xs
xsm
sm
md
lg

“ผ้าหมักโคลน” สินค้าภูมิปัญญาไทย ยอมรับในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผ้าหมักโคลน” เป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าภูไทในอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ที่อยู่คู่ชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณกาล และยังคงสืบทอดเทคนิคการทำผ้าหมักโคลนมาจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือเส้นใยธรรมชาติของบ้านหนองสูงที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศ แต่ยังคงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย
ผ้าในแบบอื่นๆ
ปัจจุบันชาวบ้านหนองสูงถือเป็นต้นกำเนิดของการผลิตผ้าหมักโคลน ซึ่งมีการผลิตอยู่หลายชุมชน และหนึ่งในนั้นเป็นผู้ผลิตจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าดั้งเดิม หมู่ 2 ตำบลหนองสูงเหนือ โดยมี “นางนรินทิพย์ สิงหะตา” ประธานกลุ่ม ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าไหมหมักโคลน โดยให้กลมกลืนกับรูปแบบการผลิตดั้งเดิม ของชาวภูไท เมืองหนองสูง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “แก่นเข-เพกา”
นางนรินทิพย์ สิงหะตา ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองสูง
นางนรินทิพย์เล่าถึงที่มาของผ้าหมักโคลนว่า สมัยก่อนชาวบ้านไปหาปลาในหนองน้ำแล้วใช้แหเพื่อดักจับปลา แต่แหถักใหม่มีสีขาวทำให้ปลาว่ายหนีไปหมด ชาวบ้านจึงนำแหไปแช่ในโคลนเพื่อให้แหมีสีดำคล้ำ จึงได้ลองนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้กับการทำผ้าทอ โดยนำผ้าไปหมักในโคลนเช่นเดียวกับแห และนำไปย้อมต่อด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งพบว่าผ้าที่ผ่านการหมักด้วยโคลนจะได้สีสันที่แปลกไปจากผ้าที่ไม่ได้หมักโคลน ซึ่งเมื่อนำไปย้อมสีก็จะได้ผ้าที่มีสีสดมากขึ้น เพราะโคลนช่วยจับสีทำให้สีเข้มขึ้น และสีติดทนนาน

สำหรับโคลนที่ใช้ในการหมักนี้จะใช้โคลนที่หนองน้ำ ที่บ้านหนองสูง ซึ่งเป็นดินโคลนที่มีอายุประมาณ 300-400 ปี โดยโคลนในท้องถิ่นอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ควรใช้โคลนดินเหนียว และเนื้อโคลนต้องละเอียด ไม่มีเม็ดดินเม็ดทรายปะปน
การหมักโคลน
ส่วนขั้นตอนการทำผ้าหมักโคลนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่มีหลายขั้นตอนต้องใช้ความอดทนในการทำ เริ่มจากนำโคลนขึ้นมากรองด้วยตะแกรงเพื่อคัดกรองเอาพวกเม็ดกรวดเม็ดดินออกให้เหลือแต่เนื้อโคลนล้วนๆ แล้วนำไปผสมน้ำและเกลือตามความเหมาะสม คนให้เข้ากัน นำเส้นใยผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมลงไปแช่ในโคลนที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาในการหมักประมาณ 3-6 ชั่วโมง ซึ่งสีของเส้นใยจะอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก เมื่อหมักได้เวลาที่ต้องการก็นำขึ้นมาบิด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง พอเส้นใยแห้งก็นำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำกลับไปตากแดดให้แห้งอีกครั้ง จากนั้นจึงนำไปทำการย้อมสีตามที่ต้องการ
การหมักโคลน
โดยผ้าที่นำมาใช้หมักโคลนจะต้องเป็นผ้าทอเส้นใยธรรมชาติ และย้อมสีธรรมชาติ สีที่ได้มาจากการสกัดโดยใช้เปลือกไม้ไปแช่น้ำให้เปลือกไม้คลายสีออกมาแล้วนำไปต้มสกัดเอาน้ำสี จากนั้นก็ใส่เกลือ ทำการคนให้เข้ากันก็จะได้น้ำสีย้อม โดยผ้าหมักโคลนที่ทางกลุ่มทำออกจำหน่ายอยู่ในรูปของผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ จุดเด่นของผ้าหมักโคลนคือ เนื้อผ้าแห้งเร็วและเบาสบาย บวกกับความเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จุดนี้เองทำให้เป็นจุดสนใจของลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก ในอดีตรูปแบบของผ้าหมักโคลนจะทำสำหรับเป็นผ้าห่อเด็ก เพราะคุณสมบัติแห้งเร็ว ปัจจุบันหันไปใช้ผ้าขนหนูเพราะต้นทุนผ้าทอมือแพง ซึ่งมีแผนที่จะนำรูปแบบของผ้าห่อเด็กกลับมาทำอีกครั้งถ้าลูกค้าต้องการ

นางนรินทิพย์เล่าถึงแผนการตลาดของผ้าหมักโคลนว่า เดิมทางกลุ่มจะทำใช้กันเองในหมู่บ้าน แต่ต่อมาผ้าหมักโคลนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากได้มีการนำผ้าเข้ามาขายในเมือง และได้คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป ประกอบกับสื่อต่างๆ เข้ามาสัมภาษณ์ ทำให้ผ้าหมักโคลนเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศให้ความสนใจค่อนข้างมาก มีผู้จัดจำหน่ายผ้าแบรนด์ดังในต่างประเทศมาว่าจ้างให้ทางกลุ่มผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น สินค้าจากธรรมชาติแบรนด์ away จากประเทศออสเตรเลีย แบรนด์ Alex ประเทศเยอรมนี และแบรนด์จากสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Saphan นอกจากนี้ มีการผลิตป้อนให้ผู้จัดจำหน่ายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นร้านของคุณเผ่าทอง ทองเจือ และตอนนี้อยู่ระหว่างการทำผ้าตัวอย่างส่งไปให้ผู้จัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ถ้าผ่านก็จะสั่งซื้อเข้ามาเช่นกัน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าดั้งเดิมบ้านหนองสูงเรามีสมาชิกจำนวน 32 คน ซึ่งแบ่งงานกันทำตามความถนัด ซึ่งทุกคนจะมีรายได้จากการผลิตผ้าหมักโคลนเดือนละ 8,000 บาท ถึง 12,000 บาท แล้วแต่ออเดอร์ที่เข้ามาในแต่ละเดือน และกรณีที่มีงานเข้ามามากทางเราก็จะแจกจ่ายงานให้แก่สมาชิกในเครือข่ายที่เราไปเป็นวิทยากรสอน ซึ่งลูกค้าสั่งลวดลายตามแบบที่เราออกแบบเป็นหลัก ซึ่งทางกลุ่มจะออกแบบลายดั้งเดิมเป็นหลัก จะเพิ่มลายใหม่บ้างแต่ก็จะแทรกไว้ในลวดลายดั้งเดิม ส่วนสีจะเลือกสีตามฤดูกาลของพันธุ์ไม้ที่ออกมากในช่วงนั้นๆ ปัจจุบันลูกค้าทั้ง 4 แบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นลูกค้าประจำมีการสั่งผ้าอย่างต่อเนื่อง”

โทร. 08-7229-0304
กำลังโหลดความคิดเห็น