xs
xsm
sm
md
lg

กิ๊บเก๋หยิบลายประวัติศาสตร์ใส่ของใช้ประจำวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย..สุกัญญา แสงงาม

เราเลือกภาพก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อย่าง ภาพเขียนสี จ.สกลนคร ที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต มารังสรรค์งานควินท์ติ้ง เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำลายมาใส่ลงบนกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ซองทิชชู ซองใส่เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ถุงแขวนผนัง นอกจากนี้ ยังนำลวดลายลูกกลิ้งดินเผา ตราประทับ สมัยบ้านเชียง มาใส่ไว้ในผ้าทอมือ งานแฮนด์เมดเหล่านี้มีความสวยสดงดงามและไม่เหมือนใคร แต่น่าเสียดายยังเป็นชิ้นงานต้นแบบ รอชุมชนในท้องถิ่นนำไปพัฒนาต่อยอดแล้วนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน

พิมพ์นาสา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 จ.ร้อยเอ็ด บอกพร้อมเล่าให้ว่า การนำเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นมาแทรกไว้ในชิ้นงาน ของใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นนโยบายของ นางโสมสุดา ลียะวณิช อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อยากให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งเหล่านี้ เพราะบางคนอาจจะไม่มีเวลาเดินทางมาต่างจังหวัด มาแหล่งประวัติศาสตร์ หากเขาได้ของขวัญ ของฝาก อาจสนใจมาดูสถานที่จริง

ผลงานเหล่านี้ คนกรมศิลป์ออกไอเดีย ส่วนชาวบ้าน ตัดเย็บ ต่อผ้า ทอผ้า สิ่งที่ชาวบ้านขาด ก็คือ ไอเดีย เงินทุนในการสร้างชิ้นงาน รวมถึงตลาดจำหน่ายสินค้า” พิมพ์นาสา บอกว่า เชื่อว่า ในเร็วๆ นี้ จะได้เห็นพัฒนาการภาพก่อนประวัติศาสตร์ถูกต่อยอดเป็นสินค้าหลากหลายประเภท เพื่อจำหน่ายทั้งภายประเทศและต่างประเทศ เนื่องเพราะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน กระตุ้นให้คนในท้องถิ่นรู้รากเหง้าและรักบ้านเกิดของตัวเอง”

ขณะที่ ธศร ยิ้มสงวน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ บอกว่า นำศิลปะล้านนา อย่าง ปลาคู่ ลายก้นหอย ลายวงขด ลายช่อดอก ลายนิ้วบนรอยพระพุทธบาท โดยนำลายเหล่านี้มาดีไซน์ไว้บนผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า เนกไท เซรามิก เครื่องประดับ โดยเลือกเอกลักษณ์ที่เป็นมงคล อย่างปลาคู่ หมายถึง ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และรุ่งเรือง หรือลายก้นหอย เป็นสัญลักษณ์แสดงคุณสมบัติของมหาบุรุษหรือผู้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและจิตใจ เมื่อใครใช้ลวดลายเหล่านี้ว่ากันว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อย่างไรก็ดี สินค้าเหล่านี้ไม่ได้วางจำหน่ายทั่วไป สามารถสั่งซื้อได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เท่านั้น

ด้าน นางโสมสุดา เล่าให้ฟังว่า กรมศิลปากรได้ส่งเสริมให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศ นำลวดลาย รูปทรง ของโบราณวัตถุชิ้นเอก หรือชิ้นเด่นๆ ที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ไปออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเน้นของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชนในท้องถิ่น นำไปพัฒนาเพิ่มและผลิตสินค้าจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ ที่สำคัญ ยังเป็นการเผยแพร่แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ไปในคราวเดียวกันด้วย

เหตุผลที่เน้นให้ใส่เอกลักษณ์ใส่ไว้ในของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องประดับ ลูกปัด ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า เนกไท หมอน เสื้อ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ สามารถซื้อเป็นของขวัญ ของฝากพ่อแม่ แฟน ผู้ใหญ่ ได้ เพราะราคาไม่แพง ถ้านำลวดลายมาดีไซน์เป็นของตกแต่งบ้าน เป็นของชิ้นใหญ่ จะมีปัญหายุ่งยากในการขนกลับและแตกหักได้ง่าย ที่สำคัญช่วงนี้เศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง ขายได้น้อย

ขณะที่ นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เสนอกรมศิลป์เป็นผู้ต่อยอดงานแฮนด์เมดเหล่านี้ พร้อมออกแบบใหม่ให้ทันสมัย เพื่อจำหน่ายตามพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์นั้นๆ ไว้จำหน่าย หรือมอบให้แขกบ้านแขกเมืองไว้เป็นที่ระลึก เหมือนกับเวลาที่เราเดินทางไปต่างประเทศ จะเห็นสินค้าซึ่งมีสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนั้น เรามักจะซื้อเป็นของที่ระลึก



กำลังโหลดความคิดเห็น