xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายเกือบ “1 แสน” ให้ลูกกวดวิชา 1 เทอมเข้ามหา’ลัย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนมั่นใจโรงเรียนกวดวิชาช่วยให้เด็ก “สอบติด” คณะและสถาบันดังๆ ได้สำเร็จ ตะลึงคอร์สตะลุยเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก ม.6 เพื่อทันสอบตรงให้ติดก่อนสอบแอดมิชชั่นกลาง ใช้เงินเกือบแสนบาท ด้าน “2 เด็กเก่ง” ติดแพทย์ ยอมรับกวดวิชามีหลักการสอนที่ดี เข้าใจง่ายแต่ก็ต้องอยู่ที่การฝึกฝนของผู้เรียนด้วย เผยจุดเด่นแต่ละแห่งของโรงเรียนกวดวิชาสอนอย่างไรจึงโดนใจเด็ก !

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชั่นได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากแต่ละสถาบันการศึกษาต่างเลือกใช้ระบบสอบตรงเพื่อให้ได้เด็กตามที่สถาบันต้องการ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพราะเด็กจะต้องไปวิ่งรอกในแต่ละสนามสอบ อีกทั้งสถาบันการศึกษาเหล่านี้จะเหลือโควตาไว้ให้รับเด็กในระบบแอดมิชชั่นไม่กี่คนเท่านั้น และบางคณะหรือบางสาขายังปฏิเสธรับเด็กในระบบแอดมิชชั่นกลาง รวมไปถึงระบบรับตรงยังทำให้เด็กไปกั๊กที่เรียนของเด็กคนอื่นด้วย 

โดยในการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 27 แห่งใช้ระบบรับตรงร่วมกัน ในปีการศึกษา 2559 ที่กำลังเปิดสอบอยู่ในขณะนี้ โดยใช้ “ข้อสอบกลาง” ที่มีการพัฒนามาจาก 7 วิชาสามัญ เป็น 9 วิชาสามัญได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ และเคมี และเพิ่มอีก 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป 2 เพื่อรองรับเด็กสายศิลป์ ใช้เป็นคะแนนในการยื่นสอบตรงผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)ประกาศไว้ ซึ่งระบบเคลียริ่งเฮาส์จะช่วยลดการกั๊กที่เรียนของบรรดาเด็กนักเรียนที่ติดหลายสถาบัน ต้องตัดสินใจเลือกที่ใดที่หนึ่งด้วยการยืนยันสิทธิ์ หากเด็กยืนยันสิทธิ์ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าสอบในสถาบันอื่น รวมไปถึงการสอบในระบบแอดมิชชั่นกลางด้วย ส่วนผู้ที่ไม่ยืนยันสิทธิ์ ก็ยังคงสอบได้เหมือนเดิม ซึ่งวิธีการนี้ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการที่เด็กต้องวิ่งรอกสอบด้วยเช่นกัน

เส้นทางเข้ารั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้นเส้นทางการก้าวเข้าไปใช้ชีวิตรั้วมหาวิทยาลัยของเด็กมัธยมปลายหรือเด็ก ม.6 ประกอบด้วย ระบบรับตรงและเคลียริ่งเฮาส์ และระบบแอดมิชชั่นกลาง โดยมีสัดส่วน 70:30 ข้อมูลจาก CUAS (Central University Admission System) นอกเหนือจากนั้นจะเป็นหลักสูตรนานาชาติ และการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ในระบบสอบตรง ถือได้ว่าเป็นเส้นทางประลองยุทธ์แห่งแรกๆ และเป็นเส้นทางที่น่าสนใจของเด็กมากที่สุด ระบบนี้อาจถือได้ว่าตรงใจผู้เลือก ถูกใจผู้เรียน ซึ่งการเปิดรับตรงของมหาวิทยาลัยจะเปิดสอบเร็ว เรียกได้ว่า เปิดเทอมแรกของปีการศึกษา บางมหาวิทยาลัยก็เปิดสอบกันแล้ว ดังนั้น เด็กบางคนจึงมีที่เรียนได้โดยไม่ต้องรอจบ ม.6

