xs
xsm
sm
md
lg

มองเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2556 โดย CP e-NEWS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม ที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์
โดย … ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เหล่านี้เกิดปัญหานั้นก็เพราะการใช้จ่ายทางการคลังที่เกินตัว หรือรัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว มีหนี้สาธารณะมากไปทำให้ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งความล่าช้าในการฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจโลก” ในครึ่งหลังของปี 2556 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ขณะเดียวกัน ปรากฏว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในจีน และอาเซียนกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกระจาย (Diversify) มีทั้งอุตสาหกรรมและการบริการ ไม่ได้พึ่งพิงไปที่อุตสาหกรรมหนึ่ง อุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะถือเป็นพื้นฐานที่ดี รวมถึงการที่ไทยเป็นประเทศมีสินค้าเกษตรเหลือส่งออก (Food surplus country) มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นปัจจัยด้านบวกที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม “ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท” ยังคงเป็นปัญหาที่นักลงทุนวิตกกังวล ด้วยเกรงว่าอาจจะมี “มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า” อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แต่เกิดขึ้นจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดเพราะไม่สามารถควบคุมได้

การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อรายรับ “ในรูปเงินบาท” ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2556 ก็ยังคงมี “แรงกดดันต่อการแข็งค่า” ต่อเนื่อง จะทำให้การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย “ชะลอตัวลง”

ข้อเสนอแนะต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยปี 2556
ประการแรก  เห็นว่าควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

ประการต่อมา รัฐควรดูแลราคาสินค้าสำคัญๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบทางการเกษตร ให้มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาสินค้า “ในตลาดโลก” เพื่อลดแรงกดดัน “เงินเฟ้อ” และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ประการที่สาม ต้องมีการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้ SMEs จากการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มต้นทุนค่าแรง และความยืดเยื้อในการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป

ประการที่สี่ ควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เร่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ (ชายแดน) และเศรษฐกิจโดยภาพรวม

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 นั้น คาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 4-5% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 5% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ประมาณ 4.2-5.2% “ราคาส่งออก” มีความเสื่อมในครึ่งหลังของปี 2556 ในเกณฑ์สูง เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2-3.3% บัญชีเดินสะพัด “เกินดุล” เท่ากับ 0.9% การลงทุนภาคเอกชนคงจะขยายตัว “ต่อเนื่อง” อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ต่ำ” ความเชื่อมั่นในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการเบิกจ่ายงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากร “น้ำ” ซึ่งคาดว่าจะคืบหน้าและสามารถเบิกจ่ายให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในครึ่งหลังของปี 2556

การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) ขยายตัว 4.2% การลงทุน (Investment) ขยายตัว 6.0% ส่งออกขยายตัว 4.5% เทียบกับหดตัวในปี 2555 ยานยนต์ขยายตัวสูงถึง 16.8% ส่งออกข้าวขยายตัว 8.6% โดยพบว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลียอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นในปี 2556 ขยายตัว “ต่ำ”

ที่มา : K SME Care

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น