xs
xsm
sm
md
lg

จับ “ขี้ควาย” ย้อมผ้า! ผลงานโอทอปหนึ่งเดียวในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สายสุณี ไชยหงษา ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก (มูลควาย) จ.สกลนคร
เคยคิดกันไหมว่ามูลควายจะนำมาย้อมผ้าได้ แถมให้สีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ไอเดียนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์ กับชาวบ้านช่วยคิดช่วยทำ จนก่อเกิดเป็นธุรกิจในชุมชนสร้างรายได้ไม่น้อย ขึ้นแท่นสินค้าโอทอป 5 ดาวในการส่งประกวดเพียงครั้งแรกกับ “ก็ฝ้าย” แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมมูลควาย จ.สกลนคร
ตุ๊กตาควาย หวังให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของควายไทย
เป็นธรรมดาเมื่อชาวบ้านหมดหนทางในการทำมาหากิน รายได้ขาดมือ ก็ต้องหันหน้าเข้าหา “วัด” ซึ่งวัดในชุมชนนี้ถือว่าแตกต่างจากวัดทั่วไปเพราะมีพระสงฆ์อย่าง พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ (ฉายามหาปุญโญ) แห่งวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม อ.พังโคน จ.สกลนคร ที่เป็นทั้งนักคิดและนักพัฒนา เน้นให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง เพียงแนะนำให้กลับไปคิด ไม่ใช่กำหนดให้ทำโน่นทำนี่ สุดท้ายก่อเกิดเป็น “ผ้าย้อมมูลควาย” แห่งเดียวในไทย

ก่อนอื่นต้องเอ่ยถึงความเป็นมาวิถีชีวิตของชาวบ้านว่าส่วนใหญ่ยึดอาชีพรับจ้างทอผ้าส่งตามโรงงาน อย่างผ้าขาวม้า ซึ่งรายได้ไม่ค่อยสมดุลกับรายจ่ายนัก จึงคิดหาอาชีพเสริมโดยมองไปที่งานหัตถกรรม เนื่องจากมีผู้หญิงในหมู่บ้านจำนวนมากที่อาจหาเวลาว่างจากการเลี้ยงลูกมาทำงานเสริมได้ ซึ่งพวกเขาได้ตั้งกลุ่ม “ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก” ขึ้น โดยมีพระอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ขณะที่ชาวบ้านจะคอยแจ้งความคืบหน้าโดยตลอด
ก็ฝ้าย แบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมมูลควาย
กระทั่งพระอาจารย์ติงไปว่า “การนำเปลือกไม้มาย้อมผ้าต้นไม้ไม่ตายหรือ?” ชาวบ้านตอบว่า “ไม่น่าตายนะ” พระอาจารย์เมื่อได้ยินดังนั้นจึงตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า “ถ้ามีใครมาลอกผิวหนังของโยม โยมจะตายไหม” ประโยคนั้นทำให้ชาวบ้านคิดได้ และเริ่มมองหาวัตถุดิบอื่นมาย้อมผ้าแทน
ที่นอนปิคนิก เมื่อพับเก็บเป็นตุ๊กตาควาย
พระอาจารย์แนะนำให้ลองนำมูลควายมาย้อมผ้า ซึ่งยอมรับว่าก็ไม่รู้ว่าจะย้อมได้หรือไม่ แต่จากประสบการณ์ของพระอาจารย์ที่เคยทำงานด้านดีไซน์มาก่อนก็คิดว่าน่าจะทำได้เพราะควายกินหญ้า กินพืช ซึ่งมูลที่ออกมานั้นก็มาจากธรรมชาติเช่นกัน
เปลญวน อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
ช่วงแรกชาวบ้านนึกค้านในใจ ซึ่งคงเหมือนกับใครหลายคน แต่ทุกคนก็ลองทำ โดยมี “สายสุณี ไชยหงษา” ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก (มูลควาย) จ.สกลนคร เป็นผู้นำ เริ่มจากนำมูลควายมากรองน้ำนำมาหมัก แยกกากใย มาทำเป็นปุ๋ยหมักในการเกษตร ต่อมาใช้สมุนไพรไทยอย่าง ตะไคร้ มะกรูด กลบกลิ่น ซึ่งขั้นตอนกรรมวิธีการย้อม และสีจากมูลควายชาวบ้านลองผิดลองถูกมานาน แต่ไม่ท้อกลับรู้สึกสนุกที่ได้เห็นสีเขียวจากมูลควายที่จะใช้ย้อมผ้าออกมามีโทนสีที่แตกต่างกัน สุดท้ายมารู้ว่าสภาพภูมิอากาศมีผลต่อสีเขียวของต้นหญ้า ทำให้ในแต่ละฤดูมูลควายที่ได้สีจะไม่เหมือนกัน
ทำเป็นผ้าพันคอก็ดูดีไม่น้อย
เมื่อขั้นตอนการผลิตเริ่มนิ่ง ชาวบ้านนำมาย้อมทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ต่อมาย้อมผืนผ้าใหญ่ พัฒนาเป็นที่นอนปิกนิก หมอนอิง หมอนหนุน เปล กระเป๋าเป้ เบาะรองนั่ง ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ และตุ๊กตาควาย ที่สายสุณีบอกว่า ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นหลังเห็นคุณค่าของควาย และช่วยกันอนุรักษ์ควายไทยที่นับวันจะสูญหายไป
กระเป๋าเป้ น่ารัก
“เรานำผ้าทอมือที่ชาวบ้านมีฝีมืออยู่แล้วมาย้อมมูลควายที่จะให้สีเขียวธรรมชาติ แต่โทนสีจะให้สีเขียวที่แตกต่างกันไป เข้มบ้าง อ่อนบ้างตามหญ้าที่ควายกิน แต่รับประกันในเรื่องการปราศจากสารเคมีในการย้อม โดยกลุ่มเริ่มดำเนินธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2552 ได้มาตรฐาน มผช. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กระทั่งลองส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดสินค้าโอทอป ก็ได้รับรางวัลโอทอป 5 ดาวในปี 56 จากการส่งเข้าคัดสรรเพียงครั้งแรก พร้อมได้รับโอกาสนำสินค้ามาจัดแสดงในงานโอทอป Mid Year 2013 ที่ผ่านมา กับบูท Unseen OTOP ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกในกลุ่มฯ เป็นอย่างมาก”
เบาะรองนั่งนิ่มสบาย
ปัจจุบันมีชาวบ้านช่วยกันผลิตสินค้าจากผ้าย้อมมูลควายประมาณ 30 คน จากเดิมมีเพียง 4-5 คนเท่านั้น โดยราคาสินค้าเริ่มที่ 59 บาท ไปจนถึงหลักพันบาทเท่านั้น หรือลูกค้าต้องการให้ผลิตเป็นรูปแบบอื่นทางกลุ่มฯ ก็สามารถผลิตให้ได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าชาวญี่ปุ่นมาสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ต้องการให้ผ้ามีโทนสีเดียวกัน ชาวบ้านต้องปฏิเสธไปเนื่องจากเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ การทำให้สินค้าเหมือนกันทุกชิ้นคงเป็นไปได้ยาก

***สนใจติดต่อ 08-7222-5256, 08-0176-9265***
โทนสีของผ้าไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับความเขียวของหญ้าในแต่ละฤดู
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น