ส่วนสนามแอดมิชชั่นกลาง เป็นสนามสุดท้ายที่รัฐจัดขึ้นมาหรือที่เรียกว่าสนามเก็บตกของบรรดาเด็กที่ไม่สามารถสอบเข้าสถาบันการศึกษาในระบบรับตรงได้ซึ่งจะเปิดรับในราวเดือนพฤษภาคมของปีการศึกษา  ส่วนผู้ที่สอบตรงจะทราบผลสอบได้ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่งผลให้ในช่วงการเรียน ม.6 เทอม 2 นั้น เด็กมักจะไปใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ค่อยได้เข้าเรียนในห้องเรียน หรือถ้ามาก็จะเป็นการมาพบปะสังสรรค์แค่นั้น แต่การที่เด็ก ม.6 จะประสบความสำเร็จ สอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ตนต้องการนั้น จึงหนีไม่พ้นการพึ่งโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งแม้จะมีการกวดวิชามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ม.ต้น ยัน ม.ปลายแล้วก็ตาม

แต่ในช่วงปิดภาคเรียนของเด็ก ม.5 ที่จะก้าวขึ้นไปเรียนในชั้น ม.6 เทอม 1 นั้น บรรดาเด็กพวกนี้จะต้องจบหลักสูตรของการศึกษา ม.6 ทั้งหมด เพื่อมุ่งสอบตรงให้ได้ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของบรรดาโรงเรียนกวดวิชา ต่างออกหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับระบบการเรียนและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งแม้ผู้ปกครองจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากแต่กลับพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ยอมทุ่มให้บุตรหลาน เพื่อให้เด็กได้เข้าเรียนตามที่เด็กหรือผู้ปกครองต้องการได้สำเร็จ

จ่ายหลักแสนกวดวิชาเข้ามหา’ลัย

ดังนั้นเราจะเห็นภาพเด็กนักเรียนในทุกระดับชั้นตามโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเด็ก ม.6 ก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กเหล่านี้ และบางโรงเรียนยังยอมให้เด็กเหล่านี้ใช้เวลาอยู่กับโรงเรียนกวดวิชามากกว่าการไปเรียนที่โรงเรียน จะฟากฝั่งสยาม ไล่เรียงมายังสองฟากฝั่งสี่แยกพญาไท โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมในช่วงรอยต่อ ม.5 ขึ้น ม.6 ที่ถือเป็นนาทีทอง ที่เด็กตักตวงความรู้ให้มากที่สุด เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระการเรียนในโรงเรียน

“ยกตัวอย่าง เด็กที่กำลังเรียน ม.6 ถ้าหลุดจากช่วงเวลานี้ ก็อาจจะช้าไปสำหรับสนามการแข่งขัน ที่เริ่มจะเปิดแล้วตั้งแต่การสอบ GAT, PAT, 9 วิชาสามัญ ที่เปิดในช่วงตุลาคม 2558 และไปใช้ยื่นคะแนนสอบตรงในปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 และประกาศผลในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559”

หลักสูตรของเด็ก ม.6 ที่มุ่งเข้ามหาวิทยาลัย จะมุ่งเน้นสรุปเนื้อหา เทคนิคการจำ การทำข้อสอบ เทคนิคการทำโจทย์ การฝึกทำโจทย์มากๆ ถือเป็น core หลัก ที่เด็ก ม.6 ต้องการ และหากสถาบันใดตอบโจทย์นี้ได้มากที่สุด ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่จะเห็นการยืนรอจ่ายเงินเพื่อลงคอร์สเรียน โดยเฉพาะคอร์สสด อาจารย์ดังๆ ที่การันตีจากสถิติการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้คอร์สนี้จะแพงกว่า และเต็มในระยะเวลารวดเร็วก็ตามเพราะทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง เชื่อว่าการเรียนคอร์สสด เห็นผู้สอนตัวเป็นๆ จะได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ดีกว่าการเรียนจากเทป แต่หากไม่สามารถลงคอร์สสอนสดได้ทัน จะเป็นการสอนจากเทปเด็กก็ยินดีเพราะจะดีกว่าที่พวกเขาไม่ได้เรียนจากอาจารย์ดังๆ

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาในแต่ละคอร์ส โดยเฉพาะเด็ก ม.6 จะค่อนข้างสูงกว่าคอร์สเนื้อหาทั่วไป เนื่องจากเป็นคอร์สติวเพื่อสอบ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสรุปเนื้อหา  ตามด้วยคอร์สตะลุยโจทย์ที่ผู้ปกครองของนักเรียนได้ประมาณการคร่าวๆ ที่ต้องจ่ายเงินเฉลี่ยเกือบประมาณ 1 หมื่นบาทต่อวิชา หรือบางคอร์สอาจแพงกว่า ขึ้นอยู่กับสถาบันกวดวิชา และหากนักเรียนลงเรียนทุกวิชาที่ใช้สอบ (จัดเต็ม) ผู้ปกครองอาจต้องทุ่มเงินในระดับ 5 หมื่นไปจนถึงหลักแสนบาทเพื่อให้เด็กสอบเข้าคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ได้

