เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปกระตุ้นพม่าให้ดำเนินการปฏิรูปอย่างไม่หวนคืนกลับ และเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งนองเลือดกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลังหารือกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า เมื่อวันเสาร์ (28 เม.ย.)
นางแคทเธอรีน แอชตัน เดินทางเยือนพม่าเพื่อหารือกับผู้นำฝ่ายค้านและรัฐบาลพม่า หลังสหภาพยุโรปประกาศระงับคว่ำบาตรพม่านาน 1 ปี เพื่อเป็นรางวัลให้แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
การเยือนครั้งนี้ของนางแอชตันมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองของนางอองซาน ซูจีและพรรคของเธอที่ปฏิเสธจะเข้านั่งในสภาเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำบางคำในคำกล่าวสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งในประเด็นนี้ นางแอชตันหวังให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเพื่อให้การปฏิรูปคืบหน้าต่อไป
“นี่เป็นกระบวนการการเปลี่ยนแปลง ฉันหวังว่าจะเห็นทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปไม่ย้อนถอยหลังและก้าวหน้าต่อไป” นางแอชตันกล่าวในการแถลงข่าว
พม่าที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษเริ่มมีความสัมพันธ์อบอุ่นขึ้นกับประชาคมโลก นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 นำมาซึ่งรัฐบาลพลเรือน แม้ว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพก็ตาม
สหภาพยุโรปได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการประกาศระงับมาตรการคว่ำบาตรหลากหลายแขนงทั้งการค้า เศรษฐกิจ และบุคคล เป็นเวลา 1 ปี แต่ยังคงมาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธ
นางแอชตันได้เปิดสำนักงานสหภาพยุโรปในนครย่างกุ้ง เมื่อวันเสาร์ (28 เม.ย.) ที่จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการโครงการความช่วยเหลือต่างๆ นอกจากนั้น นางแอชตันจะเข้าหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งที่กรุงเนปีดอในวันจันทร์ (30 เม.ย.) โดยเธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ามีความยินดีต่อการดำเนินงานของประธานาธิบดีเต็งเส่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในระหว่างหารือเธอจะกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งดำเนินการปฏิรูปให้มากขึ้น
ประเด็นหลักที่ตะวันตกให้ความสนใจคือ การต่อสู้ระหว่างกองทัพทหารกับกบฏชนกลุ่มน้อยในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือ แม้รัฐบาลเรียกร้องต้องการสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ในประเทศก็ตาม
“การสู้รบต้องยุติลง นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก และประธานาธิบดีเป็นเพียงผู้เดียวที่จะบอกได้ถึงวิธีที่จะดำเนินการต่อไปในระหว่างที่หารือกัน” นางแอชตันกล่าว
ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศหลากหลายด้านนับตั้งแต่ขึ้นมามีอำนาจเมื่อปีก่อน เช่น การต้อนรับพรรคของนางอองซาน ซูจีเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่สัญญาณความตึงเครียดปรากฏขึ้น เมื่อนางอองซาน ซูจี และสมาชิกพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสภาสมัยใหม่ที่เปิดประชุมไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน
นางอองซาน ซูจีระบุวานนี้ว่า เธอหวังว่าจะมีทางออกในกรณีที่พรรคปฏิเสธจะกล่าวคำสาบานตนในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ที่ใช้ถ้อยคำว่า “ปกป้องรัฐธรรมนูญ” ในฉบับที่รัฐบาลทหารเป็นผู้ร่างขึ้น แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นหากพรรครัฐบาลไม่สนับสนุนเสียงในสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในคำกล่าวสาบานตนดังกล่าว นางอองซาน ซูจีระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม นางอองซาน ซูจีได้แสดงความมั่นใจต่อประธานาธิบดีเต็งเส่งและเรียกร้องให้สหภาพยุโรประงับคว่ำบาตร นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 24 ปียังนอร์เวย์ และอังกฤษ ในเดือนมิถุนายนนี้ แม้จะยังไม่ได้รับอนุมัติหนังสือเดินทางก็ตาม.