xs
xsm
sm
md
lg

ซูจีวอน “จีน-สหรัฐฯ” อย่าใช้พม่าเป็น “สนามรบ” แย่งผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเวทีเศรษฐกิจว่าด้วยเอเชียตะวันออกที่กรุงเทพมหานคร ฝากคำเตือนถึงสหรัฐฯและจีนว่าอย่าใช้พม่าเป็นเวทีแแก่งแย่งผลประโยชน์กัน
เอเอฟพี/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - อองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กล่าวเตือน 2 มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ วันนี้ (1) ว่า อย่าใช้พม่าเป็นสนามต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กัน ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตาสถานะของพม่าซึ่งเริ่มเปิดรับนักลงทุนจากภายนอก

พม่า ซึ่งแม้จะยากจนแต่ก็รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนอยู่ก่อนแล้ว ทว่าสหรัฐฯ ก็พยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่าด้วยการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน หลังการปกครองโดยรัฐบาลทหารสิ้นสุดลง

การมาร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออกที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเดินทางออกนอกพม่าครั้งแรกในรอบ 24 ปีของ ซูจี โดยเธอบอกว่า รู้สึกกังวลที่เห็น 2 มหาอำนาจแย่งกันเข้าไปมีบทบาทในประเทศของเธอ

“หลายคนกำลังพูดถึงสถานะของพม่าต่อจากนี้ เนื่องจากเราเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้น และนั่นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีน... ดิฉันรู้สึกกังวลอย่างยิ่งที่พม่าถูกมองเป็นสนามรบระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” ซูจีเผย

“พม่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น เราควรจะเป็นพื้นที่แห่งความปรองดองระหว่าง 2 มหาอำนาจมากกว่า” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า พม่ากับจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันมานานหลายปีแล้ว

นักวิจารณ์กล่าวหาว่า ปักกิ่งเข้าไปสูบทรัพยากรธรรมชาติของพม่า จนเป็นเหตุให้ชาวพม่าตกอยู่ในความยากจน ทั้งยังเคยปกป้องอดีตรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงโทษเต็มรูปแบบ

เมื่อเสียงวิจารณ์ภาคประชาชนรุนแรงขึ้น ในที่สุดพม่าก็สั่งยุติโครงการสร้างเขื่อนมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ที่จีนให้ทุนสนับสนุนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงกระทบความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของพม่า

วอชิงตันพยายามสร้างสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง โดยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการลงทุนบางส่วน และแต่งทูตเข้าไปประจำการในพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เพื่อเป็นรางวัลที่พม่าก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังยืนยันจะคงมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่เอาไว้ เพื่อเป็นประกันว่า การปฏิรูปในพม่าจะไม่ถอยหลังลงคลองอีก แม้จะเริ่มเปิดการลงทุนบางประเภทในพม่าแล้วก็ตาม

พม่าตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและอินเดีย และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซ, น้ำมัน, แหล่งน้ำ, ป่าไม้ และอัญมณี

นายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงข์ แห่งอินเดีย ซึ่งเดินทางเยือนพม่าสัปดาห์นี้ ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าและเข้าพบซูจี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับพม่าและคานอำนาจคู่แข่งอย่างจีนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น