รายงานตัวสภาปฏิรูปแห่งชาติวันที่ 2 คึกคัก “สปช.ชัย” โอ่ถ้ายังมีกำลังวังชาอยู่ก็นั่งประธานได้ บอกเล่นการเมืองมา 42 ปี ครั้งนี้เฟะที่สุดโดยเฉพาะเรื่องโกง จ่อใน สปช.77 จังหวัดชงแนวทางด้านวัฒนธรรม แต่รับเวลาแค่ 6 เดือนเร็วไป แนะเอานักปฏิบัติมาร่วม ชี้รัฐธรรมนูญถ้าเขียนมาดีก็ไม่ต้องมีประชามติ ฉงนนักวิชาการหนุนปฏิรูปหายจ้อย แฉเด็กพรรคใหญ่ก็แจมเก้าอี้ ด้าน “สปช.วสันต์” หวังกำจัดจุดอ่อนสื่อ
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่รัฐสภา บรรยากาศการรายงานตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ วันที่ 2 เป็นไปอย่างคึกคัก โดยนายวิชัย ด่านรุ่นโรจน์ เดินทางเข้ารายงานตัวคนแรกในเวลา 08.10 น. ตามมาด้วยนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย, นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนางสุกัญญา สุดบรรทัด คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ขณะที่นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช.ได้เดินทางมารายงานตัวเช่นกัน พร้อมกล่าวถึงกระแสข่าวการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งประธาน สปช.ว่า ตราบใดที่กำลังวังชาของตนนั้นยังมีอยู่ก็เป็นได้ เพราะเรามีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ ซึ่งนโยบายของพรรคภูมิใจไทยอยากให้ประเทศไปในทิศทางที่ดีทุกด้าน เนื่องจากตั้งแต่เล่นการเมืองมา 42 ปี ครั้งนี้เฟะที่สุด โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนแนวทางการทำงานนั้นมองว่าแนวการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ครอบคลุม จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการเพิ่มหัวข้อในอีกหลายด้าน เช่น ให้ตัวแทน สปช.จากทั้ง 77 จังหวัดเสนอแนวทางปฏิรูปโดยเฉพาะทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
เมื่อถามว่า มองกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายชัยกล่าวว่า คงเป็นไปได้ยากในระยะเวลา 6 เดือน เพราะถือว่าเร็วไป แต่สุดท้ายแล้วการร่างรัฐธรรมนูญจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแนวคิดของ คสช.ที่วางไว้ ว่าจะไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดของ สปช.หรือไม่ ตนมองว่าควรให้นักปฏิบัติเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เนื่องจากนักวิชาการมีความรู้แต่ปฏิบัติไม่เป็น ส่วนจะมีการทำประชามติด้วยหรือไม่นั้น หากเขียนรัฐธรรมนูญออกมาดีก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ
ส่วนที่มองว่ามีนักการเมืองเข้าร่วมการปฏิรูปน้อยจะมีผลกระทบหรือไม่ นายชัยกล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองมีตัวแทนเข้ามาร่วมหมด แต่ไม่แสดงตัว เพราะไม่อยากแปดเปื้อน แต่ตนไม่กลัว เพราะต้องการที่จะปฏิรูปประเทศจริงๆ ตนรู้สึกแปลกใจที่ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการปฏิรูปเป็นจำนวนมาก แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่มีใครเข้ามาร่วมเลย
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีต ผอ.อสมท กล่าวว่า ตนมาในฐานะ สปช.ด้านสื่อมวลชน การจะปฏิรูปประเทศนั้นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องปฏิรูปสื่อมวลชนด้วย โดยที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของสื่อยังมีจุดอ่อน จึงต้องกำหนดแนวทางการควบคุมกันเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ดูแลสื่อ อย่างเช่น กสทช. ก็ควรมีการปรับปรุงให้องค์กรมีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งในด้านการกำกับดูแล และการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งนี้ องค์กรอิสระที่จะเข้ามาดูแลสื่อควรมีองค์กรเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