เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีของอินเดียลงนามข้อตกลงหลายฉบับกับพม่าในวันนี้ (28 พ.ค.) ในระหว่างการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ที่มีจุดประสงค์กระตุ้นการค้าและพลังงาน รวมทั้งช่วงชิงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้
นายกฯ มานโมฮัน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรกที่เดินทางเยือนพม่าในรอบ 25 ปี และได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่กรุงเนปีดอ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามข้อตกลง 12 ฉบับ ที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็น รวมทั้งความมั่นคง การพัฒนาพื้นที่พรมแดน การค้าและการลงทุน และการขนส่งระหว่างสองประเทศ
ผู้นำอินเดียจะเดินทางไปยังนครย่างกุ้งเพื่อหารือกับนางอองซาน ซูจี ในวันอังคาร อันเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าอินเดียต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนางอองซาน ซูจี ซึ่งรัฐบาลอินเดียเคยให้การสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี แต่เปลี่ยนท่าทีในช่วงกลางทศวรรษ 90 เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติถึงการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าของอินเดีย
นายกฯ ซิงห์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคนล่าสุดที่เดินทางเยือนพม่า ขณะที่ประชาคมโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรกการคว่ำบาตร ซึ่งเพิ่มความหวังที่ว่าพม่าจะกลายเป็นตลาดพรมแดนขนาดใหญ่แห่งใหม่
อินเดียกำลังมองหาหนทางที่จะขยายอิทธิพลในพม่าหลังการปกครองระบอบเผด็จการทหารนานกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้พม่าหันไปพึ่งพาการสนับสนุนทางการเมืองและการลงทุนจากจีน แม้อินเดียจะมีโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งท่าเรือซิตตเวบนอ่าวเบงกอล ในพม่าก็ตาม แต่โครงการต่างๆ ของอินเดียเหล่านี้ยังน้อยกว่าจีนที่อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาพลังงานสำคัญต่างๆ มากมาย
นักวิเคราะห์จากสถาบันมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า อินเดียปรับนโยบายที่มีต่อพม่าเพื่อพยายามเป็นคู่ค้าเพื่อนบ้าน และอินเดียไม่อยากพลาดโอกาสในขณะที่พม่าเปิดประตูสู่โลกภายนอก แต่อินเดียยังต้องพบอุปสรรค เช่น ความล่าช้าในโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดความเชื่อมั่นทางการเมืองระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับพม่าอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553 เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างจีนและพม่าที่ 4,400 ล้านดอลลาร์ และตามข้อมูลของ IHS Global Insight ระบุว่า จีนลงทุนในพม่ามากเป็นอันดับ 1 ที่ 8,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2554 ขณะที่อินเดียอยู่ในอันดับที่ 13 ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ 189 ล้านดอลลาร์.