คอร์สแพง “ผู้ปกครอง” เต็มใจจ่าย

ด้านผู้ปกครองรายแรกที่ให้ลูกได้เรียนกวดวิชามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรายวิชาและยังให้เรียนคอร์สSUMMER ซึ่งเป็นคอร์สเรียนเพื่อสรุป และเตรียมตะลุยโจทย์ บอกว่า ปกติลูกกวดวิชามาต่อเนื่อง แต่ละเทอมก็ต้องใช้เงินมาก โดยให้เรียนคณิต วิทย์ อังกฤษ เพื่อให้จบเนื้อหา ม.ปลาย ภายในการเรียนของ ม.5 อีกทั้งบางครั้งลูกเรียนทีโรงเรียนไม่เข้าใจ เนื้อหาโรงเรียนไม่พอที่จะใช้สอบ โดยเฉพาะสนามสอบแข่งขันเพื่อการเรียนต่อ และข้อสอบส่วนใหญ่ออกเกินเนื้อหา ออกลึกกว่าที่สอนในโรงเรียน จึงต้องเรียนเสริมให้แน่น จึงต้องลงเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาที่ตัวเองมั่นใจ แม้จะใช้เงินมากก็ตาม

“ผู้ปกครองเองก็มีการคุยกันว่า ให้ลูกกวดวิชาที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร ขั้นต่ำที่มีการจ่ายก็ประมาณ 3 หมื่น แต่จะเป็นการกวดเฉพาะวิชาที่เด็กไม่เข้าใจ แต่ถ้ากวดทุกวิชาเพื่อให้จบเนื้อหาสรุปของ ม.4-ม.6 ให้ทันสอบตรงตามคณะที่เลือก ต้องใช้เงินเป็นแสนแน่นอน” ผู้ปกครองที่ลูกสามารถสอบติดแพทย์ ให้ความเห็น

ผู้ปกครองอีกรายบอกว่า เนื้อหาบางวิชา เช่น ชีวะ หรือ เคมี เนื้อหาค่อนข้างเยอะ ถ้าจะให้ลูกอ่านเองหรือเรียนแค่ในโรงเรียนคงไม่ทัน ซึ่งคิดว่าการให้ลูกลงเรียนกวดวิชาจะเป็นทางลัด และช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ดีที่สุด อีกทั้งโรงเรียนกวดวิชายังสรุปเนื้อหาและเก็งข้อสอบ รวมถึงการคาดการณ์ในการสอบได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ผู้ปกครองอีกรายบอกว่า เวลานี้ลูกเธอได้เข้าเรียน ปี 2 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว
และยอมรับว่าการให้ลูกเรียนกวดวิชาก็เพราะว่าลูกไม่ค่อยมีระบบจัดการตัวเองในการอ่านหนังสือ จึงต้องใช้ตัวช่วยในโรงเรียนกวดวิชา เพราะนอกจากจะได้เนื้อหาแล้ว ยังได้ฝึกทำโจทย์ใหม่ๆ และวิธีทำที่หลากหลายกว่าการเรียนในห้องเรียน

ทั้งนี้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างมีความหวังและยังฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนกวดวิชาดังๆ ที่เขามั่นใจจะสามารถสอบเข้าคณะดีๆ มหาวิทยาลัยดังๆ โดยเด็กที่เรียนสายวิทย์-คณิต ก็ต้องการเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช วิศวะ ฯลฯ ส่วนเด็กสายศิลป์ก็ต้องการเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ เป็นต้น

2 เด็กติด “หมอ” ยันกวดวิชาช่วยได้

นักเรียนชั้นม.6 ที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เพิ่งจะประกาศผลการสอบเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการเรียนในโรงเรียนกวดวิชาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เนื้อหาและทักษะ โรงเรียนกวดวิชาจะช่วยสรุปเนื้อหาให้เรา ทำให้ประหยัดเวลา ทำให้รู้ว่าเนื้อหาส่วนไหนออกมาก ส่วนไหนไม่ค่อยออก เพราะโรงเรียนกวดวิชาจะทำสถิติแต่ละปีไว้ เหมือนกับการปูพื้นฐาน ส่วนทักษะ ความชำนาญ ได้จากการฝึกฝน ทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง ยิ่งทำมาก ยิ่งรู้ข้อผิดพลาด ยิ่งแม่นยำมากขึ้น

ดังนั้นกวดวิชาอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องผนวกกับความพยายามของตัวเองด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ  กรณีของนักเรียน ม.6 คนนี้ คุณแม่ได้ใช้เงินไปเป็นค่ากวดวิชาประมาณ 5-6 หมื่นบาท ในช่วงซัมเมอร์ ม.5 เพื่อเรียนหลักสูตร ม.6 ไว้เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบสอบตรง ซึ่งคุณแม่บอกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมากเมื่อสามารถสอบเข้าคณะแพทย์ในสถาบันชื่อดังได้สำเร็จ

ส่วน ธนัชพร สามงามนิ่ม ว่าที่นักศึกษาแพทย์อีกคนที่ประสพผลสำเร็จจากการสอบ cpird (แพทย์ชนบท) สถาบันพระบรมราชชนก บอกถึงการเตรียมตัวและการเรียนในโรงเรียนกวดวิชาว่า เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่ทำให้ประสพผลสำเร็จ ตอนแรกที่ไปเรียนก็เป็นค่านิยม เห็นรุ่นพี่ไปเรียน แต่พอไปเรียนแล้ว รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นตำราเรียนที่รวบรวมเนื้อหาง่ายต่อการอ่าน การจับประเด็นเนื้อหา และสอนเนื้อหาได้ครอบคลุม ขณะที่การเรียนในโรงเรียน ยังสอนในเนื้อหาไม่ถึงและยังไม่จบ ยิ่งถ้าอาจารย์ในโรงเรียนสอนไม่ทันก็จะเลือกตัดทิ้งทำให้เด็กที่เรียนเฉพาะในโรงเรียนเสียเปรียบ

สำหรับตัวเธอจะลงเรียนทุกวิชาในโรงเรียนกวดวิชา แต่จะเลือกเรียนในคอร์สที่คุ้มค่าและได้ใช้จริงๆ เช่น บางวิชาที่อ่านเองได้ ก็ลงแค่ตะลุยโจทย์  แต่ถ้าวิชาที่ไม่เก่ง ก็อยากจะแนะให้น้องๆ รุ่นหลังเลือกลงคอร์สเอนทรานซ์
เพราะจะประหยัดเวลาที่เราจะไปทำความเข้าใจเอง เธอบอกว่าส่วนตัวไม่ได้ลงคอร์สเอนทรานซ์จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะเป็นคอร์สสรุปเนื้อหาของ ม.ปลายทั้งหมดและตรงจุดที่จะใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบสอบตรง และหากเธอลงคอร์สนี้ก็อาจทำให้เธอติดสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ก็ได้

“การเรียนกวดวิชาอาจมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต้องอยู่ที่ความขยันและหมั่นฝึกฝนทบทวนเนื้อหาที่เรียนและที่จะใช้ในการสอบด้วยตัวเอง” ธนัชพร สามงามนิ่ม ย้ำถึงวิธีการเรียนให้ได้ผลที่สุด

โรงเรียนกวดวิชายอดฮิต

อย่างไรก็ดีโรงเรียนกวดวิชาใดจะเป็นที่สนใจของเด็กและผู้ปกครองมีด้วยกันหลากหลายเหตุผล ทั้งจากข้อมูลสถิติในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ คณะดีๆ   หรือการบอกต่อแบบปากต่อปากของบรรดาผู้ปกครองและตัวเด็กด้วยกันเอง หรือช่องทางต่างๆ

ในการทำประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาต่างก็มีกลยุทธ์การตลาดมากมายที่จะเข้าถึงเด็กให้มาเรียนกวดวิชาในสถาบันของตัวเอง หนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายสถาบันเลือกใช้คือการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์   ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังและเด่นในแต่ละวิชา มาใช้สถานที่หรืออาคารร่วมกันเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One-Stop Service  รวมไปถึงการจัดตารางเรียนที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน เพราะโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่มักมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและห้างสรรพสินค้า การคมนาคมสะดวกไม่ว่าจะเป็นตึกวรรณสรณ์ ตึกซีพี ทาวเวอร์ ตึกสยามกิตติ์ ที่วันนี้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของโรงเรียนกวดวิชาไปแล้ว  รวมไปถึงการขยายสาขาไปต่างจังหวัดโดยเฉพาะตามหัวเมืองขนาดใหญ่มากขึ้น เช่นที่เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี เป็นต้น

และเพื่อให้สอดคล้องกับระบบแอดมิชชั่น โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังต่างปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบดังกล่าวมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งวิชาสามัญ การสอบความถนัดทั่วไป (GAT:General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT:Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาถนัดทางการแพทย์ วิชาถนัดทางวิศวกรรม เพราะนั่นหมายถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการติววิชาที่โรงเรียนกวดวิชาเปิดสอนเพื่อใช้ในการสอบและยื่นคะแนนในคณะที่ต้องการ

ส่วนโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ต้องการของเด็กและผู้ปกครองจนทุกวันนี้ ประกอบด้วย

1.  The Brain หนึ่งในโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งติดอันดับต้นๆ ด้านการสอนคณิตศาสตร์ โดยอาจารย์มนตรี นิรมิตศิริพงศ์ หรือพี่ช้าง พร้อมทีมงานอาจารย์อีกหลายท่าน และด้วยประสบการณ์การสอนคณิตศาสตร์อันยาวนานกว่า 20 ปี     และสอนนักเรียนให้สอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำมาแล้วกว่าหลายแสนคน
จุดเด่นของ The Brain คือเทคนิคดี สอนสนุก มีมุกสอดแทรก มีโจทย์ทำเยอะ ถือได้ว่าเป็นจุดขายสำคัญของสถาบันนี้

2. “เคมี อาจารย์อุ๊” หรืออาจารย์อุไรวรรณ ศิวะกุล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนวิชาเคมี จนทำให้โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมมาเป็นเวลานานด้วยเทคนิค และประสบการณ์สอนอันยาวนาน และเทคนิคการสอนที่เก่ง และสามารถถ่ายทอดหรืออธิบายให้เด็กเกิดความเข้าใจ รวมทั้งการรวบรวมข้อสอบเก่าๆ มาให้เด็กฝึกหัดทำ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่เด็กสายวิทย์-คณิต เกือบทุกคนปรารถนาที่จะเรียนที่นี่

3. “Applied Physics” โรงเรียนกวดวิชาฟิสิกส์อันดับ 1 ของประเทศไทยโดยอาจารย์ “ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์” ที่มีประสบการณ์การสอนมากว่า 30 ปี โดยเน้นสอนนักเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ โดยยึดหลักปรัชญาการสอนว่า  “วิชาฟิสิกส์ เป็นวิชาที่ใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ”    ดังนั้นนักเรียนทุกคนจะได้รับการปูพื้นฐานวิชาฟิสิกส์อย่างเป็นระบบจากง่ายไปยาก   ได้เห็นอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียน “เข้าใจ” วิชาฟิสิกส์ได้ง่ายขึ้น

4. เรียนชีวะต้อง Bi-O Beam. หมอพิชญ์

5. โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ ต้องไปที่ * Enconcept E-Acadamy ของครูพี่แนน  จุดเด่นในเรื่องการสอนแบบ “Memolody” คือการเรียนรู้

และอีกหนึ่งโรงเรียนกวดวิชา “คุณครูสมศรี” ครูที่มีสไตล์การสอนที่ไม่ธรรมดา เทคนิคการสอนที่โดดเด่นของครูสมศรีคือ “การท่องศัพท์เป็นจังหวะ” โดยจะสอนให้ท่องศัพท์ แบ่งเป็นหมวดหมู่ ทำให้ผู้เรียนจดจำได้ง่าย กับสโลแกน “ ครูสมศรีไม่มีค่าตัว  เพียงแต่ปรารถนาที่จะทำตนให้มีค่า”

6. วิชาภาษาไทยและสังคมของโรงเรียนกวดวิชา “Davance” โดยอาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์  ที่สามารถตอบโจทย์ให้เด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดีจนทำให้เด็กต่างพากันยกย่องและชื่นชมในเรื่องการสอนที่ครองใจเด็กมาจนถึงทุกวันนี้

กลยุทธ์ในการสอนที่โดนใจเด็ก

หากจะถามเด็กถึงกลยุทธ์ในการสอนของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง จะได้คำตอบที่คล้ายคลึงกันว่าวิชาเคมี : ต้องนึกถึง “อาจารย์อุ๊” หรืออาจารย์อุไรวรรณ ศิวะกุล โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์  สอนให้เข้าใจ ย้ำบ่อยๆ ไม่ทิ้งพวกเก่ง หรือ พวกไม่เก่ง ข้อสอบครอบคลุม และเฉลยข้อสอบยากๆได้ เช่น PAT 2 

