต้นกล้ากาแฟพันธุ์อะราบิกาคุณภาพดีให้ชาวบ้านไปปลูกฟรีๆ ซึ่งช่วงแรกไม่มีใครเชื่อผมหรอก เพราะเขาเคยชินกับวิธีดั้งเดิม ผมถึงขั้นเคยจ้างให้ชาวบ้านตัดต้นที่ปลูกเดิมทิ้ง แล้วปลูกใหม่ด้วยวิธีของผม หลังจากนั้น 1 ปีต้นกาแฟที่ผมปลูกเป็นตัวอย่างได้ผลผลิตที่สวยและดีกว่ามาก ทำให้ชาวบ้านเริ่มเกิดความสนใจอยากปลูกบ้าง ซึ่งกว่าจะปรับเปลี่ยนจนเห็นผลอย่างชัดเจนผมใช้เวลาแนะนำเกษตรกรอยู่กว่า 3-4 ปีทีเดียว”
นอกจากนั้น อีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกษตรกรอยากจะหันมาปลูกกาแฟคุณภาพดียิ่งขึ้น คือ ต้องขายได้ “ราคาที่ดีขึ้น” และมี “ตลาดรับซื้อแน่นอน”
จากโจทย์ดังกล่าว เมื่อ 3 ปีที่แล้วศุภชัยร่วมมือกับ “ซีพี รีเทลลิงค์” บริษัทในเครือซีพี ออลล์ ซึ่งกำลังต้องการรับซื้อเมล็ดกาแฟสดคุณภาพดีมาใช้ใน “ออลล์ คาเฟ่” (All Café) มุมขายกาแฟสดในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11)
ศุภชัยอธิบายเสริมว่า ทางบริษัท บลูคอฟ จำกัด เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลาง รับซื้อเมล็ดกาแฟผลสดคุณภาพดีจากเกษตรกรบนดอยช้าง แล้วแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว เพื่อส่งต่อไปยังซีพี รีเทลลิงค์
ทั้งนี้ จากการเติบโตของกาแฟสด “ออลล์ คาเฟ่” ที่เริ่มต้นแค่ไม่กี่สิบสาขา ปัจจุบันอยู่ในร้าน 7-11 กว่า 2,000 สาขา รวมถึงส่งเข้าร้านกาแฟ “มวลชน” อีกกว่า 50 สาขา ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรบนดอยช้างมีตลาดรับซื้อแน่นอน และที่สำคัญ ราคาที่รับซื้อเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตามท้องตลาดทั่วไป
“เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะมีต้นทุนการปลูกเฉลี่ย 6-8 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคาที่พ่อค้าทั่วไปเข้ามารับซื้อจากเกษตรกรบนดอยช้าง ผลสดประมาณ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม แต่มาขายให้ผม รับซื้อในราคา 18-23 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นผลผลิตคุณภาพดีเท่านั้น และเกษตรกรที่จะมาขายต้องเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง ซึ่งปลูกโดยผ่านการพัฒนาแล้ว ดังนั้น เกษตรกรที่อยากขายได้ราคาดีก็ต้องปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพดีขึ้น”
“นอกจากนั้น ผมให้สิทธิ์ว่าเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้จะได้รับการส่งเสริมจากผม แต่ก็ไม่มีสัญญาผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น เขาสามารถขายผลผลิตให้เจ้าอื่นใดก็ได้ที่ให้ราคาดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงจากราคาที่ผมให้สูงกว่าตลาดอยู่แล้ว นอกจากนั้น ผมยังจ่ายเป็นเงินสดทันที ยิ่งจูงใจให้เกษตรกรอยากมาขายที่ผมมากที่สุด ซึ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีผมต้องสำรองเงินสดไว้รับซื้อเมล็ดกาแฟถึงหลักล้านบาทต่อวันทีเดียว” เจ้าของธุรกิจระบุ
เขาเผยต่อว่า ทุกวันนี้ มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มฯ กว่า 300 ครัวเรือน บนพื้นที่ปลูกกว่า 15,000 ไร่ นับเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟสดรายใหญ่อันดับ 2 ของดอยช้าง โดยปีที่ผ่านมา (2558) มียอดผลิตเมล็ดกาแฟคั่วสำเร็จกว่า 400 ตัน โดยกว่า 80-90% ขายส่งให้แก่ซีพี รีเทลลิงค์ ในราคาประมาณ 300 กว่าบาทต่อกิโลกรัม โดยการซื้อขายจะทำสัญญาล่วงหน้าปีต่อปี ส่วนอีก 10% ขายภายใต้แบรนด์ ‘Bluekoff’ของตัวเอง ผลประกอบการยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท และปีนี้ (2559) ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ถึง 500 ตันต่อปี
