xs
xsm
sm
md
lg

ซิงห์เยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ กระชับสัมพันธ์ท้าอิทธิพลปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ผู้นำอินเดียลงนามข้อตกลงสิบกว่าฉบับกับพม่าระหว่างการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและพลังงาน รวมทั้งถือโอกาสสร้างสมอิทธิพลเทียบชั้นพญามังกร
มานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียที่เดินทางเยือนพม่าในรอบ 25 ปี ได้พบกับประธานาธิบดีเต็งเส่งในกรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงของพม่าเมื่อวันจันทร์ (28)
ผู้นำสองประเทศได้ร่วมลงนามข้อตกลง 12 ฉบับครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน การค้าและการลงทุน รวมถึงการเชื่อมโยงด้านการขนส่งระหว่างกัน
ซิงห์ที่เดินทางพร้อมกับตัวแทนระดับสูงจากภาคธุรกิจ ย้ำประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของสองประเทศในคำแถลงก่อนการเดินทาง
ทั้งนี้ ในยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของทั้งอินเดียและพม่านั้น อังกฤษปกครองพม่าโดยถือเป็นแคว้นๆ หนึ่งของอินเดีย นอกจากนั้น แดนภารตะกับแดนหม่องยังมีความโยงใยทางวัฒนธรรมอย่างเก่าแก่ยาวนาน เนื่องจากประชากรพม่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอินเดียเมื่อ 2,600 ปีก่อน
นอกจากนี้ อินเดียยังมองพม่าเป็นทางลัดในการกระชับสัมพันธ์กับสมาคมอาเซียน รวมถึงถือเป็นพันธมิตรสำคัญในการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ ตลอดจนการขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจบริเวณพรมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของตน
ในวันอังคาร (29) ซิงห์ยังมีกำหนดเดินทางสู่ย่างกุ้งเพื่อหารือกับอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นสัญญาณว่า อินเดียต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้นำฝ่ายค้านของพม่าด้วย
เนื่องจากช่วงกลางทศวรรษ 1990 นิวเดลฮีได้เปลี่ยนท่าทีจากการสนับสนุนผู้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่น มาผูกมิตรกับรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้นท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ
กระนั้น นับจากรัฐบาลพลเรือนของพม่าผลักดันการปฏิรูปมากมาย ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งที่เปิดทางให้ซูจีได้เข้าสู่สภาครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว อินเดียได้กลับลำนโยบายใหม่อีกรอบ
ซิงห์นับเป็นอาคันตุกะระดับสูงคนล่าสุดที่เยือนพม่า ขณะที่นานาชาติเริ่มผ่อนคลายมาตรการลงโทษ ซึ่งกระตุ้นความหวังว่าชาติที่ยังมีฐานะด้อยพัฒนาที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนี้ อาจกลายเป็นตลาดใหญ่แห่งต่อไป
ซิงห์นั้นต้องการขยายอิทธิพลของอินเดีย หลังจากช่วงครึ่งศตวรรษภายใต้การปกครองของทหารที่ทำให้พม่าต้องพึ่งพิงเงินทุนและการสนับสนุนทางการเมืองจากปักกิ่งเป็นหลัก
กระนั้น แม้ว่าอินเดียมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในพม่า รวมทั้งท่าเรือที่เมืองซิตตเวในอ่าวเบงกอลของรัฐยะไข่ แต่โครงการต่างๆ ของอินเดียในพม่ายังถือว่าล้าหลังกว่าจีนที่อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาด้านพลังงานขนาดใหญ่มากมาย
เรโนลด์ เอเกรโต จากสถาบันมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้ว่า อินเดียกำลังปรับนโยบายเกี่ยวกับพม่าเพื่อยกระดับตัวเองเป็นชาติเพื่อนบ้านทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับพม่า
อย่างไรก็ดี เอเกรโตชี้ว่า อินเดียมีอุปสรรคต้องฝ่าฟันมากมาย ซึ่งรวมถึงความล่าช้าของการจัดทำโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดความไว้ใจทางการเมืองระหว่างกัน
ในปี 2010 มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับพม่าอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับพม่าที่ 4,400 ล้านดอลลาร์
จากข้อมูลของไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ จีนยังเป็นผู้นำการลงทุนในพม่าเมื่อปีที่แล้วด้วยมูลค่า 8,300 ล้านดอลลาร์ ส่วนอินเดียตามมาในอันดับที่ 13 ด้วยมูลค่าเพียง 189 ล้านดอลลาร์
ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอสประจำเอเชีย-แปซิฟิก วิจารณ์ว่า ดูเหมือนอินเดียจะค่อนข้างเฉื่อยชาในการรับมือกับการปฏิรูปของพม่าเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ทั่วโลกที่ต่างคาดหวังเข้าไป “ขุดทอง” ในพม่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น