ดร.ธนพงษ์ กรีธาดำรงเดช หรือ เคมีครูบิ๊ก โรงเรียนกวดวิชา A BIG CENTER เพราะสอนไว มีเนื้อหาเยอะ มีเทคนิคการจำและฝึกทำโจทย์

วิชาฟิสิกส์ : เด็กมั่นใจในการเรียนที่ฟิสิกส์ แอพพลายส์ จะนึกภาพไปถึงการสอนของ  อาจารย์ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์  ที่จะอธิบายช้าๆ  ฝึกทำแบบฝึกหัดจากข้อสอบจริง เรียกว่า ถ้าอ่านและเข้าใจข้อสอบที่นี่ได้หมด รับรองฟิสิกส์เต็ม 100

นอกจากนี้ก็จะนึกถึงพี่โหน่ง (On demand) : สอนดี เป็นระบบ โจทย์เยอะ มีมายด์แมปช่วยให้เข้าใจ

วิชาคณิตศาสตร์ : เด็กๆ จะเน้นไปที่ * The Brain “ครูช้าง” มีทริกการสอนดี มีโจทย์ให้ทำเยอะ เรียนไม่เครียด สอนเป็นระบบ เข้าใจ ไม่เบื่อ สนุก ตามด้วย อาจารย์อรรณพ ที่เน้นการอธิบายดี เข้าใจ และมีโจทย์ฝึกให้ทำเยอะ ตามด้วยครูพี่โอ๋ (โอพลัส) ที่สอนเป็นระบบ สอนไว และสอนโจทย์ยาก  นอกจากนี้ยังมียูเรก้า ที่เน้นเนื้อหาสอนช้า โจทย์ยากพอสมควร

วิชาชีวะ : หมอพิชญ์ (Bio-Beam) ตลก เฮฮา สอนสนุก เนื้อหาเยอะ มีเทคนิคการจำ มีแบบฝึกหัดเยอะ
ตามด้วย อ.เอกฤทธ์ (ยูเรก้า) สอนเนื้อหาละเอียดมากๆ เข้าใจ ตามด้วย พี่วิเวียน (on demand) โจทย์ดี
สอนสนุก มีสื่อการสอน เห็นภาพ

วิชาภาษาอังกฤษ : จะนึกถึงครูพี่แนน En concept เน้นคำศัพท์ เน้นข้อสอบ เน้นจุดสำคัญ โดยใช้เพลงเป็นเทคนิคในการจำศัพท์ ตามด้วย ครูสมศรี มีเทคนิคในการจำ กระตุ้นให้จำ เน้นคำศัพท์

วิชาภาษาไทย-สังคม : ที่เด็กให้ความสนใจมากๆ คือ โรงเรียนกวดวิชา * ดาว้องก์ เนื้อหาละเอียด และ Socithai สอนเป็นระบบ มีเทคนิคการจำดี

ในการเลือกเรียนกวดวิชานั้น นอกจากเด็กจะเลือกเรียนที่สถาบันดังๆ แล้ว ยังมีเด็กอีกกลุ่ม จะเลือกเรียนโรงเรียนกวดวิชาที่อยู่ใกล้บ้าน โดยเลือกเรียนบางวิชาที่โรงเรียนไม่มีสอน อาทิ Gat, ความถนัดเฉพาะทาง เรียนเสริมเนื้อหา ฝึกทำโจทย์ รู้แนวข้อสอบ รู้เทคนิค

ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาหรือปรับระบบการเรียนการสอบเข้าในสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นก็ตาม ไม่ได้ทำให้การเรียนในโรงเรียนกวดวิชาลดลง ตรงกันข้ามกลับทำให้กิจการของโรงเรียนกวดวิชาเฟื่องฟูขึ้น ตามที่เด็กและผู้ปกครองให้ความเห็นไว้ว่า

โรงเรียนกวดวิชาทำให้เด็กเข้าใจและติวได้ตรงตามที่ข้อสอบจะออกจนเป็นผลให้เด็กสอบเข้าได้มากที่สุด ตรงนี้จึงทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ผู้ปกครองเกือบทุกรายต้องเก็บเงินจำนวนหนึ่งในแต่ละภาคเรียนหรือชั้นเรียนไว้เพื่อการศึกษาในระบบกวดวิชาที่สามารถทำให้ลูกเราสอบติดตามที่เด็กและผู้ปกครองต้องการได้!

กำลังโหลดความคิดเห็น