ส่วนเป้าต่อไป พยายามยกระดับการปลูกกาแฟบนดอยช้างให้เป็นอินทรีย์ 100% มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันริเริ่มทำแปลงสาธิตปลูกกาแฟออแกนิกให้เกษตรกรเห็นตัวอย่างว่า เมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยปลอดสารเคมีสามารถขายได้มูลค่าสูงมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนั้น ด้วยการเติบโตอย่างสูงของตลาดกาแฟสดกำลังนำโมเดลที่ใช้พัฒนาการปลูกกาแฟบนดอยช้าง ขยายไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ เช่น จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน เป็นต้น
นี่เป็นแนวทางของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงทำธุรกิจเพื่อหวังตัวเองได้กำไรเท่านั้น แต่ธุรกิจที่ทำอยู่ยังมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไปพร้อมกันด้วย
@@@@ หนุนภาคเกษตร ตอบโจทย์กาแฟสดบูมส่งขาย 7-11 @@@
ด้าน “วิโชติ คงคติธรรม” ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมของกาแฟสดที่เพิ่มสูงมากในคนไทย เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ทางผู้บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ 7-11 ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีนโยบายจะจัดมุมขายกาแฟสด “ออลล์ คาเฟ่” ในร้าน 7-11 โดยระบุว่าต้องใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพดีผลิตในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย
จากที่ได้รับนโยบายดังกล่าวจึงได้เสาะแสวงหาแหล่งผู้ผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพดี และที่สำคัญมีแนวคิดในการช่วยเหลือภาคเกษตรกรด้วย จนได้พบกับ บริษัท บลูคอฟ จำกัด โดย “ศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์” ซึ่งในวงการกาแฟรู้กันดีว่าได้เข้ามายกระดับการปลูกกาแฟบนดอยช้าง จ.เชียงราย จนได้คุณภาพดีเยี่ยม และยังมีส่วนช่วยรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยบนดอยช้างอีกกว่า 300 ครัวเรือน
จากแนวคิดที่ตรงกัน ทางซีพี รีเทลลิงค์ จึงได้ร่วมกับคุณศุภชัยเข้ามาช่วยส่งเสริมเกษตรกรปลูก “กาแฟพันธุ์อะราบิกา” ในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ และหลังผ่านการแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟคั่วแล้ว บริษัทจะรับซื้อทั้งหมด โดยปริมาณรับซื้อจากกลุ่มจากดอยช้างกว่า 400 ตัน นอกจากนั้น ทางบริษัทยังทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการอื่นๆ ใน จ.เชียงใหม่ที่มีแนวคิดลักษณะนี้ รวมแล้วปีที่ผ่านมา (2558) รับซื้อเมล็ดกาแฟคั่วสำเร็จ รวมกันกว่า 500 ตัน ส่งไปใช้ที่ “ออลล์ คาเฟ่” ภายในร้าน 7-11 กว่า 2,000 สาขา รวมถึงส่งเข้าร้านกาแฟ “มวลชน” อีกกว่า 50 สาขา
วิโชติเผยต่อว่า จากแนวโน้มตลาดกาแฟสดยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า ทั้ง “ออลล์ คาเฟ่” และกาแฟ “มวลชน” จะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมขึ้นอีก นอกจากนั้นยังมีแนวคิดจะทำเป็นเมล็ดกาแฟสดบรรจุซองขายด้วย ทำให้ปริมาณการใช้เมล็ดกาแฟสดสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในปีนี้ (2559) ตั้งเป้าว่าจะขยายการรับซื้อเมล็ดกาแฟสดคั่วสำเร็จเป็นกว่า 600 ตัน ซึ่งวิธีการหาแหล่งวัตถุดิบจะเข้าไปจับมือและส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีในภาคเกษตร เพื่อเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *