xs
xsm
sm
md
lg

“ลี” รุกขายยีนส์ผ่านตู้หยอดเงิน เจาะกลุ่มจีน ปีนี้ยอดขายพุ่ง 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ยีนส์ “ลี” มาแหวกแนว เปิดกลยุทธ์ขายยีนส์ “ลี” ผ่านตู้หยอดเงิน สร้างความหวือหวา หวังเจาะนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน เป้าหมาย 200 ตู้ใน 3 ปี นำร่องแล้ว 4 ตู้ ปีนี้เติบโตเกินเป้าที่ 30%

นายพุฒิชัย ไชยเวช ผู้จัดการอาวุโสแบรนด์ Lee บริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยีนส์ “ลี” ด้วยการเปิดตู้คีออสก์ หรือเครื่องขายเสื้อผ้าอัตโนมัติเป็นครั้งแรกในไทยและในกลุ่มตลาดยีนส์ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและเป็นการสร้างความแตกต่างในการรุกตลาดยีนส์ที่มีการแข่งขันรุนแรงด้วย ที่สำคัญคือการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 30% จากยอดขายรวมยีนส์ “ลี”

ปัจจุบัน “ลี” มีช่องทางจำหน่ายหลากหลายดังนี้ 1. ร้านที่เป็นเคาน์เตอร์ 130 แห่ง 2. ชอปสแตนด์อะโลน 50 แห่ง ซึ่งสองช่องทางนี้สัดส่วนยอดขาย 85% 3. ช่องทางออนไลน์ผ่านทางลาซาด้า, 24 ชอปปิ้ง, เซ็นทรัลออนไลน์ เป็นต้น สัดส่วนยอดขาย 10% ล่าสุดคือ 4. ตู้คีออสก์ สัดส่วน 5% ปัจจุบันมี 4 จุด คือที่ เซ็นทรัลเวิลด์ 2 จุด โรบินสัน พระรามเก้า และบิ๊กซี ราชดำริ ส่วนอีก 2 จุดจะเปิดเร็วๆ นี้ ส่วนปีหน้าวางเป้าหมายเปิด 60-100 จุด และระยะยาวเป็น 200 จุดใน 3 ปีจากนี้ เน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ลงทุนกว่า 200,000 บาทต่อจุดคีออสก์

สำหรับยอดขายรวมปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตมากถึง 30% มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปีก็ว่าได้ จากเดิมโตเฉลี่ย 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ จาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. การใช้ มาริโอ้ เมาเร่อ เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ทำให้สามารถดึงกลุ่มแฟนคลับและวัยรุ่นเข้ามาซื้อได้มากขึ้น รวมทั้งการออกคอลเลกชันพิเศษกับมาริโอ คือ เอ็ม 24 ด้วย 2. การใช้จ่ายของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 2,000 กว่าบาทต่อคนต่อบิลเป็น 3,000 บาทขึ้นไปต่อครั้งต่อบิล 3. การขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดตัวของค้าปลีกใหญ่ๆ และ 4. การตอบรับของกลุ่มทัวริสต์ โดยเฉพาะชาวจีน เช่นที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์นี้มีสัดส่วนต่างชาติประมาณ 70% โดยมีชาวจีนเป็นตลาดหลัก

“กลุ่มทัวริสต์จีนรู้จักยีนส์ลีเป็นอย่างดี อีกทั้งราคาที่ไทยถูกมากเมื่อเทียบกับที่ประเทศจีน เวลามาเที่ยวไทยเขาจะซื้อกันมาก เช่นที่จีนราคาเฉลี่ย 5,000-10,000 บาท แต่มาที่ไทยซื้อแบรนด์เดียวกัน ราคาเหลือแค่ 2,000-5,000 บาทเท่านั้น” นายพุฒิชัยกล่าว

สำหรับตู้อัตโนมัตินี้ เริ่มต้นที่การจำหน่ายเสื้อยืดก่อน เป็นรุ่นลิมิเต็ด จะไม่มีการวางขายในชอป เพื่อสร้างแรงจูงใจและเอ็กซ์คลูซีฟ โดยราคาที่ตั้งขณะนี้คือ หยอดเงินเข้าไปในตู้ครั้งละ 1,000 บาทจะได้เสื้อยืด 1 ตัว ซึ่งปกติก็ขายในระดับ 900 กว่าบาทอยู่แล้ว โดยยังจะได้กระป๋องใส่เสื้อที่สั่งทำพิเศษเก็บความร้อนและเย็นได้ รวมถึงคูปองแทนเงินสดมูลค่าตามที่ระบุไว้ รวมแล้วจ่ายแค่ 1,000 บาท แต่ได้ของมูลค่ารวมกว่า 2,970 บาท บรรจุตู้ละ 150 กระป๋อง ส่วนในอนาคตจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้าไปจำหน่ายในตู้คีออสก์ด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาที่เป็นชอปและเคาน์เตอร์ต่อเนื่องเหมือนเดิม ปีหน้าคาดว่าจะมีอีก 5 สาขา แต่ยอมรับว่าการเปิดคีออสก์นี้ถือเป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่ง เพราะว่าลงทุนน้อยกว่าการเปิดชอปมาก



กำลังโหลดความคิดเห็น