ต้องบอกว่ากรุงเทพฯฝั่งเหนือ ตอนนี้กำลังเนื้อหอม เพราะกลายเป็นย่านที่มีการขยายตัวของผู้อยู่อาศัยสูง ส่งผลให้ทำเลแถบนี้ กลายเป็นทำเลทอง ที่ทั้งรายใหญ่ รายย่อย ต่างพากันตบเท้าเข้ามาพัฒนาที่ดิน สร้างธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในย่านนี้
ศูนย์การค้าไอที เซียร์ รังสิต เองก็มองเห็นโอกาสทองนี้เช่นกัน ด้วยทำเลตรงรังสิตนั้น เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดตอนเหนือ - อีสาน รวมถึงภาคกลาง ทำให้สะดวกในการเดินทางมาจับจ่าย และรับสินค้าไปขายต่อ โดยไม่ต้องฝ่ารถติดเข้าไปในเมืองอีกต่อไป
เมื่อมองเห็นถึงโอกาสและการเติบโตของตลาด ผู้บริหารศูนย์การค้าไอที เซียร์ รังสิต จึงตัดสินใจขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดศูนย์การค้าแฟชั่นค้าส่ง
ทั้งนี้โดยทุ่มงบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาท ปั้นศูนย์การค้าแฟชั่นค้าส่ง-ค้าปลีก ขนาด 70,000 ตารางเมตร ภายใต้ชื่อ “เดอะฮับ รังสิต” ดักกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า จากต่างจังหวัด
“พลภัทร์ เตชะหรูวิจิตร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เซียร์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในทีมบริหารได้กล่าวถึงแนวคิด และวัตถุประสงค์ในการสร้างศูนย์การค้าแฟชั่นค้าส่งครั้งนี้
“เดอะฮับ รังสิต เป็นส่วนต่อขยายของเซียร์รังสิต เนื่องจากโลเคชั่นตรงนี้ เป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เรียกว่าเป็นเกตเวย์ออกไปสู่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง อย่างเช่น ฉะเชิงเทรา นครนายก สระบุรี อยุธยา
เราตั้งใจจะทำให้เดอะฮับ รังสิต เป็นศูนย์กลางของการค้าส่งสินค้าแฟชั่น เราไปดึงร้านค้าจากในเมือง พวกสำเพ็ง โบ๊เบ๊ ประตูน้ำที่เป็นแหล่งการค้าใหญ่ๆในกรุงเทพฯ ให้มาอยู่นอกเมืองซะ ผู้ค้าจากต่างจังหวัดที่ต้องเข้าไปซื้อสินค้าจากในเมือง ก็ให้มาซื้อของตรงนี้แทน จะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับปัญหารถติด
กลยุทธ์หลักที่ต้องทำ คือ การปรับตัวเองให้เป็นห้างค้าส่งจริงๆ เวลาที่ร้านค้าปลีกมาซื้อของที่นี่ จะได้มาที่เดียวแล้วจบเลย ในส่วนของร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในเดอะฮับ เราคัดร้านค้าที่เป็นผู้ผลิตจริงๆ หรือถ้าเป็นผู้นำเข้า ก็ต้องเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่ไม่ต้องไปรับของต่อจากใครมาอีก ทำให้ลูกค้าที่จะรับสินค้าไปขายต่อนั้น ขายได้ราคาดี ที่สำคัญราคาค่าเช่าของที่นี่ก็ถูกกว่าศูนย์แฟชั่นค้าส่งใจกลางเมืองค่อนข้างเยอะ
อย่างเวลาในการเปิด-ปิด ของเดอะฮับ รังสิต จะอยู่ที่เวลา 09.00 - 19.00 น. จะสังเกตว่าเปิดเช้ากว่าศูนย์การค้าทั่วไป เพราะเราเผื่อเวลาให้ร้านค้าปลีกเข้ามาหาซื้อของไปขายได้ ส่วนเวลาปิดก็จะปิดเร็วกว่าห้างค้าปลีกทั่วไปเช่นกัน”
ทั้งนี้ เดอะฮับ รังสิต จะเป็นโครงการส่วนต่อขยายจากศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ด้วยพื้นที่กว่า 70,000 ตารางเมตร บนตัวอาคาร 3 ชั้น โดยจะเชื่อมพื้นที่ถึงกันกับเซียร์ ด้วยสกายวอล์กทั้งโซนด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร ทำให้มีพื้นที่รวมทั้ง 2 อาคาร กว่า 350,000 ตารางเมตร รองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 คน / วัน และจะมีพื้นที่จอดรถทั้งบนอาคารและกลางแจ้งกว่า 6,000 คัน
ด้วยศักยภาพดังกล่าว พลภัทร์มั่นใจว่า จะทำให้เดอะฮับ รังสิต กลายเป็นศูนย์กลาง และศูนย์ค้าส่งสินค้าแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในย่านรังสิต เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งกลุ่มผู้ค้าและลูกค้า ในระยะเวลาอันใกล้นี้
“เราใช้เวลาในการก่อสร้างเดอะฮับ รังสิต ทั้งหมด 18 เดือน และเริ่มเปิดให้เช่าพื้นที่มาตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างศูนย์การค้า ทำให้ตอนนี้เรามีผู้ค้าอยู่ประมาณ 85% แล้ว
พื้นที่ทั้งหมดจะแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้น 1 กับชั้น 2 เรากำหนดให้เป็นร้านค้าสำหรับสินค้าแฟชั่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องหนัง รองเท้า
ส่วนในชั้น 3 ตั้งใจจะทำให้เป็นคลองถม พวกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือช่าง ของสะดวกใช้ต่างๆ และในอนาคตก็จะมีพวกธุรกิจบริการเข้ามา เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ แต่ตอนนี้ในชั้น 3 ยังสร้างไม่เสร็จ ตอนนี้เปิดใช้บริการแค่ชั้น 1 -2
พื้นที่ของตึกเดอะฮับ ที่มีอยู่ประมาณ 70,000 ตารางเมตร ถ้ารวมกับตึกเซียร์ รังสิตด้วย ก็จะได้พื้นที่ทั้งหมด 350,000 ตารางเมตร รองรับผู้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
จากสถิติเดิมของเซียร์ รังสิต ในปี 2556 -2557 มีคนเข้ามาใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 80,000 คน เมื่อมีส่วนขยายของเดอะฮับเพิ่มขึ้นมา ก็คาดว่าจะสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากถึงวันละ 120,000 - 150,000 คน
ในส่วนของที่จอดรถเอง ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง ก็รองรับรถได้ประมาณ 6,000 คัน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่ามีรถเข้าออกต่อวันอยู่ที่ประมาณ 15,000 คัน ซึ่งก็เพียงพอ ต่อจำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการภายในห้าง
ทั้งนี้เซียร์ รังสิต และเดอะฮับ รังสิต จะมีทางเชื่อมที่สามารถเดินถึงกันได้ ทั้งในบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 เนื่องจากเซียร์เป็นศูนย์การค้าไอที ที่ผ่านมาก็จะเป็นเหมือนกับแหล่งช้อปปิ้งของผู้ชาย จะมีผู้หญิงมาเดินในสัดส่วนที่น้อย
ในขณะที่ทางฝั่งเดอะฮับ เป็นศูนย์การค้าเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น กลุ่มเป้าหมายหลักๆ นอกจากเป็นร้านค้าที่รับสินค้าไปขายแล้ว ก็จะเป็นลูกค้าในกลุ่มค้าปลีก แต่คราวนี้จะเปลี่ยนจะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย กลายเป็นผู้หญิงแทน ทำให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็สามารถมาเดินช้อปปิ้งด้วยกันที่นี่ได้ ก็พยายามจะทำให้มันกลายเป็นศูนย์การค้าที่ครบวงจรสำหรับทุกคน”
เดอะฮับ รังสิต เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 แต่เริ่มทำการตลาด ในส่วนของโฆษณาและประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2558 แล้ว ด้วยงบประมาณที่สูงถึง 35 ล้านบาท
