“สวนสามพราน” ถือเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอยู่คู่ จ.นครปฐมมายาวนาน ภายใต้พื้นที่กว่า 170 ไร่ มีทั้งสวนดอกไม้นานาชนิด หมู่บ้านไทย และเปิดบริการโรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อีกบทบาทใหม่ของสวนสามพรานที่เริ่มคุ้นชินของคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ศูนย์รวมการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ส่งตรงผักผลไม้ปลอดสารพิษจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรงในราคาถูก เกิดประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “สามพรานโมเดล”
เจ้าของโครงการและผู้บุกเบิก ได้แก่ ทายาทธุรกิจสวนสามพรานอย่าง “อรุษ นวราช” หรือ “คุณโอ” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ร่ำเรียนทางด้านวิศวกรรมเคมีจากประเทศอังกฤษ เคยทำงานที่กรุงเทพฯ นับสิบปี ก่อนจะกลับมาสานธุรกิจครอบครัวต่อจากคุณแม่ (สุชาดา ยุวบูรณ์)
ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการมาจากคุณแม่และตัวเขาเองใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วริเริ่มแบ่งพื้นที่ประมาณ 35 ไร่มาทำแปลงสาธิตปลูกผัก และสวนผลไม้ตามวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะนำผลผลิตมาให้ใช้ในห้องอาหารบริการลูกค้าโรงแรม
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผลผลิตที่ปลูกในแปลงตัวเองไม่เพียงพอ จำเป็นต้องหาเพิ่มเติม หากจะซื้อจากตัวแทนหรือพ่อค้าคนกลางที่ไปรับผลผลิตจากเกษตรกรมาขายต่อ ราคาก็สูงมาก จึงเกิดแนวคิดลงไปสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นให้ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วรับซื้อวัตถุดิบดังกล่าวจากเกษตรกรในท้องถิ่นด้วย แต่ปัญหาที่พบกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “สามพรานโมเดล” ในปัจจุบัน
@@@แก้ปมสร้างตลาดให้สินค้าเกษตรอินทรีย์
“ตอนนั้นที่เราเข้าไปหาเกษตรกรพบปัญหาว่า เกษตรกรในท้องถิ่นแทบทุกรายล้วนแต่ทำเกษตรโดยใช้สารเคมี เพราะต้นทุนถูก และมีตลาดรองรับแน่นอน รวมถึงเราพบว่าจริงๆ แล้วเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากจะใช้สารเคมีหรอก เพราะมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขา แต่ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องทำ เพราะเกษตรอินทรีย์ทำยากและใช้เวลานาน ที่สำคัญที่สุด “ไม่มีตลาดรองรับ” ในขณะที่พวกเราคนเมืองอยากบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่กลับเข้าถึงได้ยากเพราะราคาสูงเกินจะจ่ายไหว นี่ทำให้ผมเห็นว่าต้องพาเกษตรกรมาเชื่อมถึงผู้บริโภคโดยตรง ส่วนการส่งเสริมจะทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องทำให้ครบวงจร” คุณโอชี้แนวคิดหลัก
เขาเล่าต่อว่า เบื้องต้นการลงไปถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์ ประสานขอวิทยากรจากสถาบันการศึกษา แล้วใช้พนักงานของสวนสามพรานเป็นทีมปฏิบัติการ ช่วงแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจ บางคนต่อต้าน กว่าจะสร้างการยอมรับและเข้าใจ และเริ่มเห็นผลจริงจังใช้เวลากว่า 2 ปี
ขั้นต่อมา ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ คือ การหาตลาดรองรับ อรุษแจกแจงในส่วนนี้ว่า ด้านตลาดทำในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ทางโรงแรมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าโครงการในราคารับประกัน ปัจจุบันรับซื้อข้าวประมาณ 2.5-3 ตันต่อเดือน ผลไม้ 4-5 ตันต่อเดือน และผัก 2-3 ตันต่อเดือน มูลค่ารวมกว่า 9 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรได้เงินกว่า 5-6 แสนบาท
อีกทั้งเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้วเปิดพื้นที่ 2 ไร่ในสวนสามพรานทำเป็น “ตลาดนัดสุขใจ” เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่อยู่ในโครงการมาออกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ฟรีๆ ในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ โดยที่ผ่านมาผลตอบรับจากผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ตอนนี้เฉลี่ยมีคนมาเที่ยววันละประมาณ 1,000 คน เกิดเงินหมุนเวียนในตลาดนัดสุขใจ เดือนละประมาณ 2 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่มาออกร้านรายละประมาณ 35,000 บาทต่อการขาย 8 วัน นอกจากนั้น ในรายที่พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปได้มาตรฐานสูง สามารถนำสินค้าไปวางขายในโรงแรมได้ฟรีอีกเช่นกัน
รวมถึงจัดโครงการ “ตลาดนัดสุขใจสัญจร” ด้วยการประสานไปยังหน่วยงานขนาดใหญ่หลายแห่ง ขอใช้สถานที่พาเกษตรกรในโครงการไปออกบูท เป็นการขยายช่องทางตลาดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้การตอบรับจากองค์กรใหญ่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสำนักงานขนาดใหญ่ โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยเฉลี่ยการออกสัญจรมียอดขายประมาณ 20,000 บาทต่อวัน นอกจากนั้นยังทำเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านอีคอมเมิร์ซอีกด้วย
และแนวทางทำตลาดใหม่ล่าสุด เตรียมจัดงาน “วันสังคมสุขใจ” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. นี้ ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ภายในงานจะมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การออกร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในโครงการสามพรานโมเดลกว่า 100 ชนิด ทั้งประเภทสินค้าเกษตรอินทรีย์สดๆ จากไร่ หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป การเวิร์กชอปสุขภาพจากการบริโภค วิธีปลูกผักอินทรีย์ ตรวจสุขภาพฟรีกับแพทย์แผนไทย และต้นแบบสร้างบ้านดิน ฯลฯ
ในอนาคตแผนที่คิดไว้จะหาพันธมิตรทั้งกลุ่มโรงแรมอื่นๆ และซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ เพื่อส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโครงการไปขาย ขยายช่องทางตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
@@@เชื่อมความร่วมมือเอกชน กับภาครัฐ
คุณโอระบุด้วยว่า โครงการ “สามพรานโมเดล” ถือเป็นอีกต้นแบบของความร่วมมือระหว่างเอกชน กับภาครัฐ จากเบื้องต้นทางสวนสามพรานลงมือทำ และควักกระเป๋าจ่ายเองทั้งหมด จนเมื่อโครงการเข้าสู่ปีที่ 3 หน่วยงานภาครัฐเห็นถึงประโยชน์และผลสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีละ 5-6 ล้านบาท นำไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการต่างๆ เช่น ค่าอบรม ค่าการวิจัยและพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนามาตรฐานเข้าสู่ระบบ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) เป็นต้น
อีกทั้งส่วนหนึ่งไปใช้สนับสนุนโรงเรียนในท้องถิ่น 10 แห่ง ให้เด็กนักเรียนทดลองทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ยังเล็ก
“การทำโครงการใดๆ ก็ตาม หากจะให้ยั่งยืนต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะถ้าภาครัฐทำเป็นโครงการเหมือนทั่วไป เมื่อหมดเงินโครงการต่างๆ ก็ต้องยุติลงไป ส่วนจะให้ภาคเอกชนทำเองทั้งหมดถือเป็นภาระที่ยากจะแบกรับไหว แต่หากเกิดความร่วมมือแล้วให้กลไกตลาดขับเคลื่อนไปได้ ทุกฝ่ายเกิดประโยชน์จะทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน อย่างโครงการนี้ ที่สวนสามพรานได้แหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีต้นทุนต่ำ นักวิชาการได้เผยแพร่ความรู้และงานวิจัย และส่วนเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม” หนุ่มไฟแรงชี้
@@@สร้างองค์กรแกร่งจาก CSR เกษตรอินทรีย์
จะเห็นได้ว่าในโครงการ “สามพรานโมเดล” ทางสวนสามพรานถือเป็นแม่งานขับเคลื่อนทุกด้าน คำถามที่ยิงตรงไปยังผู้บริหารหนุ่มคือ “ทำไปแล้วสวนสามพรานได้อะไร?”
“ที่ได้โดยตรงคือ ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ราคาถูกที่มาใช้ในโรงแรม ซึ่งการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงทำให้เราลดต้นทุนไปมาก” คุณโอตอบ และกล่าวต่อว่า “แน่นอน ทางอ้อม เราได้เรื่องการประชาสัมพันธ์องค์กร สร้างแบรนด์ของเราให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะศูนย์กลางของการทำเกษตรอินทรีย์ ทุกวันนี้เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมาสัมมนาและดูงานการทำโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อน”
“แต่สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าเราได้มากที่สุดคือ การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ปลุกจิตสำนึกให้พนักงานในสวนสามพราน ที่ปัจจุบันมีกว่า 400 คน มีทัศนคติเดียวกัน ในการทำองค์กรแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์เพื่อชุมชน เมื่อพนักงานออกไปช่วยชาวบ้านทำเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้วเห็นผลสำเร็จจากสิ่งที่ทำก็เกิดความสุข และรู้ว่าองค์กรแห่งนี้มีทิศทางอย่างไรชัดเจน ตรงนี้แหละ เมื่อทุกคนมีจิตวิญญาณร่วมกัน เดินไปตรงกัน องค์กรก็จะขับเคลื่อนอย่างมีพลัง” อรุษเผย
@@@มั่นใจสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลาดพร้อมอุ้ม
ด้าน สุทิศ จิราวุฒิพงศ์ ผู้จัดการโครงการสามพรานโมเดล ให้ข้อมูลเสริมว่า การคัดเลือกเกษตรกรเข้ามาสู่โครงการ อันดับแรกต้องมีใจอยากจะพัฒนาหันมาทำเกษตรอินทรีย์จริงจัง โดยส่วนใหญ่จะส่งเสริมให้เกษตรทำอาชีพเดิมของเขา ไม่ได้ปรับให้ปลูกพืชชนิดใหม่ๆ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากใช้สารเคมีมาสู่วิธีธรรมชาติ เบื้องต้นจะส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ไว้กินเองในครัวเรือน และเมื่อผลผลิตเหลือมากพอค่อยนำออกมาขาย
“ทุกวันนี้ผมกล้ายืนยันว่าตลาดต้องการข้าว ผัก ผลไม้อินทรีย์สูงมาก ขอเพียงพัฒนาให้ได้มาตรฐาน มีตลาดรองรับแน่นอน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่อยากทำเกษตรอินทรีย์ เพราะส่วนตัวก็มีปัญหามากอยู่แล้ว ทั้งเรื่องหนี้ และขาดตลาด แต่เมื่อมีโครงการนี้ เราไม่ได้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา แค่ให้เขามาปรับวิธีการและพัฒนาตัวเอง เริ่มจากทำแล้วกินเอง สุขภาพก็จะดีขึ้น ชุมชนก็ดีขึ้น หลังจากนั้น เมื่อมีผลผลิตมากพอค่อยนำมาขาย ซึ่งทางสวนสามพรานทำหน้าที่เป็นตัวกลางหาตลาดรองรับให้อยู่แล้ว” สุทิศเผย
ผู้จัดการโครงการเผยด้วยว่า นับตั้งแต่เริ่มเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มีชาวบ้านร่วมกว่า 500 คน และถึงปัจจุบันเหลือตัวจริงที่ดำเนินการต่อเนื่องจำนวน 225 ราย รวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั้งหมด 11 กลุ่ม และในจำนวนดังกล่าวมีรายที่พัฒนาไปถึงมาตรฐาน IFOAM จำนวน 5 ราย และอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอีก 22 ราย ตามเป้าทั้งหมดจะผ่านมาตรฐานได้ในปีหน้า (2558)
@@@“ป้าฉวี” จากเกษตรเคมีสู่วิถีอินทรีย์ยั่งยืน
ฉวี สวนแก้ว หรือป้าฉวี วัย 70 ปี เกษตรกรใน ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “สามพรานโมเดล” จากที่เดิมทำเกษตรเคมีมาตลอดชีวิต เพราะอยากให้ผลผลิตรูปร่างสวย เพื่อจะขายง่าย และได้ราคาดี
แต่เมื่อร่างกายสัมผัสกับสารเคมีแทบทุกวัน โรคภัยต่างๆ รุมเร้า เงินที่ได้จากการค้าขายต้องเอามารักษาสุขภาพ อีกทั้งราคาปุ๋ยเคมีก็สูงขึ้นทุกปี หักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินเหลือเลย ทำให้ป้าฉวีตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทดแทนอย่างจริงจัง
“หลังจากร่างกายรู้สึกไม่ไหวแล้ว ป้าเลยตัดใจเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ตามที่ได้รับคำแนะนำจากวิทยากรของโครงการ ตอนแรกหลายคนหัวเราะป้า เขาว่าทำแบบอินทรีย์ไม่พอกิน แต่ก็ไม่ได้สนใจ คิดแค่ทำกินเองในครอบครัว แต่พอลงมือทำอย่างจริงจัง นานวันเข้าผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าที่คิด ทุกวันนี้มีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยทุกวันอังคาร กับวันเสาร์ส่งขายโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งจะรับซื้อและประกันราคาให้ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ส่งไปขายที่ตลาดสุขใจ และมีแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อบ้าง แต่ละวันจะมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 บาท ถือว่าอยู่ได้ หักค่าใช้จ่ายแล้วทำให้มีเงินเก็บประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน” ป้าฉวีเสริม
@@@วาดฝัน “สามพรานโมเดล” กระจายทั่ว ปท.
ย้อนกลับมาที่ผู้บุกเบิกอีกครั้ง คุณโอกล่าวว่า ความท้าทายของโครงการ “สามพรานโมเดล” คือ ต้องรักษาคุณภาพของผลผลิตที่ออกมาให้ได้สม่ำเสมอ เพราะหากพลาด สินค้าที่ออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ กระทบชื่อเสียงและความไว้วางใจ สุดท้ายอาจจะต้องล้มทั้งโครงการ
ส่วนความคาดหวัง เขาบอกว่า อยากให้โครงการลักษณะ “สามพรานโมเดล” กระจายไปสู่ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย ชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย ช่วยให้ผู้บริโภคทั่วไปจะได้มีโอกาสเข้าถึงผักผลไม้สดปลอดภัยในราคาที่ถูกลง ขณะที่เกษตรกรผู้เพาะปลูกในแต่ละคนในชุมชนจะมีสุขภาพดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตและการท่องเที่ยว ทั้งหมดจะส่งให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และต่อยอดสู่สังคมอันเป็นสุขอย่างยั่งยืน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *