“บุญทรง” เฮ! กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นสำเร็จเกินคาด ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าทันทีมูลค่า 231 ล้านบาท แถมจ่อซื้อเพิ่มอีกเพียบ สั่งทำแผนบุกเจาะตลาดสินค้าคนสูงอายุ หลังแนวโน้มเติบโตดี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเจรจาการค้าเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทย กับญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมการประชุม The 19 th International Conference on the Future of Asia ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอาหาร, แฟชั่น, ไลฟ์สไตล์และสินค้าโอทอป, สินค้าสปาและสินค้าเพื่อความงาม จาก 24 บริษัท เข้าร่วมคณะเพื่อสำรวจลู่ทางการค้าในประเทศญี่ปุ่น โดยได้จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (บิสิเนสแมตชิ่ง) ระหว่างกัน โดยผู้ซื้อญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (เทรดดิ้งคอมปานี) ประมาณ 100 ราย จาก 75 บริษัท ส่งผลให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าทันทีมูลค่า 7.46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 231 ล้านบาท
“การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะทำให้มูลค่าการซื้อขายทันที 7.46 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ได้รับความสนใจมีทั้งเครื่องสำอาง วัตถุดิบสมุนไพร ผ้าฝ้ายสำเร็จรูป ผ้าฝ้ายผสมใยไหม ผ้าคลุมไหล่ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สปา ขนมขบเคี้ยว ผักและผลไม้แปรรูป เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น และหลายๆ รายมีความสนใจที่จะสั่งซื้อหลังจากนี้อีกเป็นจำนวนมาก” นายบุญทรงกล่าว
สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย แบ่งเป็นสินค้าอาหาร 7 บริษัท ได้แก่ ข้าว ผลไม้อบแห้ง ผักและผลไม้แปรรูป อาหารออร์แกนิก ขนมขบเคี้ยว ขนมหวานแช่แข็ง, สินค้าแฟชั่น 9 บริษัท ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าผืน เครื่องประดับและชิ้นส่วน, สินค้าของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ 4 บริษัท, สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม 4 บริษัท ได้แก่ สินค้าสปา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย วัตถุดิบ/สารสกัดจากสมุนไพร เครื่องสำอาง น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประเมินผลของการเข้าร่วมงานดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการ 89.47% พอใจกับผลการเจรจาในครั้งนี้ และ 94.74% เห็นว่า การเข้าร่วมงานครั้งนี้คุ้มค่า แสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมจับคู่ทางการค้าในประเทศต่างๆ จะทำให้ผู้ประกอบการของไทยเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสที่จะขายสินค้าได้มากขึ้น
นายบุญทรงกล่าวอีกว่า การทำตลาดในญี่ปุ่น ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุเกิน 65 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจส่งออกที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น อาหาร ข้าวของเครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นหลายรายได้พัฒนาและเปิดตัวอาหารใหม่ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และมียอดจำหน่ายขยายตัวได้ดี จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะผลิตสินค้าเจาะตลาดญี่ปุ่น
“สินค้าสำหรับผู้สูงอายุยังมีโอกาสในการเจาะตลาดได้อีกมาก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมาก แล้วสินค้าสำหรับคนสูงอายุยังมีจำหน่ายไม่มาก ใครผลิตก่อน จับตลาดได้ก่อนก็มีโอกาสที่จะทำเงินได้ก่อน โดยการผลิตสินค้าสำหรับคนสูงอายุ นอกจากต้องคุณภาพดี มาตรฐานดีแล้ว จะต้องใช้สอยได้ง่าย แกะ หรือเปิดปิดได้แบบง่ายๆ ถ้าทำได้เช่นนี้โอกาสที่จะส่งสินค้ารายการใหม่ๆ เจาะตลาดญี่ปุ่นก็มีมากขึ้น” นายบุญทรงกล่าว