สสว.รับลูกเร่งสนองนโยบายรัฐบาลเผยความคืบหน้าโครงการ Turn Around, Strong/Regular, Start Up, ร้านค้าประชารัฐสุขใจ เผย GDP SME ปี 2558 ขยายตัว 5.3% ส่งผลสัดส่วน GDP SME ขยับเกิน 40% ของ GDP ประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงผลความคืบหน้าการดำเนินงานของ สสว.ในการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการ ตามโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) เป็นวงเงินรวม 1,977.645 ล้านบาท ว่า GDP SME ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 5.4 นับเป็นการขยายตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้ GDP SME ในปี 2558 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.3 โดยมีมูลค่า 5.56 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ สัดส่วนของ GDP SME ต่อ GDP รวมของประเทศ ในปี 2558 ยังขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41.1 ซึ่งกลับมาสูงกว่าร้อยละ 40 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และ สสว.ประมาณว่า GDP ของ SME ในปี 2559 จะยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า GDP ประเทศ คือในระดับ 5-5.5% เทียบกับ GDP ประเทศ ซึ่งสภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8-3.8 ในปี 2559
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากมาตรการส่งเสริม SMEs และกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคการบริการและภาคการค้า ซึ่ง SMEs มีบทบาทในสาขาดังกล่าวสูง โดยสาขาธุรกิจที่มีการขยายตัวสูงในปี 2558 ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์
ส่วนเอสเอ็มอีที่มีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การศึกษา ขยายตัวร้อยละ 4.7 สุขภาพขยายตัวร้อยละ 4.4 และอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับเอสเอ็มอีที่มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีประเทศ โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เช่น ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล ยานยนต์และชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ สสว.ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐฯ เพื่อการสนับสนุน SMEs สามารถสรุปได้ดังนี้
1. กลุ่ม SME ขนาดย่อมที่ต้องการปรับปรุงกิจการ (โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs หรือ Turn Around) งบประมาณ 200 ล้านบาท ทาง สสว.ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารเอสเอ็มอี ในการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (Small SMEs) ที่ต้องการปรับปรุงกิจการให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโตต่อไปได้ สสว.กำหนดเป้าหมายรวมที่ 10,000 กิจการในปี 2559 โครงการนี้เริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559 ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 450 ราย จากจำนวนที่สมัครไว้ทั้งสิ้น 4,000 ราย
จากการประเมินผลเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหายอดขายตกต่ำและมีหนี้ค้างจ่ายกับสถาบันการเงิน ซึ่ง สสว.จะส่งนักวินิจฉัยเข้าวิเคราะห์เชิงลึกเป็นรายกิจการ เพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงก่อนที่จะวางแนวทางแก้ไข ซึ่งปัญหาอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสินค้าหรือบริการล้าสมัย ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค หรือมีต้นทุนสูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคา หรืออาจเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดไม่เหมาะสม หรือมีข้อจำกัดในเรื่องช่องทางการจำหน่าย เป็นต้น
ในส่วนปัญหาทางการเงินนั้น สสว.จะช่วยประสานงานกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เดิมให้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ ผู้ประกอบการที่ได้ผ่านการปรับแผนธุรกิจและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว สามารถยื่นขอกู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว.ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะ 5-7 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย คณะกรรมการ สสว.ได้อนุมัติวงเงินรวมสำหรับกองทุนพลิกฟื้นไว้ 1,000 ล้านบาท สสว. กับ มทร. ธัญบุรี และภาคีจะเปิดดำเนินโครงการ Turn Around ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับการประชาสัมพันธ์และรับสมัครผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนภูมิภาคจะเริ่มในเดือนมี.ค. 2559 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก เชียงใหม่ และสงขลา