“ช่องทางหลักที่นำมาใช้ก็ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในส่วนของสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ แต่ที่เน้นมากเป็นพิเศษ จะเป็นในเรื่องของการออกไปเดิน Troop หรือการทำโรดโชว์ โดยการใช้ดารา ศิลปิน ไปทำกิจกรรมตามย่านชุมชนต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยฯ อโศก สีลม จตุจักร เพื่อโปรโมทให้ลูกค้าได้รู้จักกับเดอะฮับ รังสิต ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ทางเดอะฮับ รังสิตเอง ก็ได้ทำการตลาดร่วมกันกับทางร้านค้า ทั้งในส่วนของการจัดโปรชั่น การจัดกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงกลยุทธ์การใช้เสียงตามสายเพื่อสื่อสารกับร้านค้า รวมถึงช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าให้เป็นที่รู้จัก ถ้าร้านค้าไหนมีโปรโมชั่น หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เราก็จะให้พีอาร์ใช้เสียงตามสายเพื่อช่วยลูกค้าในการโปรโมท
นอกจากนี้ในเรื่องของค่าเช่า ก็ค่อนข้างมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับศูนย์การค้าแฟชั่นในเมือง และในช่วงแรกก็ยังลดราคาค่าเช่าให้อีก เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้าตัดสินใจเช่าพื้นที่ได้ง่ายขึ้น
พร้อมทั้งจัดโปรโมชั่นพิเศษ เช่น ลดราคาสูงสุดถึง 70% แจกบัตร Gift Voucher มูลค่า 300 บาท ให้กับลูกค้าที่มาเดินซื้อของในเดอะฮับ รังสิต หรือการลุ้นรับบัตรส่วนลดเงินสดมูลค่าสูงสุดถึง 1,500 บาท ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก
ตอนนี้สัดส่วนของร้านค้าส่งมีอยู่ประมาณ 70% ส่วนร้านค้าปลีกจะมีอยู่ประมาณ 30% ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ในส่วนของร้านค้าเอง ก็จะมีทั้งหน้าเก่าที่วางขายในเมืองอยู่แล้ว แต่ต้องการจะขยายมายังหัวเมือง เพื่อรองรับลูกค้าจากต่างจังหวัด อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นร้านค้าจากอินเตอร์เน็ตที่ไม่เคยมีหน้าร้านมาก่อน ก็ลองมาเปิดช็อป มีหน้าร้านดู เพื่อเป็นช่องทางติดต่อกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น”
ส่วนกลุ่มเป้าหมายของคนที่จะเข้ามาใช้บริการในศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ กว่า 70% เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ต้องการหาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ส่วนอีก 30% เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ชอบมาช้อปปิ้งตามแหล่งค้าส่ง เพราะจะได้ราคาสินค้าที่ถูกกว่า รวมไปถึงกลุ่มเด็กนักศึกษา ที่มาเลือกซื้อสินค้ากับเพื่อนเป็นกลุ่ม เพราะถ้าซื้อสินค้าแบบเดียวกัน แต่หลายชิ้น ก็จะได้ซื้อสินค้าในราคาขายส่ง
โดยปกติแล้วศูนย์การค้าไอทีเซียร์ รังสิต มีรายรับอยู่ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี เมื่อรวมเข้ากับส่วนต่อขยายอย่างเดอะฮับแล้ว คาดว่าจะมีรายได้แตะ 1,000 ล้ายบาทต่อปีเป็นอย่างต่ำ
ทั้งนี้ ทางศูนย์การค้าไอทีเซียร์ รังสิตเอง ก็ต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับทางเดอะฮับ รังสิตด้วย
“ในส่วนของเซียร์ รังสิตเอง ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบปรับปรุง เราจะทำการ Renovate ใหม่ทั้งหมด Lay Out ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เราวางแผนจะใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอาคารเซียร์ใหม่ทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 หรือย่างช้าก็ไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2559
การ Renovate ใหม่ครั้งนี้ เพราะอยากให้ตัวอาคารภายนอก ดูใหม่ ดูสดใสขึ้น จะออกแบบให้มีดีไซน์ที่สอดคล้องไปกับเดอะฮับด้วย และก่อนหน้านี้ตอนที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ บริเวณชั้นใต้ดินของเซียร์เองก็ได้รับความเสียหายเยอะมาก การปรับปรุงตึกในครั้งนี้ จึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งภายในและภายนอกอาคาร
นอจากนี้ เรายังได้วางกลยุทธ์ใหม่ เพื่อดึงดูดค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้มาใช้บริการมากขึ้น ตั้งใจว่าจะเพิ่มเติมในส่วนของศูนย์การศึกษา และสถาบันกวดวิชาต่างๆ เข้าไปอีกโซนหนึ่ง อาจจะเป็นทั้งชั้นเลยก็ได้ เนื่องจากในละแวกนี้มีเด็กนักเรียน และนักศึกษาอยู่เยอะ ก็น่าจะทำให้ได้ลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องมารอรับบุตรหลาน”
เมื่อถามถึงเรื่องคู่แข่ง เพราะมีรายใหญ่ตบเท้าเข้ามาร่วมแชร์พื้นที่ในบริเวณกรุงเทพฯ โซนเหนือ เพื่อสร้างศูนย์การค้า อีกหลายแห่ง พลภัทร์ได้ให้คำตอบว่า
“เนื่องจากกรุงเทพฯโซนเหนือ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง มีบริษัทรายใหญ่ให้ความสนใจกันมาก ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล อิเกีย ที่กำลังจะมา หรือแม้แต่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตเอง ก็กำลังทำการ Renovate ด้วยเช่นกัน เราจึงต้องรีบลงมือทำ ก่อนที่คู่แข่งจะเข้ามา
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล อิเกีย หรือฟิวเจอร์ปาร์ค ทั้งหมดเขาวางตำแหน่งตัวเองในการเป็นศูนย์การค้าปลีก และกลุ่มลูกค้าก็จะอยู่ในระดับ A หรือ B+ ขึ้นไป
ในขณะที่เราฉีกตัวมาทำในส่วนของศูนย์การค้าสำหรับค้าส่ง และเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ B+ ลงมา ดังนั้นถึงจะมีคู่แข่ง แต่จุดยืนของเราก็มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ดังนั้นจึงไม่นับว่าเป็นคู่แข่งโดยตรง
ตอนนี้กลุ่มลูกค้าของเดอะฮับเอง โดยมากจะเป็นกลุ่มที่มาจากนอกเมือง จากปทุมธานีจะเยอะที่สุด รองลงมาก็จะเป็นจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา สระบุรี นครนายก นนทบุรี ส่วนลูกค้าในกรุงเทพฯก็มีอยู่บ้างง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะ พราะด้วยทำเลที่ตั้งของเรา ที่ดักลูกค้าต่างจังหวัดก่อนที่เขาจะเข้ามาในเมือง ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์หลักในเรื่องของที่ตั้ง ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนแรก”
ดังนั้นถ้าพูดถึงจุดแข็งของเดอะฮับ รังสิต ก็ต้องบอกงว่า ในขณะนี้ เป็นศูนย์การค้าส่งแฟชั่น เพียงแห่งเดียวในย่านรังสิต และปทุมธานี
ถึงแม้ในอนาคต อาจจะมีคู่แข่งหันมาทำห้างค้าส่งในแบบแบบเดียวกัน แต่พลภัทร์ก็เชื่อว่า เมื่อถึงเวลานั้น ลูกค้าก็จะรู้จักเดอะฮับมากขึ้นในวงกว้าง และมีฐานลูกค้าประจำ ที่ช่วยให้การแข่งขันมีความได้เปรียบผู้เล่นหน้าใหม่อย่างแน่นอน
@@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *