เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีอินเดียเริ่มต้นเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ ในวันนี้ (27 พ.ค.) ในความพยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากร และเพิ่มโอกาสในการคานอิทธิพลของจีนที่เป็นคู่แข่งในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ จะหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง รวมทั้งนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ระหว่างการเยือนพม่าเป็นเวลา 3 วัน ที่เป็นการเยือนพม่าครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีอินเดียในรอบ 25 ปี
อินเดียกำลังจับตามองทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่มีเป็นจำนวนมากของพม่า และมีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะกระตุ้นการค้าระหว่างกัน หลังสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และหันไปพึ่งพาเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างจีน
รัฐบาลอินเดียเคยให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี แต่เปลี่ยนท่าทีในช่วงกลางทศวรรษ 90 เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติถึงการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าของอินเดีย
นายรานจาน มาธาอี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า อินเดียต้องการที่จะเดินหน้าเจรจาด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ฉันมิตร และบรรยากาศทางการเมืองในพม่านับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารเมื่อปีก่อน เป็นโอกาสอันดีต่อการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายกฯ ซิงห์ จะเข้าพบกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในวันจันทร์ (28 พ.ค.) ที่กรุงเนปีดอ และจะเดินทางไปยังนครย่างกุ้งเพื่อหารือกับนางอองซาน ซูจีในวันอังคาร (29 พ.ค.) ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ว่า อินเดียต้องการที่จะยืนยันความสัมพันธ์กับนางอองซาน ซูจี
นางอองซาน ซูจีมีความสัมพันธ์ส่วนตัวแน่นแฟ้นต่ออินเดีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เธอเคยศึกษาเล่าเรียน ขณะที่มารดาของเธอดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ซึ่งนางอองซาน ซูจีกล่าวหลังจากเธอได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากการควบคุมตัวภายในบ้านพักเมื่อปี 2553 ว่าเธอรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากอินเดีย
“เรายินดีที่ในตอนนี้อินเดียเปิดกว้างความสัมพันธ์กับเรามากขึ้น” นายเนียน วิน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าว
รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียกล่าวว่า อินเดียหวังที่จะได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในหลายด้านระหว่างการหารือ รวมทั้งด้านความมั่นคง การค้า และการลงทุน
อินเดียมองว่า พม่าเป็นฐานสำคัญสำหรับกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน รวมทั้งเป็นพันธมิตรสำคัญในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่พรมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
แม้ว่าอินเดียจะมีโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานในพม่า รวมทั้งท่าเรือที่เมืองซิตตเว ในอ่าวเบงกอลของรัฐยะไข่ แต่โครงการต่างๆ ของอินเดียในพม่านั้นยังล้าหลังกว่าจีนที่อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ มากมาย โดยมูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับพม่าอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553 เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างจีนและพม่าที่ 4,400 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของอินเดียมองว่า พม่ามีความจำเป็นอย่างมากในการจำกัดอิทธิพลของจีนทั้งในพม่า และอ่าวเบงกอล และการเยือนพม่าครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอินเดียในพม่า
ในการเดินทางเยือนพม่าของนายกฯ ซิงห์ครั้งนี้ มาพร้อมกับคณะนักธุรกิจชั้นนำของอินเดียรวมทั้ง สุนิล ปาตี มิตตัล ประธานบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในอินเดียร่วมอยู่ด้วย.