xs
xsm
sm
md
lg

‘อาร์.เค ฟู๊ด’ เบอร์หนึ่งลำไยอบแห้งบุกแดนมังกร (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลำไยที่ผ่านกระบวนการอบแห้งทั้งเปลือก เมื่อแกะเปลือกออกมาแล้วจะเป็นเช่นนี้
ในธุรกิจส่งออกลำไยอบแห้งทั้งเปลือก “อาร์.เค ฟู๊ด” ถือเป็นหมายเลขหนึ่ง ด้วยปริมาณส่งออกสูงสุดของประเทศ ปีละมากกว่า 8,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยอาศัยความเจนจัดในธุรกิจเกษตรครบวงจร ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่เฉพาะตัว ตลอดจนวิธีทำตลาดน่าสนใจ มุ่งเจาะตลาดใหม่ระดับพรีเมียมในเมืองจีน ส่งให้เติบใหญ่และแข็งแกร่งอย่างยิ่ง

บริษัท อาร์.เค ฟู๊ด จำกัด อยู่ที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บริหารโดย “ราม” และ “กาญจนา พงศ์พฤกษทล” เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วลาออกจากพนักงานธนาคาร เข้าทำงานที่โรงงานลำไยเจ้ายักษ์ในวงการ มีเถ้าแก่เป็นชาวไต้หวัน ได้รับมอบหมายให้เป็น “หลงจู๊” ดูแลธุรกิจแทบทุกอย่าง


กาญจนา (ซ้าย) และราม พงศ์พฤกษทล”
รามเล่าว่า ทำงานเป็นลูกจ้างกว่า 9 ปี จนเกิดจุดเปลี่ยน เมื่อเถ้าแก่ชาวไต้หวันตัดสินใจเลิกกิจการลำไยเปลี่ยนไปทำ “ยางพารา” แทน ซึ่งเวลานั้นเป็นธุรกิจดาวรุ่งได้รับความสนใจอย่างสูงสุด คาดจะมีผลตอบแทนงดงามกว่า

“ตอนนั้นผมเหมือนโดน “ลอยแพ” เลยตัดสินใจออกมาเช่าโกดังทำธุรกิจตัวเองเมื่อปี 2538 รับซื้อลำไยสดไปกระจายให้สหกรณ์ต่างๆ ทำได้สักพักผมเห็นโอกาสที่ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกตลาดจีนนิยมมาก เชื่อกันว่าเป็นผลไม้มงคล ในเมืองไทยไม่มีใครทำมาก่อน ผมเลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังเพื่อจะบุกเบิกส่งไปจีน” รามเล่า และเสริมต่อว่า

หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจ “อาร์.เค ฟู๊ด” ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาจากการสร้างคุณภาพสินค้าให้อยู่ในระดับพรีเมียม ตั้งแต่วัตถุดิบลำไยสดเจาะจงต้องเป็นพันธุ์ “อีดอ” เกรดดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งเหมาะแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งมากที่สุด รวมถึง คิดค้น “ตู้อบไอน้ำ” ใช้อบแห้งลำไยเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ช่วยให้ได้ผลผลิตสวยงาม เนื้อลำไยแห้งสม่ำเสมอ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เดิมเราใช้ตู้อบพลังงานก๊าซ นำเข้าจากไต้หวัน จนเมื่อปี 2546 พัฒนาตู้อบจากพลังงานไอน้ำของตัวเอง โดยใช้ต้นแบบจากตู้อบใบยาสูบมาประยุกต์ใช้อบลำไย ซึ่งพลังงานที่ใช้ต้มน้ำให้เดือดจนเกิดไอน้ำคือ “ฟืนไม้ลำไย” ล้วนๆ ไม่ใช่ถ่านหินลิกไนต์แม้ต้นทุนจะถูกกว่าเพราะเราต้องการให้โรงงานเป็นมิตรต่อชุมชน ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ปลูกลำไยอีกทาง สามารถนำไม้ลำไยที่ตัดทิ้งมาขายได้ในราคาเฉลี่ย 1.5 บาทต่อกิโลกรัม เฉพาะค่าฟื้น ต่อปีผมใช้เงินซื้อกว่า 20 ล้านบาท”
ภายในโรงงาน
สำหรับลำไยอบแห้งทั้งเปลือก คุณสมบัติรสชาติเหมือนลำไยสด ไม่หวานมาก เหมาะสำหรับกินเล่น หรือสามารถนำไปประกอบอาหาร รวมถึงแปรรูป เช่น ทำไวน์ลำไย หรือใช้ผสมอาหารเพื่อเพิ่มความหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น
โกดังเก็บลำไยที่ผ่านการอบแห้งแล้ว เตรียมส่งออกเมืองจีน
กระบวนการทำลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ในแต่ละปีอยู่ในช่วง 2 เดือน ประมาณกรกฎาคมถึงสิงหาคมเท่านั้น ซึ่งต้องทำงาน 24 ชม.แข่งกับเวลา ชาวสวนจะนำลำไยสดมาส่งขายที่โรงงาน ซึ่งจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 1-2 บาทต่อกิโลกรัม ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นเกรดดีที่สุดเท่านั้น จากนั้นเข้ากระบวนการเครื่องจักร เช่น การล้าง คัดขนาด ก่อนส่งเข้าตู้อบไอน้ำ ใช้เวลารอบนานถึง 48-50 ชั่วโมง ก่อนจะนำเข้าห้องแช่เย็น และบรรจุเพื่อส่งขายต่อไป

ปัจจุบัน “อาร์.เค ฟู๊ด” มีปริมาณรับซื้อลำไยสดปีละกว่า 14 ล้านกิโลกรัม ส่วนตู้อบมีทั้งหมดถึง 60 ห้อง โดยลำไยสด 10 กิโลกรัมเมื่อเข้าสู่กระบวนการอบแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ด้านการตลาด ส่งออกประเทศจีนถึง 99.99% ที่เหลือเล็กน้อยส่งขายในประเทศย่านเยาวราช โดยปริมาณส่งออกเฉลี่ยกว่า 8,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกลำไยอบแห้งรวม นับเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดของประเทศ

รามเล่าถึงการทำตลาดให้ฟังว่า ยุคแรกรับอบในรูปแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้แบรนด์ต่างๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและไต้หวัน ต่อมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง ใช้ภาษาจีนว่า “ต้าฉงเหมา” สัญลักษณ์เป็นรูปหมีแพนด้า ซึ่งปัจจุบันชาวจีนเชื่อถือคุณภาพ และรู้จักเป็นอย่างดี

ยุทธศาสตร์ทำตลาดของ “อาร์.เค ฟู๊ด” มุ่งขยายตลาดในประเทศจีนที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนมากที่สุดในโลก และการขยายตัวของชนชั้นกลางมากขึ้นย่อมทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

“ตลาดจีนกว้างใหญ่มหาศาลมาก วิธีการทำตลาดในจีน นอกจากจะไปตั้งสำนักงานจีนแล้ว ยังอาศัยร่วมธุรกิจกับนักลงทุนชาวจีน โดยขายส่งให้ในราคาประมาณ 60-80 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นนักธุรกิจจีนจะไปทำตลาดในประเทศเขาเอง เหตุที่เราเลือกวิธีนี้เพราะอย่างไรเสียชาวจีนย่อมเข้าใจตลาดท้องถิ่น รู้วัฒนธรรม และทันเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าเราที่อยู่เมืองไทย ส่วนราคาขายปลีกในจีนอยู่ที่ 110-400 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้มีชาวจีนหลายรายติดต่อขอร่วมธุรกิจ เพราะเห็นต้นแบบความสำเร็จจากรายที่ผ่านมา” รามเผย และเสริมว่า
แบรนด์ของตัวเอง สัญลักษณ์เป็นรูปหมีแพนด้า
จากวิธีดังกล่าวช่วยให้ลำไยอบแห้งของบริษัทฯ กระจายไปยังเมืองใหม่ๆ ของจีนอย่างกว้างขวาง เช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ปักกิ่ง อี้อู หนานจิง ชิงเต่า หนานชาง ฉางซา กว่างโจว ฯลฯ ซึ่งเป็นเมืองที่เศรษฐกิจค่อนข้างดี และอากาศหนาวเย็น จึงนิยมกินลำไยอบแห้งเพราะช่วยให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
กองฟืนไม้ลำไย
ด้านปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจนี้ มาจากราคาลำไยผันผวน และจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมากในการรับซื้อผลผลิตยามออกมาพร้อมกัน ที่ผ่านมาอาศัยกลไกสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเป็นทุนสำรองไว้ซื้อวัตถุดิบลำไยสดเก็บเป็นสต๊อกให้มากที่สุดเพื่อพยุงราคาไม่ผันผวนจนเกินไป

แม้ธุรกิจจะใหญ่โตขนาดนี้ แต่บริษัทแห่งนี้กลับมีพนักงานประจำเพียงแค่ 19 คนเท่านั้น เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจลำไยที่ต้องอิงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลในช่วงระยะเพียง 2 เดือน (กรกฎาคม และสิงหาคม) โดยช่วงเวลานี้ จะใช้วิธีจ้างเป็นรายวันมากกว่า 300 คน ส่วนเวลาที่เหลือเป็นการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า
เตาเผาฟืนไม้
นอกจากนั้น โรงงานและโกดังสินค้าที่ว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยวจะรับอบผลผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะข้าวโพดเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ โดยบริษัทจะมีรายได้จากการขายลำไยอบแห้งประมาณ 90% และอีก 10% จากการอบผลไม้อื่นๆ

เจ้าของธุรกิจเผยด้วยว่า การแข่งขันของธุรกิจลำไยอบแห้ง ขณะนี้ในเมืองไทยมีโรงงานกว่า 200 แห่ง ทว่าส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ครบวงจรมาตรฐานระดับส่งออก มีแค่ 5 แห่งเท่านั้น และเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด เฉพาะแค่ประเทศจีนแห่งเดียว ยังเหลืออีกมากมายมหาศาล
“ตลาดจีนกว้างใหญ่มหาศาลมาก วิธีการทำตลาดในจีน นอกจากจะไปตั้งสำนักงานจีนแล้ว ยังอาศัยร่วมธุรกิจกับนักลงทุนชาวจีน ราม กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับหน้าใหม่ที่จะกระโดดเข้าสู่วงการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้าต้องการทำโรงงานครบวงจรต้องใช้ทุนกว่า 200 ล้านบาท ส่วนการทำตลาดควรมีความรู้เรื่อง “ภาษาจีน” ช่วยให้เข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดต้องมีสินค้าคุณภาพดี สร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า

ความสำเร็จของ “อาร์.เค ฟู๊ด” สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจลำไยแม้การแข่งขันจะสูง ทว่าโอกาสยังเปิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในจีนที่ยังมีตลาดใหม่ให้ค้นหาอีกมหาศาล



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น