ม.ธุรกิจบัณฑิตย์คาด GDP SME ปีหน้าขยายตัว 3.3-3.6% ชี้เลยจุดต่ำสุดมาแล้ว พร้อมได้ปัจจัยเอื้อจากอาเซียนเติบโตสูง หวั่นหนี้ครัวเรือนสูงตัวฉุดฟื้นไข้ พร้อมเผยผลสำรวจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กังวลรักษาสภาพคล่อง และผวาการแข่งขันสูง ขณะที่นิยามการทำธุรกิจปีนี้ว่า “พายเรือทวนน้ำ” ส่วนปีหน้า “สู้แล้วรวย”
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจฯ ได้ทำการประมาณแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2558) ไว้ที่ประมาณ 3.8% จากปัจจัยที่ฐานปีนี้ (2557) ค่อนข้างต่ำ รวมถึงประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตสูง เฉลี่ย 5-8% ขณะที่ประเทศไทยตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาค จึงถือเป็นตัวช่วยฉุดเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามไปด้วย
ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี (GDP SME) คาดจะขยายตัวที่ประมาณ 3.3-3.6% โดยมีปัจจัยเอื้อมาจากเชื่อว่าสภาพการณ์ของเอสเอ็มอีผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และประสบการณ์ความลำบากที่ผ่านมาแล้วจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในการปรับตัวให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำตลาดได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งปีที่ผ่านมาเอสเอ็มอีใช้ศักยภาพของตัวเองในการผลิตสินค้าหรือบริการเพียงแค่ 60% เท่านั้นเพราะขาดความเชื่อมั่น เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวทำให้กล้าจะลงทุนเพิ่มเต็มศักยภาพที่ตัวเองมี
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเอสเอ็มอีจะเริ่มเห็นผลช้าๆ หลังจากผ่านไตรมาส 1 ไปแล้ว และจะเห็นการเติบโตอย่างชัดเจนจริงๆ หลังผ่านไตรมาส 2 ส่วนเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลง มองว่าเอสเอ็มอีไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากต้นทุนสำคัญของเอสเอ็มอีคือค่าจ้างแรงงานที่สูงถึงกว่า 60-70% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่กลับจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากกว่า
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลที่จะเป็นตัวฉุดการกลับมาฟื้นตัวของเอสเอ็มอีนั้น อยู่ที่แม้ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทว่า ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้กำลังซื้อไม่กลับมามากอย่างที่คาดหวัง นอกจากนั้น เอสเอ็มอีมีโอกาสโดนดูดบุคลากรคุณภาพไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง รวมไปถึง กฎหมายค้ำประกัน จะทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงตัวเอง แม้จะเป็นกฎหมายที่มีเจตนาดี แต่ควรปรับกระบวนการเพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทาง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอีจำนวน 623 รายจาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจปี 2558 พบว่า ด้านการเงิน สิ่งที่เอสเอ็มอีคิดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดคือ การรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ 66.6% บ่งบอกว่าเอสเอ็มอีประสบภาวะเงินฝืด ตามด้วยการเข้าถึงแหล่งทุน 54.3% การเติบโตของรายได้ 52.2% ต้นทุนการผลิต 51.1% ภาระหนี้ 35.2% ผลตอบแทนจากการลงทุนการเงิน 22.3% และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 10.1%
ด้านการตลาด สิ่งที่เอสเอ็มอีคิดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดคือ การรักษาฐานลูกค้าเดิม 51.3% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งภายในประเทศ 50.8% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งนอกประเทศกลุ่มอาเซียน 50.1% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งในประเทศกลุ่มอาเซียน 49.2% ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีกังวลเรื่องการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากที่ต้องแข่งกับรายใหญ่ แข่งขันกันเองในหมู่เอสเอ็มอี รวมถึงแข่งกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในแบบสอบถามได้ให้เอสเอ็มอีนิยามสถานการณ์ธุรกิจของตัวเองในปีที่ผ่านมา จำนวน 51.2% ระบุว่าเป็น “การพายเรือทวนน้ำ” หมายถึง เป็นปีที่ยากลำบาก เหนื่อยแสนสาหัสแค่ประคองธุรกิจให้อยู่เสมอตัว ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า ส่วนนิยามในปี 2558 นั้น เอสเอ็มอีจำนวน 39.5% บอกว่า “สู้แล้วรวย” หมายถึง ยังเชื่อว่าเป็นปีที่หนักหนาเช่นเดิม อย่างไรก็ตามมีความหวัง หากทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ยังมีโอกาสจะเติบโตได้
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวด้วยว่า สำหรับการเตรียมพร้อมของเอสเอ็มอีในปีหน้า ควรจะต้องเจาะจงหาลูกค้าหรือตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ขายแบบปูพรม เพราะผู้ซื้อจะมีความรอบคอบในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น หากสินค้าหรือบริการไม่โดนใจจริงๆ จะไม่จับจ่าย ดังนั้น เอสเอ็มอีควรหันมาให้ความสำคัญเรื่อง “กำไร” มากกว่าเรื่อง “ยอดขาย” กล่าวคือ อาจจะไม่ต้องขายสินค้าปริมาณมากๆ แต่ให้ขายในปริมาณเหมาะสมแต่ได้กำไรสูง ส่วนนโยบายของภาครัฐที่ออกมาเวลานี้มีจำนวนมากเพียงพอแล้ว แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ควรจะนำมาตรการต่างๆ มาร้อยรวมกันให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบเฉพาะเจาะจง โดยเลือกช่วยในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและผู้คนจำนวนมากเสียก่อน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *