xs
xsm
sm
md
lg

“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงานผ้าทอไทลื้อ ของชุมชนบ้านหนองบัว
ผ้าทอลายน้ำไหล ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน เมืองเก่า ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมโบราณของตนเองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิฐานว่าการออกแบบลายผ้าทอชาวไทลื้อ สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2379

โดยตั้งถิ่นฐานที่บ้านล้าหลวง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่าง ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน และบ้านดอนมูล อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยการนำของเจ้าหลวงเมืองล้า ชาวไทลื้อ มีภาษาพูด และประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และรักษาสืบทอดจนถึง
นางอุหลั่น จันตยอด รองประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองบัว
ปัจจุบันนี้ ประวัติดังกล่าวได้ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสกุลลื้อ ที่ได้วาดลวดลายของผ้าซิ่นของผู้หญิงในรูปเป็นลายผ้าซิ่นทั้งหมดด้วยผ้าทอลายน้ำไหลที่ดัดแปลงมาจากผ้าลายชาวลื้อ สมัยแรกๆ นิยมใช้ไหมเงิน และไหมคำด้านลายผ้าตรงส่วนที่เป็นหยักของกระแสน้ำ จากนั้นใช้ลายมุกรูปสัตว์แทรกเพื่อแสดงว่าผู้คิดลายน้ำไหล ไม่ได้ลอกแบบของชาวลื้อมาทั้งหมด ผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อเริ่มทอกันครั้งแรกที่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ

สาเหตุที่เรียกผ้าทอลายน้ำไหล เพราะลวดลายที่อออกมามีลักษณะเหมือนลายน้ำไหล จึงเรียกว่าผ้าลายน้ำไหล แต่ปัจจุบันได้คิดพลิกแพลงลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย และได้ขยายพื้นที่การทอผ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเรียกชื่อเดิมว่าผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายน้ำไหลจังหวัดน่าน ปัจจุบันมีการทอลวดลายต่างๆ มากมาย เช่น ลายน้ำไหล มีลักษณะเป็นคลื่นเหมือนขั้นบันไดมองดูเหมือนสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว นับว่าเป็นลายต้นแบบ และดั้งเดิม จึงเรียกลายน้ำไหล
ชาวบ้านกลุ่มทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ลายจรวด เป็นการเพิ่มหยักในลายน้ำไหลเป็นลายที่มีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง หรือตอปิโด ลายดอกไม้หรือลายแมงมุม เมื่อนำผ้าลายน้ำไหลมาต่อกันมีจุดช่องว่างตรงกลางเติมเส้นลายขาเล็กๆ แยกออกรอบตัว มองดูคล้ายดอกไม้หรือแมงมุม เรียกว่าลายดอกไม้หรือ ลายแมงมุม ลายปลาหมึก มีลักษณะลวดลายคล้ายแมงมุม แต่ทิ้งหางยาวกว่าลายแมงมุม ลายเล็บมือนาง คือ การนำลายน้ำไหลมาหักมุมให้ทู่ และทอสอดสีด้ายให้เลี่ยมเป็นชั้นๆ ลายธาตุ เป็นลวดลายที่ประยุกต์ขึ้นมาตามลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้นๆ ยอดเจดีย์ปลายแหลม ลายกาบ ลักษณะใช้เส้นฝ้ายหลายสีทอซ้อนกันหลายชั้นเป็นกาบ ลายใบมีด มีลักษณะการสอดสีด้ายหลายๆ สีในผืนผ้าดูลักษณะเหมือนใบมีดโกนบางๆ สบับสีหลายสีในผืนผ้า สำหรับลายลายน้ำไหลเป็นลายที่มีความนิยม และมียอดจำหน่ายมากที่สุด และนอกจากนี้ ยังมีลายแมงมุมสลับกับลายน้ำไหลเพื่อเพิ่มความสวยงาม
การย้อมผ้าแบบสีธรรมชาติ
ในส่วนของผู้ผลิตผ้าลายน้ำไหล ต้นตำรับดั้งเดิมอยู่ที่ บ้านหนองบัว หมู่บ้านของชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้า โดยเริ่มทอผ้ามาไม่น้อยกว่า 150 ปี ปัจจุบัน ผ้าทอลายน้ำไหล ของบ้านหนองบัว ไม่ได้ขายกันเฉพาะในชุมชน แต่เป็นสินค้าภูมิปัญญาที่ทำขึ้นมาขายเป็นของฝากของนักท่องเที่ยวด้วย แต่เดิมการทอผ้าของบ้านหนองบัว จะเป็นลกัษณะของการทอแบบของใครของมัน จนกระทั่ง ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้มาสอนเทคนิคการย้อมผ้าสีธรรมชาติ จึงได้เกิดการรวมตัวและเกิดเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้น โดยมีนางจันทร์สม พรหมปัญญา เป็นประธานกลุ่ม เมื่อปี 2523 และแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 จุด จุดแรกที่บ้าน นางจันทร์สม และจุดที่สองที่บ้านคุณดวงศรี และก็มีการกระจัดกระจายไปตามครัวเรือนต่างๆ ที่มีกี่กระตุกเครื่องทอผ้า

ทั้งนี้ หลังจากนั้นนางจันทร์สม ได้นำผ้าทอของตนเองไปร่วมออกงานตามสถานที่ราชการในจังหวัดหลายแหง จนกระทั่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น ได้เห็นถึงฝีมือ และความสวยงามของผ้าทอ จึงได้นำไปถวายสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) และติดป้ายผ้าทอบ้านหนองบัว ตรงจุดนี้เองทำให้ผ้าทอของป้าจันทร์สมได้รับความสนใจ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ป้าจันทร์สม เล่าว่า เริ่มกิจการทอผ้าของตนเองเมื่อปี 2521 ซึ่งช่วงเริ่มต้น 3-4 ปีแรก ได้รับความสนใจอย่างมาก มีพ่อค้าคนกลางมาจากหลายแห่ง รวมถึงนักท่องเที่ยว จะต้องแวะเวียนเข้ามาชมและซื้อผ้าทอกันถึงบ้าน เพราะไม่ได้มีการนำไปจำหน่ายที่อื่นๆ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง ผ้าทอลายน้ำไหล มีการทอกันมาก มีผู้ผลิตจากหมู่บ้านอื่นๆ หันมาทำผ้าทอในลวดลายเช่นเดียวกับเรา ออกจำหน่าย ต้องยอมรับว่า แม้เราจะเป็นต้นตำรับ แต่ก็ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้าไม่ได้มองว่าต้องมาซื้อถึงแหล่งผลิต ของเรา สามารถหาซื้อที่อื่นๆที่สะดวกกว่า ปัจจุบันยอดขายของเราก็ลดลงไปมาก
ลวดลายผ้าทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่สอดลิ้ม
ทั้งนี้ ในส่วนของช่องทางการขาย ทางบ้านหนองบัว ยังคงยึดช่องทางการขาย เดิม คือ ในวัดหนองบัว และที่บ้านป้าจันทร์สม เพราะต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้าทอลายน้ำไหลของชาวไทลื้อ มีขายเพียงแห่งเดียว นักท่องเที่ยวต้องมาซื้อที่แหล่งผลิตที่บ้านหนองบัวเท่านั้น ถึงจะได้ของแท้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาซื้อผ้าจากที่แหล่งผลิตนี้เท่านั้น

สำหรับยอดขายต่อเดือนประมาณ 30-40 ผืน ราคาขายต่อผืนประมาณ350- 450 บาท โดยทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร มารวมกลุ่มทอผ้า มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อคนประมาณเดือนละ 3,000-4,000 บาท และนอกจากจะขายเป็นผ้าซิ่น แบบดั้งเดิม ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนแปรรูปออกมาเป็นกระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าม่าน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสการขายใหม่อีกทางหนึ่ง ด้วย

โทร. 054-685-222
กำลังโหลดความคิดเห็น