xs
xsm
sm
md
lg

ทุนจีนประเดิมขนยางพาราอัดแท่งระบบรางจากหนองคายถึงแหลมฉบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายลิน ซิ่ง หย่ง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กวางเขิ่น กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด
หนองคาย - ทุนจีนผลิตยางอัดแท่ง ประเดิมใช้บริการนำร่องขนส่งระบบราง นำยางพาราอัดแท่งจากโรงงานในอุดรธานีขึ้นขบวนรถไฟจากสถานีหนองคายมุ่งตรงสู่ท่าเรือแหลมฉบัง หนุนระบบลอจิสติกส์ภูมิภาคลดต้นทุนขนส่ง ประเดิมเขตเศรษฐกิจพิเศษของหนองคาย

วันนี้ (28 มิ.ย. 58) ที่สถานีรถไฟหนองคาย นายลิน ซิ่ง หย่ง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กวางเขิ่นกรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย น.ส.ณัฎฐวี ทองรอด กรรมการผู้จัดการบริษัท 888 อินเตอร์เนชั่นแนล บิซิเนส แอนด์ ริโค่ จำกัด และบริษัท พาวเวอร์ริช จำกัด ได้ตรวจสอบการนำตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นขบวนรถไฟ หัวลาก ยู 20 ขบวน 5102 ซึ่งเป็นหัวจักรใหม่ใช้ขนส่งสินค้าทางราง จากสถานีรถไฟหนองคายถึงสถานีรถไฟแหลมฉบัง

นายลิน ซิ่ง หย่ง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กวางเขิ่น กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งโรงงานรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในหลายพื้นที่มาแปรรูปเป็นยางพาราอัดแท่ง ก่อนจะส่งออกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีโรงงานที่ จ.อุดรธานี, สตูล, ตรัง, ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในส่วนโรงงานใน จ.อุดรธานีนั้นดำเนินการมา 4 ปี ในการขนส่งยางพาราอัดแท่งต้องใช้รถเทรลเลอร์ขนยางพาราอัดแท่งประมาณ 200-500 ตัน/วัน ต้นทุนค่าขนส่งสูง

ทั้งนี้ อยากให้ปรับรูปแบบการขนส่งจากรถยนต์เป็นรถไฟแทน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความพร้อม จนกระทั่งบริษัท 888 ที่ทำงานร่วมกันมานานมีความพร้อมในการปรับรูปแบบการขนส่ง ตรงความต้องการของบริษัท เพราะมั่นใจว่าการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จะประหยัดค่าขนส่งและสามารถลดต้นทุนลงได้มากเป็นเท่าตัว เช่น จากเดิมที่ต้องจ่ายค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ละ 1,000 บาท ก็จะเหลือตู้ละ 500 บาทเท่านั้น

ด้าน น.ส.ณัฎฐวี ทองรอด กรรมการผู้จัดการบริษัท 888 อินเตอร์เนชั่นแนล บิซิเนส แอนด์ ริโค่ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้เจรจาข้อตกลงร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการขนส่งสินค้าจากสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบการขนส่งเป็นขบวนแรก โดยนำยางพาราอัดแท่งจำนวน 20 ตู้ หรือประมาณ 400 ตัน ใช้เวลาขนส่ง 18 ชั่วโมง มาใช้บริการก่อน จากนั้นจะสรุปผลการขนส่งทางรางและประเมินภาพรวม

ถือเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบรางของการรถไฟฯ ตามแผนฟื้นฟูการรถไฟฯ กอปรกับการที่จังหวัดหนองคายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเฟสที่ 2 ทำให้ จ.หนองคายมีศักยภาพรองรับการท่องเที่ยว การขนส่งลอจิสติกส์ อีกทั้งยังมีโรงงานในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ การใช้บริการรถไฟจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ที่ผ่านมาบริษัทถูกโจมตีว่าเป็นบริษัทใหญ่มาทำลายระบบการแข่งขันทางธุรกิจรถยนต์ขนส่ง ซึ่งไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าการขนส่งแบบนี้เป็นทางเลือกสำหรับการขนส่งสินค้า

สำหรับขบวนรถไฟหัวจักร ยู 20 แบบใหม่นี้มีโบกี้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 30 ตู้ เมื่อทางบริษัทประเมินผลภาพรวมแล้วจะเริ่มใช้บริการอย่างเต็มระบบในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2558 และถือเป็นการลงทุนของภาคเอกชนรายแรกหลังจากที่ จ.หนองคาย ได้รับการพิจารณาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2



กำลังโหลดความคิดเห็น