เอเอฟพี - นางออองซานซูจี วานนี้ (21 มิ.ย.) เรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกช่วยเหลือพม่าในเส้นทางของการมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาของอังกฤษ
อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นผู้หญิงต่างชาติคนแรกที่ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสองสภาของอังกฤษ กล่าวว่า พม่าปรารถนาที่จะเป็นประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และไม่ต้องการที่จะพลาดโอกาสในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลา 47 ปี
นางซูจีที่ได้รับการยืนปรบมืออย่างกึกก้องทั่วมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาและผู้ร่วมงานกว่า 2,000 คนว่า นางเดินทางมาที่นี่เพื่อขอความช่วยเหลือในฐานะเพื่อน และเท่าเทียมกัน
ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ที่สวมกระโปรงลองยีสีม่วง และผ้าคลุมไหล่สีขาว กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เนื่องจากคำเชิญกล่าวสุนทรพจน์ยังที่แห่งนี้ มีเฉพาะผู้นำประเทศเท่านั้น โดยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวต่างชาติที่ได้รับเกียรติกล่าวสุนทรพน์ต่อสองสภาของอังกฤษในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ คือ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ของแอฟริกาใต้ และอดีตประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ของฝรั่งเศส
“เรามีโอกาสที่จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงในพม่า หากเราไม่ใช้โอกาสนี้ หากเราไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้องในเวลานี้ อาจจะเป็นเวลาอีกหลายสิบปีที่โอกาสเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก ความมุ่งมั่นของเราสามารถนำพาเราก้าวไปข้างหน้า แต่การสนับสนุนของชาวอังกฤษ และผู้คนทั่วโลกสามารถนำพาเราไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น” อองซานซูจี กล่าว
ซูจียังได้เรียกร้องให้อังกฤษช่วยเหลือพม่าพัฒนาสถาบันต่างๆ ของประเทศ และเตือนว่ารัฐสภาที่นางเพิ่งเข้ามีส่วนร่วมต้องใช้เวลาในการหาจุดยืน พร้อมกันนั้น นางซูจียังสนับสนุนการลงทุนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า หลังประธานาธิบดีเต็งเส่งให้คำมั่นเมื่อ 2 วันก่อนว่าจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
การลงทุนที่โปร่งใส เชื่อถือได้ สิทธิของแรงงาน และสภาพแวดล้อมที่มั่นคง จะได้รับการต้อนรับในพม่าที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร แต่เตือนว่า การพัฒนาของพม่ายังคงประสบปัญหาจากความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ นับตั้งแต่เป็นเอกราชในปี 2491 และเรียกร้องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ทางเหนือ และตะวันตก ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพย้ายที่อยู่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็ก
นางซูจีได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวภายในบ้านที่นานเกือบ 2 ทศวรรษ เมื่อเดือน พ.ย.2553 และกลายเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อต้นปี อันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประชาธิปไตยในพม่า
ก่อนหน้าการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาอังกฤษ อองซานซูจีได้เข้าคำนับ และหารือกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน และได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายา ที่พระตำหนักแคลเรนซ์ในกรุงลอนดอน ซึ่งซูจีได้ปลูกต้นไม้ภายในสวนของพระตำหนักด้วย
นายคาเมรอนกล่าวถึงการตัดสินใจเชิญประธานาธิบดีเต็งเส่งที่เคยเป็นสมาชิกในรัฐบาลเผด็จการทหารมาเยือนอังกฤษ ในการแถลงข่าวร่วมกับนางซูจีว่า เพื่อให้การปฏิรูปของพม่าประสบความสำเร็จ อังกฤษจะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้ คาเมรอนเป็นผู้นำชาติตะวันตกคนแรกที่เยือนพม่าในรอบหลายทศวรรษ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในระหว่างการเยือนคาเมรอนได้เข้าหารือกับทั้งนางอองซานซูจี และเต็งเส่ง
อองซานซูจีกล่าวสนับสนุนการตัดสินใจของนายคาเมรอน ที่เชิญประธานาธิบดีเต็งเส่งเยือนประเทศว่า เราไม่ต้องการให้อดีตมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง เราต้องการใช้เรื่องราวในอดีตมาช่วยสร้างอนาคต
นางซูจีมีกำหนดเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส ในวันที่ 26 มิ.ย. เป็นสถานที่สุดท้ายในการตระเวนเยือนยุโรป หลังจากเยือนไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์.