xs
xsm
sm
md
lg

ม.ธุรกิจฯ สำรวจโค้งสุดท้าย SME น่าห่วงร้อยละ 13.2 ขาดทุน เหตุยอดขายหดตั้งแต่ ก.ค. 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผช.รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลสำรวจโค้งสุดท้ายเศรษฐกิจ การเมือง ในสายตาเอสเอ็มอี พบว่าสถานการณ์เอสเอ็มอีครึ่งหลังปี 2557 น่าเป็นห่วง โดยเอสเอ็มอีกว่า 13.2% ระบุว่ากำลังประสบปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีก และทางฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยฯ มองว่า ไตรมาส 4 การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ถึง 1.5% เหตุยอดขายหดมาตลอดตั้งแต่ กรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน ชี้เอสเอ็มอีหาทางออก หันพึ่งการทำตลาด E-market เพื่อลดต้นทุน

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงผลสำรวจโค้งสุดท้ายเศรษฐกิจการเมืองไทยในสายตาเอสเอ็มอี พบว่า จากการสำรวจสถานการณ์ของเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 3 และการก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 น่าเป็นห่วงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะจากการสำรวจเอสเอ็มอี 816 ราย จาก 12 จังหวัด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม-6 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 13.2% ระบุว่ากำลังประสบปัญหาการขาดทุน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งถ้าคิดจากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด สูงถึง 3 แสน 6 หมื่นราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ขาดทุนสูงสุด เป็น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ท่องเที่ยว และโรงแรม และจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2557 เทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งผู้ประกอบการกว่า 41% มองว่าสถานการณ์แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนไตรมาส 4 ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ถึง 71.6% และ 10.2% แย่ลง ซึ่งจากตัวเลขทำให้สะท้อนมุมมองของเอสเอ็มอีว่า ช่วงครึ่งปีหลังจะยังไม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนหนึ่งจากการสำรวจที่สะท้อนมุมมองดังกล่าว มาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบัน โดยดูจากตัวเลขยอดขายที่ติดลบมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ดังนั้น คงต้องมามองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลส่งลงไปในช่วงนี้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ในส่วนของการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในมุมมองของเอสเอ็มอีในปี 2558 ระบุว่า น่าจะดีขึ้น 48.2% และใกล้เคียงกัน 41.1% ส่วนการคาดการณ์อัตราการขยายตัวกลุ่มนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 3.2% อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไตรมาส 4 นี้ ทางฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าน่าจะต่ำกว่า 1.5% ซึ่งแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และทางมหาวิทยาลัยแสดงความเป็นห่วงฝากไปถึงรัฐบาลที่รับผิดชอบว่า น่าจะลงมาดูแลเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด และเห็นด้วยว่าจะผลักดันให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

สำหรับแผนการรับมือของเอสเอ็มอี ในช่วงไตรมาส 4 นั้น โดยในส่วนของการลงทุนเอสเอ็มอีจะมุ่งไปในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทดแทนการจ้างบุคลากร และเอสเอ็มอียังมองว่าการทำตลาดแบบ E-market ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เห็นว่า การจ้างบุคลากร จะเลือกคนที่เก่ง และทำงานได้เท่านั้น ส่งผลให้แรงงานที่เป็นบัณฑิตตกงานมากขึ้น และผันตัวเองไปเป็นเอสเอ็มอี เกิดเอสเอ็มอีหน้าใหม่มากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ไม่แข็งแรง และต้องเลิกกิจการไป ดังนั้น ปัญหาของเอสเอ็มอียังมีเรื่องกำลังซื้อที่หดตัวลง และการขาดสภาพคล่อง

ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงความพร้อมของเอสเอ็มอีในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความพร้อมในการทำธุรกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะความพร้อมด้านภาษา พันธมิตรในภูมิภาค แหล่งทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการส่งออก นำเข้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว ส่วนความเชื่อมั่นทางการเมือง เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจภาพรวมในระดับ 8.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น