2. กลุ่ม Start Up (โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่) งบประมาณ 200 ล้านบาท ทาง สสว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ร่วมกันดำเนินการ โดยกำหนดเป้าหมายจะรับเข้าบ่มเพาะ 10,000 ราย ในปี 2559 ขณะนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 3,417 ราย หลักสูตรการบ่มเพาะจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2559 โดยจะดำเนินการในศูนย์บ่มเพาะของ มทร. ทั้ง 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่รวม 35 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมทั้งในศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นภาคีของ มทร. เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเขตภาคใต้ มหาวิทยาลัยนเรศวรในเขตภาคกลาง เป็นต้น ศูนย์บ่มเพาะจะให้ความรู้พื้นฐานในการประกอบธุรกิจ และให้ความรู้เฉพาะด้าน (Technical Knowhow) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ Start Up มีความต้องการ หลังจากนั้นจะเริ่มทำแผนธุรกิจ
โดยในขั้นตอนนี้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจะเข้ามาเป็นผู้แนะนำให้แนวทางในการประกอบธุรกิจจริง รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงหลังจากที่ Start Up ได้เริ่มดำเนินกิจการแล้ว โดย สสว.จะสนับสนุนให้ Start Up ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อไป ศูนย์บ่มเพาะจะเปิดรับ Start Up มาเข้ารับการดูแลอีกครั้งในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2559 และเชื่อว่า จะมีผู้สนใจเข้ามาร่วมรับการบ่มเพาะไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้านนายจอม มุกดาประกร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ (ทั่วไป) สสว. กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนจำนวน 450 ราย แบ่งออกเป็น 234 รายที่มีการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง และเข้ารับการวินิจฉัยเบื้องต้นนั้น เป็นกลุ่มลูกค้าธนาคารเอสเอ็มอี 117 ราย ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มสมาชิก สสว. และผู้สนใจทั่วไป
ทั้งนี้ พบว่ามี 10 ประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการ ดังนี้ สำหรับในลำดับแรก คือ ปัญหาผลการดำเนินธุรกิจขาดทุน จำนวน 54 ราย การค้างชำระจำนวน 44 ราย จำนวนลูกค้าของกิจการช่วง 1 ปีที่ผ่านมาลดลง 62 ราย ยอดขายลดลง 77 ราย การจัดการช่องทางการขายหรือให้บริการ 111 ราย การคืนสินค้า 108 ราย การจัดทำและการดำเนินตามแผนธุรกิจ หรือแผนการขาย หรือแผนการจัดการ 119 ราย การบริหารจัดการสต๊อกสินค้า 72 ราย การได้รับใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ 36 ราย และการบริหารจัดการพนักงาน 45 ราย
ทั้งนี้ ยังได้เตรียมการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยจะตรวจสอบข้อมูลงบการเงิน และ ศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพเพิ่ม พร้อมสรุปรายชื่อผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ และเกณฑ์ที่จะเข้าร่วมโครงการ และมีที่ปรึกษานัดหมายและเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกและเสนอผลรายงานข้อเสนอแนะรายสถานประกอบการ รวมถึงจัดการอบรมย่อยในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการในระยะแรก ประมาณ 500 ราย
3. กลุ่ม Regular (โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต) งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสมาคมการค้าต่างๆ มากกว่า 40 สมาคม กลุ่ม Cluster กว่า 10 กลุ่ม ได้ส่งรายชื่อผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย และคาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 3,000 ราย จากเป้าหมายรับสมัคร 10,000 ราย คาดว่าจะสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ่านกระบวนการส่งเสริม และพัฒนาให้แข่งขันได้ในระดับสากลไม่น้อยกว่า 2,000 ราย อีก 8,000 รายจะเป็น SMEs ที่มีฐานะเข้มแข็ง สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป สสว.ดำเนินโครงการ SME Regular ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคีที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการต้นเดือน มี.ค. 2559
4. ร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop 148 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สสว. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บมจ.ปตท. (ปตท.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และธนาคารเอสเอ็มอี (ธพว.)
ความคืบหน้าในการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาและเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว ส่วนในภาคอื่นๆ ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาแล้วและอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ โดยผู้รับเหมากำหนดส่งมอบร้านค้าให้ ททท. ภายในวันที่ 26 มี.ค. 2559 และในวันที่ 25 ก.พ. 2559 จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกสินค้าเข้าจำหน่ายในร้านทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั้งนี้จะได้ให้ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) เข้ามาร่วมในการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าของสินค้า
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *